November 24, 2024

ออโตเมชัน เอไอ ชี้อนาคตธุรกิจปี 2021

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นายสวัสดิ์ อัศดารณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโกลบอลบิสสิเนสเซอร์วิส (Managing Director, Global Business Services หรือ GBS) ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการศึกษาล่าสุดของสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ที่ร่วมกับอ็อกซ์ฟอร์ดอิโคโนมิคส์ พบว่าลักษณะงานที่ใช้ระบบออโตเมชันจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2567

โดยการใช้ระบบในงานธุรการและงานทั่วไปในแผนกจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ร้อยละ 20 ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าจะมีการนำระบบออโตเมชันมาใช้ในการทำธุรกรรมข้ามแผนกภายในองค์กรมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 5 มองว่าจะเริ่มมีการนำระบบเข้ามาสนับสนุนงานซับซ้อนที่ต้องอาศัยข้อมูลเรียลไทม์หรืออินพุทจากหลายแหล่งในการแก้ปัญหา 


“โควิด-19 สอนให้เรารู้ว่าความเสียหายจากระบบปฏิบัติการที่หยุดชะงักนั้นมากเพียงใด วันนี้ผู้บริหารเองต่างก็ทราบถึงความจำเป็นของการนำระบบออโตเมชันมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบทั่วทั้งองค์กรให้มีความยืดหยุ่น ปรับสเกลการทำงานและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า รวมถึงโมเดลการดำเนินงานรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว” นายสวัสดิ์กล่าว


‘อินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชัน’ เทคโนโลยีพลิกเกมปี 2564

นายสวัสดิ์อธิบายว่า “ออโตเมชันไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเทคโนโลยีที่หลายองค์กรตั้งแต่โรงงานไปจนถึงธนาคารนำมาใช้แล้วร่วม 10 ปี แต่วันนี้ เมื่อเราผนวกเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่วันนี้เดินมาถึงจุดที่สามารถนำไปใช้งานได้ในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเอไอ อนาไลติกส์ ไอโอที หรือแม้แต่ 5G จึงนำสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘อินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชัน’ ที่วันนี้เริ่มถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการเพิ่มประสิทธิภาพของเวิร์คโฟลว์ การทำอนาไลติกส์เชิงคาดการณ์ หรือการใช้งานร่วมกับแมชชีนเลิร์นนิง โดยผลการศึกษาคาดว่าร้อยละ 80 ขององค์กรที่ใช้อินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชันจะก้าวเหนือกว่าคู่แข่งในแง่รายได้และความสามารถในการทำกำไรภายในระยะเวลาสามปีข้างหน้า”

การศึกษาจากฟอร์เรสเตอร์ ยังชี้ว่าอินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชันจะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 25 ของการนำ RPA มาใช้ โดยในปีนี้ องค์กรร้อยละ 30 จะหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพของระบบออโตเมชัน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของการวางแผนและทดสอบระบบก่อนที่จะเริ่มใช้งานจริงและเปิดให้พนักงานเข้าใช้ระบบลดต้นทุน ติดสปีดการดำเนินงาน

นายสวัสดิ์เสริมว่า “ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการลดต้นทุนและการดำเนินงานแบบเอนด์ทูเอนด์ที่มีประสิทธิภาพของส่วนงานต่างๆ ภายในองค์กร ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ระบบออโตเมชันในอุตสาหกรรมมักใช้เครือข่ายมิเตอร์อัจฉริยะและเซ็นเซอร์ในการรวบรวมข้อมูลการผลิตที่สำคัญ จากนั้นระบบเอไอจะเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ให้กลายเป็นมุมมองเชิงลึกที่แสดงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต โดยองค์กรสามารถนำมุมมองเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบำรุงรักษาเชิงป้องกันและลดการหยุดทำงานของระบบได้” 

“ดังตัวอย่างของโรงแยกก๊าซของ ปตท. ที่ช่วยให้บริษัทสามารถคาดการณ์ความเสียหายของชิ้นส่วนต่างๆ ได้ล่วงหน้า 3 เดือน ช่วยลดความสูญเสียมูลค่าหลายร้อยล้านบาทจากเหตุหยุดชะงักต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น”

“ขณะที่พีทีที เทรดดิ้งก็ได้นำเอไอและออโตเมชัน รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีการแปลงไฟล์ภาพเอกสารให้เป็นข้อความ (Optical Character Recognition หรือ OCR) มาใช้กับการเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้การค้า ช่วยลดระยะเวลาการดำเนินการได้ถึงสี่เท่าภายในหกสัปดาห์ และคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 16.6 ล้านบาทภายในสามปี”

ในอีกแง่มุมหนึ่ง เราเริ่มเห็นการนำอินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชัน มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบบรรทุกสินค้า การกำหนดเส้นทาง และการบริหารจัดการอะไหล่ต่างๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งผนวกความสามารถของแมชชีนเลิร์นนิงเพื่อสร้างการแจ้งเตือนตามลักษณะเหตุการณ์ ช่วยให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนการจัดสรรพื้นที่สำหรับสินค้าคงคลังได้ทันท่วงที และทำการแก้ไขระหว่างการขนส่งได้ตามการแจ้งเตือนเหล่านี้

เวิร์คโฟลว์อัจฉริยะกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น

นายสวัสดิ์อธิบายว่า “การลดต้นทุน การลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน การเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพ รวมถึงการเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ เป็นข้อดีหลักๆ ของอินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชัน”

“ดังตัวอยางของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่วันนี้นำระบบออโตเมชันและเอไอมาช่วยบริหารจัดการกระบวนการซ่อมบำรุง การบริหารคลังอุปกรณ์ การจัดซื้อชิ้นส่วน รวมถึงการบริหารจัดการซัพพลายเออร์ ทำให้สามารถเห็นความเคลื่อนไหวของอุปกรณ์แต่ละประเภทที่มีอยู่ในคลัง บริหารและกำหนดลำดับความสำคัญของงานซ่อมแซมในเชิงรุกได้ ซึ่งลดต้นทุนในการรักษาอุปกรณ์ที่มีอยู่ในคลังลงได้ถึงร้อยละ 30 ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ลงได้ร้อยละ 3-5 ช่วยให้ กฟผ. มีชิ้นส่วนอะไหล่สำรองพร้อมใช้ รวมถึงสามารถยืดอายุของอุปกรณ์สำคัญๆ ได้ถึงร้อยละ 5”

การนำออโตเมชันมาช่วยตั้งแต่เรื่องกระบวนการทำงานของทีมแบ็คออฟฟิศ ไปจนถึงการคาดการณ์การตอบสนองลูกค้าในอนาคตและการปรับเปลี่ยนรูปแบบของภาระงาน รวมถึงการผนวกระบบเข้ากับเอไอที่สามารถวิเคราะห์แพทเทิร์นต่างๆ ได้แม้เป็นข้อมูลที่ไร้โครงสร้าง จะทำให้ต่อไประบบออโตเมชันสามารถทำการตัดสินใจหรือขอบริการจากอุปกรณ์หรือระบบอื่นๆ ได้เองอัตโนมัติหากตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

เตรียมความพร้อมสำหรับงานในอนาคต

อินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชันสร้างโอกาสสำคัญให้กับองค์กร แต่ก็นำสู่ความจำเป็นในการปรับตัวเช่นกัน โดยร้อยละ 89 ของกลุ่มองค์กรที่นำออโตเมชันมาใช้ ตระหนักว่าต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและกระบวนการภายใน ตลอดจนฝึกทักษะใหม่ให้แก่พนักงานเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากอินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชันได้สูงสุด

นายสวัสดิ์ทิ้งท้ายว่า “ทักษะทางเทคโนโลยีที่จำเป็นในวันนี้อาจล้าสมัยในวันพรุ่งนี้ ดังนั้นองค์กรที่พนักงานร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมและความร่วมมือ จะมีความพร้อมในการตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงมากกว่า เพราะในการนำอินเทลลิเจนซ์ ออโตเมชันมาใช้ องค์กรจะต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เพียงการเปลี่ยนแปลงเพียงครั้งเดียว”

 “ปี 2021 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับความสามารถและความเปิดกว้างพร้อมทรานส์ฟอร์มและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงขององค์กร เพราะองค์กรที่จะรอดพ้นจากการทรานส์ฟอร์มในอนาคตนั้นอาจไม่ใช่องค์กรที่พร้อมที่สุด เร็วที่สุด หรือแข็งแกร่งที่สุด แต่เป็นองค์กรที่ปรับตัวได้มากที่สุด”