April 28, 2024

กรณีศึกษาของ 10 ธุรกิจ ใช้ VR พิชิตใจลูกค้า

เมื่อเอ่ยถึงเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) นั้นคงต้องยอมรับว่า การปรับตัวให้เข้ากับการมาถึงของเทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยวงการที่ได้รับความนิยมอย่างมากหนีไม่พ้นวงการเกม แต่เราเชื่อว่า เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้เห็นความสามารถก็จะหันมาสนใจการใช้งาน VR เพิ่มมากขึ้นเอง และวันนี้เราจึงขอชวนมาดูกันว่า วงการไหนบ้างที่เริ่มเห็นประโยชน์จากการใช้ VR แล้ว เริ่มจาก

hololens_virtual_reality_vr_thumb800
Photo : Microsoft
  1. วงการรถยนต์

การมาถึงของ VR ช่วยให้วงการรถยนต์ได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการออกแบบและกระบวนการด้านวิศวกรรม โดยไม่ต้องสร้างโมเดลจำลองหลาย ๆ โมเดลแบบในอดีตอีกต่อไป อีกทั้งการจำลองสภาพแวดล้อมในการขับขี่ขึ้นมาในแบบเวอร์ชวลยังช่วยในเรื่องความปลอดภัย การประหยัดเวลา และการพลังงานที่ไม่ต้องเสียไปในการทดสอบจริงด้วย

แต่ถ้าผลิตแล้วขายไม่ได้ก็คงไม่ดี แบรนด์ยักษ์ใหญ่เช่น ฟอร์ด วอลโว่ ฮุนได จึงไม่เพียงใช้ VR ในกระบวนการผลิต แต่ยังนำมาประยุกต์ใช้ในส่วนของการขาย ซึ่งทำให้ความสำคัญของดีลเลอร์ต่อการขายรถยนต์แบบในอดีตลดน้อยถอยลงไปด้วย

  1. วงการสุขภาพ

การสร้างภาพจำลองร่างกายแบบ VR ขึ้นมาจะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญในวงการสุขภาพได้เห็นข้อมูลภายในก่อนที่จะได้ลงมือผ่าตัดจริง ซึ่งไม่เพียงแต่ระดับอาจารย์หมอที่ได้ประโยชน์ แต่ในเด็กนักศึกษาแพทย์ก็สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ด้วยเช่นกัน

ประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ ทำให้ลดการกระจุกตัวของคนไข้ ที่แต่เดิมต้องเป็นฝ่ายวิ่งเข้ามาหาคุณหมอเก่ง ๆ ในตัวเมือง แต่ถ้าหากมีแอปพลิเคชันที่เหมาะสมก็สามารถสอนให้ผู้ป่วยเรียนรู้และตรวจตราร่างกายตัวเองได้ไม่ต่างจากที่เข้ามาในโรงพยาบาลให้คุณหมอตรวจ ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายนั่นเอง

  1. ธุรกิจท่องเที่ยว

ด้วย VR เราสามารถเปิดให้ผู้บริโภคได้ทดลองสัมผัสประสบการณ์นั้น ๆ ก่อนการตัดสินใจซื้อ ซึ่ง VR สามารถช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถแข่งขันกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่มีงบประมาณในการลงทุนสูง ๆ ได้เป็นอย่างดี และเทคโนโลยีแบบอินเทอร์แอคทีฟเหล่านี้ ยังสามารถดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวหันมาจองห้องพัก หรือจองโรงแรมมากขึ้นได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น โทมัส คุก บริษัทด้านการท่องเที่ยว ที่ใช้ซัมซุง เกียร์ วีอาร์ นำเสนอโลเคชั่นแบบสมจริงทั่วโลก ให้ลูกค้าได้ทดลองชมก่อนตัดสินใจซื้อทัวร์ ซึ่งกรณีของโทมัส คุกนี้ ได้รับผลตอบแทนกลับมาสูงถึง 40% ภายในเวลาแค่ 3 เดือนเท่านั้น

  1. สถาปัตยกรรม

กรณีนี้ไม่ต่างจากวงการรถยนต์เท่าไรนัก เพราะ VR เข้ามาเปลี่ยนวิธีการออกแบบอาคาร ที่สามารถทดสอบการใช้งานจริงได้ว่าแสงจะตกกระทบด้านไหน ถ้าใช้วัสดุชนิด A  หน้าตาของอาคารที่ออกแบบมาจะเป็นอย่างไร รวมถึงให้ลูกค้าได้ลองสัมผัสกับบ้านตัวอย่างผ่าน VR เช่น ให้พวกเขาเดินดูภายในบ้านได้

นอกจากนั้น VR ยังช่วยให้ผู้รับเหมาเข้าใจสิ่งที่สถาปนิกคาดหวังจากการสร้างบ้านก่อนที่จะลงมือสร้างจริงด้วย ในจุดนี้คาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองลงได้ และช่วยให้ผู้รับเหมากับสถาปนิกที่สื่อสารกันไม่เข้าใจ คุยกันง่ายมากขึ้น

  1. ค้าปลีก

เทคโนโลยี VR ช่วยให้ร้านค้าปลีกแสดงสินค้าได้ทุกประเภทตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงเสื้อผ้าหลากสไตล์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสินค้านั้น ๆ มาโชว์อีกต่อไป รวมถึงสามารถทำให้ลูกค้าได้ทดลองสวมเสื้อผ้าแบบเสมือนจริงได้ก่อนตัดสินใจซื้อด้วย

ทั้งนี้ รูปแบบการค้าดังที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2 – 3 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจและสามารถตัดสินใจซื้อได้เพิ่มสูงขึ้น

  1. เทคโนโลยีอวกาศ

การมาถึงของ VR ช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกันมากขึ้น ระหว่างวิศวกร ดีไซเนอร์ ฯลฯ ของแผนกต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังช่วยให้เราสามารถสร้างต้นแบบจำลองของโปรดักซ์ได้รวดเร็วขึ้นด้วย และสามารถลดช่องว่างด้านความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในแต่ละทีมได้อีกทางหนึ่ง

  1. การศึกษา

VR ในโลกของการศึกษาจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงให้เกิดขึ้น ตัวอย่างหนึ่งก็คือ Google Expeditions ที่ครูและนักเรียนสามารถสวมแว่น VR แล้วเข้าไปสัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงได้พร้อม ๆ กัน โดยแอปพลิเคชันตัวนี้เริ่มเปิดให้ใช้งานจริงเป็นการทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 ที่ผ่านมานี้เอง

  1. การเงิน

โลกการเงินก็มีการนำ VR ไปใช้ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคาร Wells Fargo ที่ตั้งใจจะสร้างสาขาแบบเวอร์ชวลให้ลูกค้าเข้าใช้บริการ หรือ BNP Paribas เปิดตัวแอปพลิเคชัน VR ที่อนุญาตให้ลูกค้าเข้าทำธุรกรรมในสภาพแวดล้อมแบบ VR

  1. ภาคการตลาด

ในฝ่ายการตลาดเองต้องบอกว่าเป็นอุตสาหกรรมรายแรก ๆ เลยที่ดึง VR มาสร้างแคมเปญเพื่อการโฆษณาสินค้า และบริการ โดยถือเป็นสีสันสร้างความสนใจ เช่น ในปี 2014 วอลโว่ได้เปิดตัวแคมเปญ VolvoReality ที่ให้ทดลองขับรถ XC90 SUV ผ่านแอปพลิเคชัน โดยผู้ทดลองจะต้องสวมแว่น VR ก่อนนั่นเอง

  1. ภาพยนตร์และธุรกิจบันเทิง

ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจ VR ในฐานะเครื่องมือในการสร้างและรับชมภาพยนตร์ที่ให้ประสบการณ์แตกต่างออกไป เช่น สตีเฟน สปีลเบิร์ก หรือริดเลย์ สก็อต

https://computerworld.com.sg/tech/emerging-technology/what-industries-are-using-virtual-reality