November 24, 2024

สมาคมฟินเทคเดินเกมรุก จับมือทีซีซีเทค – ลีพโซลูชั่น สร้างสนามทดสอบนวัตกรรมการเงิน “F13 Batch 1” สนามแรกของไทย หนุนฟินเทคสตาร์ทอัพไทย

นายเจษฎา สุขทิศ นายกสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการจัดตั้งโครงการ F13 Batch 1 Fintech Sandbox หรือสนามทดสอบนวัตกรรมการเงิน ระหว่างสมาคมฟินเทคประเทศไทยกับบริษัท  ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานไอทีชั้นนำของประเทศไทย และบริษัทลีพ โซลูชั่น เอเชีย จำกัด (Leap Solutions Asia) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความสามารถให้กับบุคลากรด้านฟินเทค พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีระดับโลกที่สำคัญ อาทิ คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) และเอพีไอ (Application Programming Interface) สำหรับการเชื่อมการทำงานบนเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการทำงานร่วมกับหน่วยผู้กำกับดูแลหลักเกณฑ์ (Regulator) ในประเทศ ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เกิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ทางด้านการเงินที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับข้อกำหนดของ Regulator เนื่องจากอุตสาหกรรมการเงินมีความละเอียดอ่อนต้องตระหนักถึงบริการที่มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ ตลอดจนการรักษาข้อมูลความลับของลูกค้า ผ่าน Fintech Sandbox หรือสนามทดสอบเทคโนโลยีด้านการเงิน

shutterstock_735743386 นายเจษฎา สุขทิศ นายกสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย หรือ F13 เผยถึงเป้าหมายสำคัญในการจัดตั้งโครงการ F13 Batch 1 Fintech Sandbox ว่าสมาคมฟินเทคประเทศไทยมีหน้าที่ผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงินในประเทศไทย และมีหน้าที่บ่มเพาะ Fintech Startups ให้มีผลงานที่สามารถแข่งขันได้ในระดับประเทศ และสามารถต่อยอดไปได้ถึงระดับสากล “โมเดลของศูนย์ F13 จะใกล้เคียงกับที่สิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งมีทุนสนับสนุนโดยรัฐบาลหรือกระทรวงการคลัง โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารงาน ในส่วนของประเทศไทยจะเป็นไปตามทิศทางดังกล่าวเช่นกัน และถึงแม้เป็นช่วงเริ่มต้นแต่เราก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาคเอกชนอย่าง ทีซีซี เทคโนโลยี และลีพโซลูชั่นส์ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการจะพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคต่อไปในอนาคต

คุณวลีพร สายะสิตคุณเจษฎา สุขทิศคุณวดิษฐ์ วิญญรัตน์และคุณนัจรี รุจิรัตน์

ด้านนายวรดิษฐ์ วิญญรัตน์ กรรมการบริหารและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท  ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) เปิดเผยว่าปัจจุบันทั่วโลกต่างจับตามองกระแสฟินเทค เทคโนโลยีที่จะเข้ามาปฎิวัติอุตสาหกรรมการเงิน ด้วยเหตุที่ว่าฟินเทคเกี่ยวโยงกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้เล่นหลักอย่างสถาบันการเงินต่างๆ น้องใหม่ที่พร้อมแซงทางโค้งอย่างฟินเทคสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้บริโภคซึ่งคาดหวังผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ได้ดียิ่งขึ้น แม้หลายคนลงความเห็นว่าฟินเทคจะทำให้สภาพแวดล้อมของระบบสถาบันการเงินไทยแตกต่างไปจากเดิม แต่ทว่าฟินเทคอาจเป็นแค่คอนเซ็ปต์หากขาดแรงขับเคลื่อนอย่าง Fintech Sandbox และ เทคโนโลยี Cloud ที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนถ่ายยุคสู่ยุคต่อไปของเทคโนโลยี

“การแข่งขันในวันนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎของขนาดอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับไอเดียและความสามารถในการเข้าใจและเข้าถึงเทรนเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้รวดเร็วกว่าคู่แข่ง ส่วนตัวผมเชื่อว่าดาต้าเซ็นเตอร์ผสานคลาวด์คือรากฐานที่สำคัญในการเชื่อมโยงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน และด้วยความยืดหยุ่นสูงจึงตอบโจทย์ความต้องการให้กับผู้เล่นในทุกระดับได้ดีอย่างเท่าเทียม ซึ่งในสนามทดสอบ F13 Batch 1 นี้ ทางเราได้สนับสนุนคลาวด์แพลทฟอร์ม “ลีพจีโอพับลิค” ให้ฟินเทคสตาร์ทอัพทั้ง 13 ทีมได้ทำการทดสอบโซลูชันของตนเองได้ตามวัตถุประสงค์”

ทั้งนี้ บริษัทลีพ โซลูชั่น เอเชีย จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการให้บริการคลาวด์เต็มรูปแบบ ด้วยเสถียรภาพของระบบคลาวด์ที่ทำงานอยู่บนศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับพรีเมี่ยมของบริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) และเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักด้านเทคโนโลยีคลาวด์กับโครงการ F13 Batch 1 Fintech Sandbox โดยนางสาวนัจรี รุจิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีพ โซลูชั่น เอเชีย จำกัด กล่าวเสริม “เนื่องด้วยหนึ่งในวัตถุประสงค์ของ F13 Fintech Sandbox คือการเปิดโอกาสให้ฟินเทคสตาร์ทอัพนำแอปพลิเคชันที่ยังไม่ได้ถูกเผยแพร่มาทำการทดสอบเพื่อหาข้อจำกัดและโอกาสภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่อาจคาดเดา ทั้งด้านเวิร์คโหลดและการปรับแก้ซอฟต์แวร์ ทำให้คลาวด์คือเทคโนโลยีที่จำเป็นในการสานต่อไอเดียของฟินเทคสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นจริง เพราะนอกเหนือจากคุณสมบัติด้านความยืดหยุ่น (flexibility) ที่สตาร์ทอัพมีอิสระในการบริหารจัดการแพ็กเกจที่เราจัดเตรียมไว้ให้ได้ตามความต้องการของแต่ละทีม ยังมีเรื่องของความสามารถในการเพิ่มขนาดตามแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ (Scalability) โดยเฉพาะในสนามทดสอบ F13 หากสตาร์ทอัพต้องการปรับปรุงซอฟต์แวร์ที่ตนเองคิดค้น สามารถดาวน์โหลดลงมาทำการแก้ไขหรืออัพเดทได้ทันที รวมถึงรองรับโหลดของผู้ใช้บริการจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ”