ขึ้นรูปวัตถุ 3 มิติ ด้วย “แก้ว”
เทคโนโลยีการขึ้นรูปวัตถุด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ช่วยให้การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบต่างๆ สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่เครื่องบางรุ่นยังสามารถขึ้นรูปโครงสร้างที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว แถมยังสามารถสร้างได้แม้จะเป็นโครงสร้างขนาดจิ๋ว
อย่างไรก็ดี ในอดีตนั้น การขึ้นรูปสามมิติก็มีข้อจำกัดเรื่องวัสดุที่ใช้ในการขึ้นรูป โดยไม่สามารถใช้วัสดุเช่น “แก้ว” มาขึ้นรูปได้ แต่ล่าสุด ผลการศึกษาวิจัยของ KIT (KarlSruhe Institute of Technology) ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดนั้นแล้ว โดยได้ค้นพบวิธีการขึ้นรูปสามมิติจากวัสดุ เช่นแก้วเป็นผลสำเร็จ
โดยนักวิทยาศาสตร์จาก KIT สามารถเก็บแก้วเอาไว้ในรูปแบบ “ของเหลว” (Liquid Glass) ในอุณหภูมิห้องได้ และสามารถจัดรูปทรงให้เป็นรูปอะไรก็ได้ โดยเก็บไว้ภายใต้แสงไฟ จากนั้นเมื่อต้องการเปลี่ยนจากของเหลวเป็นของแข็งก็สามารถนำไปเข้าเตาหลอม เหมือนกับการอบคุ้กกี้ได้เลย
การค้นพบครั้งนี้ยังถือเป็นการเปิดศักราชของการพัฒนาใหม่ ๆ อีกมากมาย เช่น การผลิตเลนส์ เรื่องของการส่งผ่านข้อมูลผ่านเทคโนโลยีออปติกส์ (Optics) ไปจนถึงไบโอเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า แก้วนั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่ามากในบรรดาสิ่งประดิษฐ์ทั้งหมดที่มนุษยชาติได้เคยคิดค้นขึ้น เนื่องจากมันมีทั้งความโปร่งใส ทนทานต่อความร้อน และกรดต่าง ๆ ได้
มากไปกว่านั้น ในการวิจัยและพัฒนาสารเคมีที่เป็นอันตรายร้ายแรง หรือมีอุณหภูมิสูงมาก แก้วก็เป็นวัสดุที่มีความจำเป็น และการค้นพบดังกล่าวนี้จะช่วยให้การวิจัยและพัฒนาด้านเคมีมีความก้าวหน้ามากขึ้น เนื่องจากนักวิจัยสามารถขึ้นรูปแก้วที่มีขนาดเล็กมาก ๆ สำหรับเป็นส่วนประกอบในเครื่องมือต่าง ๆ ในห้องวิจัยด้วย
ทั้งนี้ กระบวนการพัฒนาดังกล่าวได้ถูกนำไปนำเสนอในงาน Hanover Fair และตีพิมพ์ลงวารสาร Nature
ที่มา http://www.pkm.kit.edu/english/true3dglass.php