May 8, 2024

กระทรวงดิจิทัลฯ จับมือหัวเว่ย เสริมแกร่งโรงพยาบาลสนาม ด้วยนวัตกรรมการติดต่อสื่อสาร ช่วยบุคลากรทางการแพทย์รับมือโควิด-19

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมกำลังภาคสาธารณสุขประเทศไทย โดยเฉพาะโรงพยาบาลสนามที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พร้อมเพิ่มความปลอดภัยในแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

ให้แก่โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ประกอบด้วย นวัตกรรมการสื่อสารทางไกล 5G เพื่อการแพทย์ (5G Telemedicine) ระบบบริหารจัดการผู้ป่วยอัจฉริยะ (Inpatient area Intelligent Management) และระบบโครงข่ายวิทยุสื่อสารไร้สายบรอดแบนด์ eLTE (eLTE broadband trunking) โดยใช้ Idea Hub เป็นศูนย์กลางการดำเนินการโซลูชันทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6 ล้านบาท โดยนวัตกรรมเหล่านี้จะเพิ่มศักยภาพในการจัดการโครงข่ายการสื่อสารของบุคลากรในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ยกระดับประสิทธิภาพในการรับมือกับโรคระบาดอย่างเต็มที่ ตอกย้ำหนึ่งในพันธกิจของหัวเว่ยในการมีส่วนร่วมสร้างคุณค่าให้แก่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในขณะนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นตัวช่วยสำคัญของภาคสาธารณสุขในการรับมือกับปัญหาเรื่องการขาดแคลนทางการแพทย์ และในฐานะที่บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เป็นพาร์ทเนอร์ด้าน ICT ที่ได้รับความไว้วางใจในประเทศไทย หัวเว่ยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ สถานพยาบาล และทีมบุคลาการทางการแพทย์ในการรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 โดยเราได้ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าติดตั้งระบบโซลูชันที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรภาพของการสื่อสาร

เช่น นวัตกรรมการสื่อสารทางไกล 5G เพื่อการแพทย์ (5G Telemedicine) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค รวมทั้งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับบุคลากรการแพทย์ ระบบโครงข่ายวิทยุสื่อสารไร้สายบรอดแบนด์ eLTE (eLTE broadband trunking) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรภาพของการสื่อสารในด้านการประสานงานในช่วงเวลาสำคัญผ่านโครงข่ายไร้สายแบบบรอดแบนด์แบบเฉพาะ (Private network) ที่สามารถทำการสื่อสารผ่าน ภาพ เสียง วีดีโอ และแสดงพิกัด (Location service) ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ผ่านโครงข่ายวิทยุไร้สาย eLTE ซึ่งสามารถทำงานโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายของผู้ให้บริการ (Public network) หลีกเลี่ยงความแออัดจากการใช้งานโครงข่าย (traffic congestion) ของประชาชน นอกจากนี้เรายังติดตั้ง ระบบบริหารจัดการผู้ป่วยอัจฉริยะ  (Inpatient area Intelligent Management) เพื่อส่งเสริมการจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที และลดภาระการทำงานให้แก่บุคลากรในพื้นที่ นวัตกรรมเหล่านี้ทำงานบนเครือข่าย 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แพทย์ ช่วยป้องกันให้กับบุคลากรทุกคนในโรงพยาบาลสนาม และช่วยทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันของไทยดีขึ้น