May 3, 2024

สภาดิจิทัลฯ ประกาศความร่วมมือกับพันธมิตร สนับสนุนทีมแพทย์โรงพยาบาลสนามฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ประกาศความร่วมมือกับสมาคม และพันธมิตร 36 องค์กรดิจิทัล รวมถึงแพทยสภา ระดมพลังจากทุกภาคส่วนทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล มาช่วยลดผลกระทบจากการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 โดยเน้นย้ำ 3 วัตถุประสงค์สำคัญ

ได้แก่ 1) การเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 2) การเชื่อมโยงเทคโนโลยีระหว่างโรงพยาบาลสนาม รวมถึงการดูแลตัวเองต่อที่บ้าน 3) การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของพันธมิตรในอุตสาหกรรมดิจิทัล  เพื่อบรรเทาผลกระทบในสถานการณ์วิกฤต โดยเริ่มต้นกับ 3 โรงพยาบาลสนาม ได้แก่  โรงพยาบาลสนาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ ดอนเมือง และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โดยการผนึกกำลังทุกภาคส่วนในครั้งนี้ จะสนับสนุนภาครัฐในการเป็นส่วนเสริมภารกิจในการฉีดวัคซีนในลำดับต่อไปร่วมกับแพทยสภาอีกด้วย ทั้งนี้สภาดิจิทัลฯ จะประสานและให้การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม และ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการเข้าถึง และตอบสนองความต้องการเพิ่มเติมของโรงพยาบาล และ โรงพยาบาลสนาม ร่วมกับแพทยสภาอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง และ สภาดิจิทัลฯจะรายงานความคืบหน้าเป็นระยะต่อไป

ข้อสรุปความช่วยเหลือของสภาดิจิทัลฯ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของโรงพยาบาลสนามในขณะนี้คือ การพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่น “SMART FIELD HOSPITALS”  ซึ่งจะเน้นการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของแพทย์กับคนไข้ รวมถึงโรงพยาบาลหลักกับโรงพยาบาลสนาม ให้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันด้วยความมั่นใจ ปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโรค และสามารถขยายการให้บริการหากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย

  • อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Device) ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่ายเหมาะสมกับประชาชนทั่วไป สำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ใช้
  • ระบบเฝ้าติดตามอาการและการเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย (Secure Patient Monitoring & Records) ระบบเฝ้าติดตามอาการผู้ป่วยแต่ละรายโดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องสัมผัสใกล้ชิด และระบบบันทึกข้อมูลของผู้ป่วย (ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสัญญาณชีพ อุณหภูมิร่างกาย ระดับออกซิเจนในเลือด ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจ และข้อมูลการรักษา) ที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
  • ระบบนัดหมายและสื่อสาร (Scheduling & Communication) : ระบบรองรับการนัดหมายและการจัดคิวในการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ในหลายรูปแบบ ได้แก่ การประชุมด้วยวีดิทัศน์ (Video Conferencing) การประชุมด้วยเสียง (Voice Call) การแชท (Chat) และการขอความช่วยเหลือฉุกเฉินโดยผู้ป่วย
  • การลดความเครียดและให้ความรู้ (Stress Relief & Education) : ข้อมูล ข่าวสาร และความบันเทิงเพื่อลดความเครียดและให้ความรู้ผู้ป่วยระหว่างอยู่ใน รพ. สนาม
  • ระบบเฝ้าติดตามสภาพแวดล้อมและ รพ. สนาม (Environment & Facility Monitoring) ระบบเฝ้าติดตามสภาพแวดล้อม เช่น ระดับแสง อุณหภูมิ ระดับความชื้นของพื้นที่ และ รพ. สนามเพื่อรายงานแก่เจ้าหน้าที่เพื่อประเมินสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
  • โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure: Network and Data Centers) โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อรองรับการประมวลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารที่รวดเร็วและปลอดภัย

การพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่น SMART FIELD HOSPITALS  มีแผนดำเนินการพัฒนาด้านการใช้งานแอปพลิเคชัน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานให้เสร็จสมบูรณ์ภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือของ 3 โรงพยาบาลสนามทั้งจุฬาฯ, กองทัพอากาศ ดอนเมือง และธรรมศาสตร์ ที่เป็นต้นแบบโรงพยาบาลสนาม หากประสบผลสำเร็จจะดำเนินการขยายผลให้ครอบคลุมโรงพยาบาลสนามอื่นต่อไป