May 7, 2024

Draft-วิทยุสื่อสารระบบดิจิทัล หัวใจของระบบสื่อสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

SIHASAKPRACHUM / Shutterstock.com

โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นโครงการสำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นจาก 45 เป็น 60 ล้านคนต่อปี ออกแบบภายใต้แนวคิดเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นเมืองหลวงระดับโลกของกรุงเทพมหานคร และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศในภูมิภาคของประเทศไทย ประกอบด้วยการพัฒนาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางวิ่ง อาคารเทียบเครื่องบินระยะไกล อาคารผู้โดยสารและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

 

อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ช่วยเสริมศักยภาพให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับจำนวนผู้โดยสารได้มากขึ้น และอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการก็คือ “ระบบขนส่งผู้โดยสาร (Automated People Mover: APM)” ซึ่งเป็นรถไฟอัตโนมัติไร้คนขับ เชื่อมต่อระหว่างอาคารเทียบเครื่องบินระยะไกลและอาคารผู้โดยสารหลัก ซึ่งอยู่ห่างกันกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และกระเป๋าสัมภาระ วิ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ รองรับผู้โดยสารได้กว่า 4,000 คนต่อชั่วโมง

 

การสื่อสารและประสานงานของระบบ APM

เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถติดต่อสื่อสาร ประสานการทำงานและควบคุมการทำงานของระบบ APM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  หรือ ทอท. ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารท่าอากาศยาน 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  ท่าอากาศยานดอนเมือง  ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่  ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ได้วางแนวทางการพัฒนาระบบสื่อสารโดยแบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่

  1. การสื่อสารของรถไฟไร้คนขับ เนื่องจากเป็นระบบรถขนส่งโดยสารอัตโนมัติไร้คนขับระบบ APM จึงใช้คลื่นความถี่วิทยุในการสื่อสารและควบคุมการทำงาน
  2. ระบบสื่อสารของพนักงาน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การดูแลควบคุมการทำงาน การรักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ของ ทอท. ที่ดูแลส่วนต่างๆ ของสนามบิน

ความท้าทายในการติดต่อสื่อสาร

เนื่องจาก APM เป็นระบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีการใช้งานมาก่อนและติดตั้งอยู่ใต้ดิน ดังนั้นการสื่อสารและประสานการทำงานกันได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว โดยเฉพาะระบบวิทยุสื่อสารภาคพื้นดินจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

จากเดิมที่สนามบินมีการใช้วิทยุสื่อสารภาคพื้นดินระบบแอนะล็อกแบบ Two Way Radio ซึ่งมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจนในการสื่อสาร ช่องความถี่ที่มีจำกัด การขยายรัศมีการสื่อสารเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติงานที่มีการขยายกว้างขึ้น ทำให้สนามบินจำเป็นต้องพิจารณาวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลที่มีความทันสมัยและรองรับการขยายตัวของสนามบินได้ดีกว่ามาใช้งานทดแทน

 

เกณฑ์ในการเลือกใช้งาน

เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในสภาพแวดล้อมของระบบ APM ซึ่งต้องสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ในอุโมงค์ใต้ดิน อาคารเทียบเครื่องบินและอาคารผู้โดยสาร นอกเหนือจากการตอบรับความท้าทายดังที่กล่าวมาแล้ว วิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลที่จะนำมาใช้งานต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ นั่นก็คือ ต้องสามารถใช้งานคลื่นความถี่เดียวกับวิทยุระบบแอนะล็อก Smartnet  ของโมโตโรล่าที่มีใช้งานอยู่เดิมได้

 

จากการใช้เกณฑ์การพิจารณาดังกล่าวและความมั่นใจในประสิทธิภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ก็ใช้วิทยุสื่อสารของโมโตโรล่าอยู่แล้วเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี ซึ่งระบบดังกล่าวได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า เป็นระบบที่มีเสถียรภาพ มีความทนทานสูง ดูแลรักษาง่าย ไม่จุกจิก

 

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงมีความเชื่อมั่นและตัดสินใจเลือกวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลจากบริษัท โมโตโรล่า โซลูชั่นส์ มาใช้งานในการให้บริการระบบ APM ภายในท่าอากาศยาน

 

โมโตโรล่า ระบบสื่อสารที่ได้รับการยอมรับในสนามบินใหญ่ทั่วโลก

สำหรับระบบสื่อสารที่โมโตโรล่านำมาใช้ใน “ระบบขนส่งผู้โดยสาร (Automated People Mover: APM)” คือ ระบบวิทยุสื่อสาร Land  Mobile  Radio  แบบดิจิทัล  ตามมาตรฐาน  APCO 25  (หรือ Project 25)  มีคุณสมบัติเด่นคือสามารถทำงานร่วมกับระบบอนาล็อก  (Analog Backward compatibility)  และมีกำลังส่งดีครอบคลุมมากกว่าระบบวิทยุสื่อสารประเภทอื่นๆ อีกทั้งยังรองรับการสื่อสารทั้งทางเสียงและข้อมูล (Voice & Data)  ระบบวิทยุสื่อสารแบบ APCO 25  ได้รับความนิยมอย่างมากในสนามบินขนาดใหญ่ อาทิ  Los Angles International  Airport,  Baltimore  Washington International  Airport, Philippines  Manila International  Airport เป็นต้น

 

การต่อยอดในอนาคต

ศักยภาพของวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลของโมโตโลร่า ไม่ได้เป็นเพียงวิทยุสื่อสารเท่านั้น แต่ยังสามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกับระบบโทรศัพท์ไอพีโฟน SCADA และระบบ Public Announcement ภายในสนามบินได้ ทำให้ในอนาคต ทอท. สามารถใช้งานวิทยุสื่อสารเป็นโทรศัพท์ภายในประจำตัวพนักงานได้ รวมถึงสามารถกระจายเสียงพูดจากวิทยุไปยังลำโพงที่ติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ของสนามบิน เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินต่างๆ หรือแม้แต่จะเอามาใช้ประโยชน์ด้าน  Industrial  Internet  of  Things  (IIOT) ถือเป็นการสร้างความคุ้มค่าให้การลงทุนเพิ่มมากขึ้น

 

นอกเหนือจากการนำมาใช้งานในพื้นที่โครงการพัฒนาท่าอากาศยานและระบบ APM ทอท. ยังมีแผนที่จะปรับปรุงวิทยุสื่อสารระบบแอนะล็อกที่ใช้งานอยู่ในพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังเดิม รวมถึงสนามบินทั้ง 6 แห่ง ให้มีความทันสมัย เพื่อพร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศของภูมิภาคในอนาคต