ห้องเรียนแห่งอนาคต โครงการนำร่องเพื่อเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนยุคดิจิทัล โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 60 ปี โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ผลิตทรัพยากรบุคคลเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากมองย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2501 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้นิสิตของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาฝึกหัดก่อนจะสำเร็จไปเป็นครู ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและแสวงหาเทคโนโลยีการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ มาประยุกต์ใช้งาน เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือให้นักเรียนได้รับความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างเต็มที่ รวมถึงมีความสุขกับการเรียนรู้ไปพร้อมกัน
เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการเรียนการสอนในปัจจุบัน ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล จึงเป็นที่มาของโครงการ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” Pilot Project of Future Classroom’s Fujitsu Learning Project of Tomorrow ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด โดยนำโซลูชั่นไอทีเพื่อการศึกษาอันทันสมัยจากประเทศญี่ปุ่น มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนวิชาต่างๆ เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ ฟูจิตสึได้ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ อันได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เซิร์ฟเวอร์ ตลอดจนการฝึกอบรมครูผู้สอน เพื่อให้สามารถใช้งานระบบดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
“เรามองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญและเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเรียนการสอน นอกจากการเรียนรู้จากตำราเรียนแล้ว เทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ สิ่งทีฟูจิตสึให้การสนับสนุนแก่โรงเรียนเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความยืดหยุ่น สามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี” อาจารย์พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการและรองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการนี้ได้สร้างมิติใหม่แห่งการเรียนการสอน เนื่องจากมีระบบที่สนับสนุนการเรียนรู้แบบสองทาง เพื่อให้ครูและนักเรียนแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามต่างๆ ในห้องเรียนผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตได้ทันที สร้างบรรยากาศให้ครูและนักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น และทำให้ครูสามารถดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างทั่วถึง”
โซลูชั่นที่ใช้งาน
ระบบที่ติดตั้งใช้งานนั้น ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตฟูจิตสึสำหรับครูและนักเรียน ทำงานร่วมกับเซิร์ฟเวอร์ฟูจิตสึ ซึ่งติดตั้งโปรแกรม Learning Repository อันประกอบด้วย
• Fujitsu Opinion Sharing System เปรียบเสมือนกระดานดำอิเล็กทรอนิกส์ในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือซักถามข้อสงสัยต่างๆ สามารถวาดรูปผ่านปากกา Stylus ทำกราฟแสดงผล ทำแบบทดสอบ หรือตั้งคำถามที่สามารถวัดผลความเข้าใจของนักเรียนได้ทันทีในห้องเรียน หากนักเรียนคนไหนตอบไม่ถูกหรือไม่เข้าใจ ก็สามารถอธิบายเพิ่มเติมในคาบเรียนได้เลย ช่วยให้เกิดการเรียนการสอนแบบร่วมมืออย่างแท้จริง
• Learning Management System ระบบสนับสนุนบทเรียน เป็นซอฟต์แวร์ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น และถูกนำมาประยุกต์ใช้สนับสนุนบทเรียนสำหรับการสอนในระดับมัธยมศึกษา และยังพัฒนาปรับแต่งระบบสนับสนุนการศึกษาเป็นพิเศษสำหรับใช้ในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม โดยเฉพาะ
โซลูชั่น
• ARROWS Tab Q555
• ARROWS Tab Q704/H
• ARROWS Tab Q584/H
• PRIMERGY TX120 S3 PC
• Chietama (Learning Repository)
Fujitsu Opinion Sharing System
Learning Management System
การนำไปใช้งาน
“ตลอดระยะเวลาของโครงการนำร่องนี้ อาจารย์หลายท่านของโรงเรียนได้มีการประยุกต์ใช้โซลูชั่นการเรียนแบบสองทาง และคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนในหลายวิชา ไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ศิลปะ และพละศึกษา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยศักดิ์ ชั่งใจ ที่ปรึกษาผู้อำนวยโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยมกล่าว “เนื่องจากระบบซอฟต์แวร์ของฟูจิตสึมีความยืดหยุ่นสูง เอื้อให้อาจารย์แต่ละท่านนำไปปรับใช้กับวิชาที่ตนเองสอนอยู่ได้อย่างหลากหลาย ถือเป็นการสอดรับกับแนวนโยบายของโรงเรียน ที่ต้องการให้นักเรียนสามารถใช้ความคิดได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับอาจารย์ก็ต้องมีอิสระในการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาได้เช่นกัน”
ตัวอย่างของการนำไปใช้ในการเรียนการสอนจริงที่โรงเรียนได้เคยจัดกิจกรรมสาธิตการใช้งานแก่สื่อมวลชนได้แก่ การใช้ในวิชาศิลปะ โดยครูผู้สอนสามารถใช้ระบบ Learning Repository ทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตประจำตัวของครูและนักเรียน ซึ่งนักเรียนจะได้รับการบ้านให้ฝึกวาดภาพโดยใช้โปรแกรมวาดภาพต่างๆ โดยใช้ปากกา Stylus วาดภาพบนหน้าจอของเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ระหว่างการเรียนการสอนครูสามารถมองเห็นการวาดภาพของนักเรียนทุกคนในห้องได้จากแท็บเล็ตของตัวเอง และสามารถเขียนคำแนะนำในการวาดภาพและส่งกลับให้นักเรียนได้ทันที ขณะที่นักเรียนก็มีความสนุกสนานในการวาดภาพ และนำคำแนะนำของครูไปปรับแก้ผลงานการวาดรูปของตัวเองได้เลยทันทีเช่นกัน
ประโยชน์ที่ได้รับ
“ผลตอบรับจากคณาจารย์และนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า นักเรียนให้ความสนใจและกระตือรือร้นระหว่างการเรียนในชั้นเรียนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความสุขในการเรียนและสนใจเข้าร่วมชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น” อาจารย์พรพรหมกล่าว “หลังจากนี้ เราจะนำอุปกรณ์และโปรแกรมทั้งหมดที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ฟูจิตสึ ไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
การเกิดขึ้นของโครงการห้องเรียนแห่งอนาคต ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด ช่วยสร้างสีสัน สร้างความสนุกให้กับการเรียนการสอน สร้างส่วนร่วมในการเรียนรู้ระหว่างการเรียนของนักเรียนได้มากขึ้น เช่นเดียวกับเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครูดูแลเอาใจใส่นักเรียนแต่ละคนได้อย่างทั่วถึง ถือเป็นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพให้แก่การเรียนการสอนในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
ผลลัพธ์
• นักเรียนมีความกระตือรือร้นระหว่างคาบเรียนมากขึ้น
• นักเรียนมีความสุขในการเรียนและสนใจเข้าร่วมชั้นเรียนมากขึ้น
• ครูสามารถดูแลเอาใจใส่นักเรียนได้อย่างทั่วถึง
บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด
อาคาร เอ็กเชน ทาวเวอร์ ชั้น 22-23 เลขที่ 388 ถนนสุขุมวิท
เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทร. + 66 (0) 2302 1500 แฟ็กซ์ + 66 (0) 2302 1555
http://th.fujitsu.com