May 3, 2024

Cambridge Quantum แต่งตั้งศาสตราจารย์ Stephen Clark เป็นหัวหน้าแผนกปัญญาประดิษฐ์

Cambridge Quantum Computing (CQC) มีความยินดีในการประกาศแต่งตั้งศ. Stephen Clark เป็นหัวหน้าแผนกปัญญาประดิษฐ์ โดยก่อนที่จะมาทำงานกับ CQC ศ. Clark เคยทำงานที่ DeepMind ในฐานะนักวิทยาศาสตร์วิจัยอาวุโส และได้รับหน้าที่นำทีมศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาฐานรากในสภาพแวดล้อมเสมือน นอกจากนี้ เขายังเป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ที่ Queen Mary University of London ด้วย

ก่อนเข้ามาทำงานที่ DeepMind ศ. Clark เป็นอาจารย์ประจำแผนกวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่ University of Cambridge มาเป็นเวลาถึง 10 ปี โดยเขาเป็น Reader ในสาขาการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ก่อนหน้านั้น ศ. Clark เคยเป็นอาจารย์ประจำแผนกวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ Oxford University และเป็นนักวิชาการประจำ Keble College, Oxford ทั้งนี้ เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์จาก University of Sussex และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาปรัชญาจาก University of Cambridge (Gonville and Caius College)

Ilyas Khan ซีอีโอของ CQC กล่าวว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นในการต้อนรับศ. Clark สู่ Cambridge Quantum ในฐานะสมาชิกระดับอาวุโสของทีมนักวิทยาศาสตร์อันน่าทึ่งของเรา คุณ Steve เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ผมรู้สึกตื่นเต้นไปกับมุมมองและความเป็นผู้นำของเขาในช่วงเวลาสำคัญในการเติบโตของเรา เมื่อคุณ Steve ทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าแผนกปัญญาประดิษฐ์แล้ว เขาจะผลักดันพันธกิจของเราในการดึงศักยภาพจากฮาร์ดแวร์ควอนตัมคอมพิวติ้งออกมาให้ได้มากที่สุดในระยะเริ่มแรก ในขณะที่เราคิดค้นรูปแบบการนำไปใช้งานที่จะส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติเมื่อควอนตัมคอมพิวเตอร์ปรับตัวให้สอดคล้องและถึงจุดที่ทนต่อความผิดพลาด”

ศ. Clark กล่าวว่า “ผมมีความยินดีในการร่วมงานกับบริษัทควอนตัมคอมพิวติ้งระดับแถวหน้าของโลกอย่าง Cambridge Quantum และมีความยินดีเป็นพิเศษในการที่ได้มีโอกาสกลับมาสานต่องานที่ร่วมกันทำมาอย่างยาวนานกับศ. Bob Coecke ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ Cambridge Quantum และรู้สึกตื่นเต้นในการสำรวจศักยภาพของควอนตัมคอมพิวเตอร์ในสายงาน AI ร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์อันน่าประทับใจของทางบริษัท ผมยังรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่จะได้สานต่อ และเร่งโครงการวิจัยในด้านการประมวลผลภาษาที่เริ่มขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้วเมื่อผมนำเสนอที่งาน OASIS (The Oxford Advanced Seminar on Informatic Structures) ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาของการประกอบรูปแทนภาษาแบบกระจายตัว ที่ดูเหมือนจะสอดรับเป็นอย่างดีกับโซลูชันที่ใช้การประมวลผลแบบควอนตัม”