November 24, 2024

Virtual Reality เทคโนโลยีนี้ไม่ได้มีดีแค่เล่นเกม

แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนากันมายาวนาน และถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลายธุรกิจและหลายอุตสาหกรรม แต่คนส่วนใหญ่ยังคงคิดว่า Virtual Reality (VR) หรือเทคโนโลยีที่ใช้ซอฟต์แวร์ร่วมกับอุปกรณ์ประกอบที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เช่น แว่นสำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมจำลองเพื่อให้ผู้ใช้สัมผัสเห็นภาพ 3 มิติ ในมุมมอง 360 องศา รวมถึงอุปกรณ์สำหรับสวมใส่ที่มือเพื่อจับความเคลื่อนไหว และถ่ายทอดกลับไปเป็นการทำกิจกรรมในโลกจำลอง ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ

ประโยชน์ของ VR ในมุมของธุรกิจนั้น ถูกนำไปประยุกต์ใช้กันมานานพอสมควร แต่ที่ทำให้เรารับรู้ถึงประสิทธิภาพของ VR มากที่สุด ก็เห็นจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One ของสตีเว่น สปีลเบิร์ก ซึ่งโครงเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอของเฟซบุ๊ก ซึ่งจะนำเทคโนโลยี VR ไปใช้กับสังคมออนไลน์ของเฟซบุ๊ก ที่เรียกว่า “Virtual Reality Social” โดยผู้ใช้งานสามารถสร้างตัวตนเสมือนจริง (Avatar) เพื่อใช้แทนตัวเองในการพูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกันกับ Avatar ของผู้ใช้คนอื่นๆ สามารถเลือกสิ่งแวดล้อมในโลก VR ได้ แล้วมีวงการไหนอีกบ้างที่เห็นประโยชน์จากการใช้ VR

 

อุตสาหกรรมยานยนต์
การมาถึงของ VR ช่วยให้วงการรถยนต์ได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการออกแบบและกระบวนการด้านวิศวกรรม โดยไม่ต้องสร้างโมเดลจำลองหลายๆ โมเดลแบบในอดีตอีกต่อไป อีกทั้งการจำลองสภาพแวดล้อมในการขับขี่ขึ้นมาในแบบเวอร์ชวลยังช่วยในเรื่องความปลอดภัย การประหยัดเวลาและพลังงานที่ไม่ต้องเสียไปในการทดสอบจริงด้วย

แต่ถ้าผลิตแล้วขายไม่ได้ก็คงไม่ดี แบรนด์ยักษ์ใหญ่ เช่น ฟอร์ด วอลโว่ ฮุนได จึงไม่เพียงใช้ VR ในกระบวนการผลิต แต่ยังนำมาประยุกต์ใช้
ในส่วนของการขาย ซึ่งทำให้ความสำคัญของดีลเลอร์ต่อการขายรถยนต์แบบในอดีตลดน้อยถอยลงไปด้วย

 

วงการสุขภาพ
การสร้างภาพจำลองร่างกายแบบ VR ขึ้นมาจะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญในวงการสุขภาพได้เห็นข้อมูลภายในก่อนที่จะได้ลงมือผ่าตัดจริง ซึ่งไม่เพียงแต่ระดับอาจารย์หมอที่ได้ประโยชน์ แต่ในเด็กนักศึกษาแพทย์ก็สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ด้วยเช่นกัน

ประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ ทำให้ลดการกระจุกตัวของคนไข้ ที่แต่เดิมต้องเป็นฝ่ายวิ่งเข้ามาหาคุณหมอเก่งๆ ในตัวเมือง แต่ถ้าหากมีแอปพลิเคชันที่เหมาะสมก็สามารถสอนให้ผู้ป่วยเรียนรู้และตรวจร่างกายตัวเองได้ไม่ต่างจากที่เข้ามาในโรงพยาบาลให้คุณหมอตรวจ ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายนั่นเอง

ธุรกิจท่องเที่ยว
VR สามารถเปิดให้ผู้บริโภคได้ทดลองสัมผัสประสบการณ์นั้นๆ ก่อนการตัดสินใจซื้อ VR สามารถช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กแข่งขันกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่มีงบประมาณในการลงทุนสูงๆ ได้เป็นอย่างดี และเทคโนโลยีแบบอินเทอร์แอ็กทีฟเหล่านี้ ยังสามารถดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวหันมาจองห้องพัก หรือจองโรงแรมมากขึ้นได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น โทมัส คุก บริษัทด้านการท่องเที่ยว ที่ใช้ Samsung Gear VR นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวแบบสมจริงทั่วโลก ให้ลูกค้าได้ทดลองชมก่อนตัดสินใจซื้อทัวร์ ซึ่งกรณีของโทมัส คุก นี้ ได้รับผลตอบแทนกลับมาสูงถึง 40% ภายในเวลาแค่ 3 เดือนเท่านั้น

สถาปัตยกรรม
กรณีนี้ไม่ต่างจากวงการรถยนต์เท่าไรนัก เพราะ VR เข้ามาเปลี่ยนวิธีการออกแบบอาคาร ที่สามารถทดสอบการใช้งานจริงได้ว่าแสงจะตกกระทบด้านไหน ถ้าใช้วัสดุชนิด A หน้าตาของอาคารที่ออกแบบมาจะเป็นอย่างไร รวมถึงให้ลูกค้าได้ลองสัมผัสกับบ้านตัวอย่างผ่าน VR เช่น ให้พวกเขาเดินดูภายในบ้านได้

นอกจากนั้น VR ยังช่วยให้ผู้รับเหมาเข้าใจสิ่งที่สถาปนิกคาดหวังจากการสร้างบ้านก่อนที่จะลงมือสร้างจริงด้วย ในจุดนี้คาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองลงได้ และช่วยให้ผู้รับเหมากับสถาปนิกที่สื่อสารกันไม่เข้าใจคุยกันง่ายมากขึ้น

 

การเงิน
โลกการเงินก็มีการนำ VR ไปใช้ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคาร Wells Fargo ที่ตั้งใจจะสร้างสาขาแบบเวอร์ชวลให้ลูกค้าเข้าใช้บริการ หรือ BNP Paribas เปิดตัวแอปพลิเคชัน VR ที่อนุญาตให้ลูกค้าเข้าทำธุรกรรมในสภาพแวดล้อมแบบ VR

 

ค้าปลีก
เทคโนโลยี VR ช่วยให้ร้านค้าปลีกแสดงสินค้าได้ทุกประเภทตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงเสื้อผ้าหลากสไตล์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสินค้านั้นๆ มาโชว์อีกต่อไป รวมถึงสามารถทำให้ลูกค้าได้ทดลองสวมเสื้อผ้าแบบเสมือนจริงได้ก่อนตัดสินใจซื้อด้วย ทั้งนี้ รูปแบบการค้าดังที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจและสามารถตัดสินใจซื้อได้เพิ่มสูงขึ้น

 

การศึกษา
VR ในโลกของการศึกษาจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงให้เกิดขึ้น ตัวอย่างหนึ่งก็คือ Google Expeditions ที่ครูและนักเรียนสามารถสวมแว่น VR แล้วเข้าไปสัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงได้พร้อมๆ กัน โดยแอปพลิเคชันตัวนี้เริ่มเปิดให้ใช้งานจริงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 ที่ผ่านมานี้เอง

 

เทคโนโลยีอวกาศ
การมาถึงของ VR ช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกันมากขึ้น ระหว่างวิศวกร ดีไซเนอร์ ฯลฯ ของแผนกต่างๆ นอกจากนี้ ยังช่วยให้เราสามารถสร้างต้นแบบจำลองของสินค้าหรือชิ้นส่วนได้รวดเร็วขึ้นด้วย และสามารถลดช่องว่างด้านความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในแต่ละทีมได้อีกทางหนึ่ง

 

ภาคการตลาด
ในฝ่ายการตลาดเองต้องบอกว่าเป็นอุตสาหกรรมรายแรกๆ เลยที่ดึง VR มาสร้างแคมเปญเพื่อการโฆษณาสินค้า และบริการ โดยถือเป็นสีสันสร้างความสนใจ เช่น ย้อนไปในปี 2014 วอลโว่ได้เปิดตัวแคมเปญ VolvoReality ที่ให้ทดลองขับรถ XC90 SUV ผ่านแอปพลิเคชัน
โดยผู้ทดลองจะต้องสวมแว่น VR ก่อนนั่นเอง

ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จากนิตยสาร CAT MAGAZINE