April 29, 2024

มหาวิทยาลัยมหิดลกับการพัฒนาห้องเรียน Smart Classroom เพื่อก้าวสู่ความเป็นต้นแบบแห่ง “Digital Convergence University”

มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นแนวหน้าของประเทศที่ก่อตั้งมายาวนานมากกว่า 130 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเรียนการสอนยุคดิจิทัล มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานระบบไอทีที่ดี รวมถึงมีโซลูชันเพื่อช่วยให้นิสิตนักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้อย่างไร้ขอบเขต ซึ่งการนำเทคโนโลยีการประชุมทางไกลด้วยภาพมาประยุกต์ใช้งานถือเป็นหนึ่งในจิกซอว์สำคัญของมหาวิทยาลัย

 

ด้วยวิสัยทัศน์อันก้าวไกลเพื่อมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยระดับโลก” และเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” อันเป็นปณิธานที่มีความหมายลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นแหล่งแสวงหาความรู้ที่หลากหลายของสาขาวิชาการทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง รวมถึงมีบทบาทในการบ่มเพาะบุคลากรคุณภาพ เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ

002

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทั้งคุณภาพคนและคุณภาพการศึกษา ที่สอดคล้องกับวิถีการเปลี่ยนแปลงของโลก การพัฒนาประเทศ ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่ และตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี นอกเหนือจากการสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการแล้ว การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนการเรียนการสอน ก็ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยเช่นกัน

 

ความท้าทายของมหาวิทยาลัยยุคดิจิทัล

“ทุกวันนี้โลกแคบลงเรื่อยๆ และกลายเป็นโลกที่ไร้พรมแดน สิ่งที่เราต้องทำคือต้องตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ทัน นั่นจึงเป็นที่มาของนโนบายเพื่อก้าวสู่ความเป็นต้นแบบแห่ง “Digital Convergence University” โดยมุ่งไปที่เป้าหมาย 7 ด้าน ซึ่งถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกันเพื่อผลักดันแนวคิดดังกล่าวให้เป็นจริง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรีกล่าว

 

แนวนโยบายเพื่อมุ่งสู่การเป็น “Digital Convergence University” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย

IT Development Ownership การสร้างระบบสารสนเทศสนับสนุนการดำเนินการ ประกอบด้วย การเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการ

Digital Analytic การสร้างมีระบบสารสนเทศวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ

IT for Diversity การสร้างความพึงพอใจของผู้ใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

IT Infrastructure for Communication and Collaboration การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการทำงานร่วมกัน

IT Supports for Workforce Mo bility การสร้างระบบไอทีสนับสนุนการเรียนการสอนได้จากทุกที่ทุกเวลา

Digital Expert  การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลบุคลากรและนักศึกษา

Innovation การพัฒนาด้านนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และงานวิจัย

 

ในส่วนของระบบไอทีเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Workforce Mobility ในภารกิจการเรียนการสอนนั้น มหาวิทยาลัยมองว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งต่างๆ สามารถเชื่อมโยงกันได้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัชวีร์ กล่าวเสริมว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลมีหลายวิทยาเขต อยู่ในพื้นที่ที่หลากหลายทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา บางกอกน้อย พญาไท วิทยาเขตกาญจนบุรี วิทยาเขตนครสวรรค์และวิทยาเขตอำนาจเจริญ เป็นต้น

001

จะทำอย่างไรให้ทุกวิทยาเขตได้รับสิ่งต่างๆ พร้อมกัน นั่นหมายความว่าต้องจัดการกับอุปสรรคทางด้านระยะทางทิ้งไปให้ได้ ตัวอย่างเช่น หากมหาวิทยาลัยได้วิทยากรเก่งๆ สักคนหนึ่งมาบรรยาย ก็ต้องหาทางกระจายเนื้อหาในการบรรยายออกไปให้กว้างที่สุด ซึ่งโครงการสมาร์ทคลาสรูม (Smart Classroom) จึงเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ตั้งแต่ต้น”

 

แนวทางการดำเนินงาน

หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดลคือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การศึกษาที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านการศึกษาและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมการเรียนการสอนและการเรียนรู้ยุคดิจิทัล ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาและ e-Learning ผ่านบทเรียนออนไลน์แบบ SPOC (Small Private Online Course) และรายวิชาออนไลน์แบบ MOOC (Massive Open Online Course) อันเป็นระบบตั้งต้นของการเรียนการสอนยุคดิจิทัล ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการสร้างห้องสมาร์ทคลาสรูมก็เพื่อเป็นตัวเชื่อมต่อการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนได้จากทุกเวลาและทุกสถานที่

 

“เรามองว่า สมาร์ทคลาสรูมไม่ใช่แค่เป็นการให้คนออกไปพูดแล้วคนอื่นๆ สามารถมองเห็นได้ทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังมองในแง่ของการวางโครงสร้างและติดตั้งอุปกรณ์อย่างไรเพื่อให้เกิดการโต้ตอบกันได้ดีที่สุด เพราะเรากำลังเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนจากการเรียนแบบ Passive Learning ไปสู่ Active Learning ซึ่งโซลูชันสมาร์ทคลาสรูมที่เรานำมาใช้งานก็สามารถเชื่อมต่อกับระบบเดิมที่เรามีอยู่ได้ด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัชวีร์ กล่าว

 

“เราเริ่มต้นจากการคุยแผนงานกันก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วจะต้องมีการเตรียมอะไรกันบ้าง เนื่องจากจะมีเรื่องของการวางโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นเราต้องมีขั้นตอนเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมก่อน ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายหลักด้านไอทีของมหาวิทยาลัยมหิดลคือจะต้องสามารถใช้งานเครือข่ายไร้สายในสถานที่ที่มีการเรียนการสอนให้ครอบคลุมพื้นที่ 100%  ทำให้ต้องมีการขยายแบนด์วิดท์อินเทอร์เน็ต ปรับปรุงอุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่ายสื่อสารในระดับส่วนงาน รวมถึงปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยด้านไอทีควบคู่กันไป จากนั้นในส่วนของสมาร์ทคลาสรูมก็จะตามมาอีกขั้นตอนหนึ่ง เรามีการวางแผนไว้แล้วว่าจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง จากนั้นก็ค่อยๆ อิมพลีเมนต์ไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแผนงาน”

 

เลือกโซลูชันที่ใช้

กระบวนการคัดเลือกโซลูชันที่จะนำมาใช้ในการติดตั้งสมาร์ทคลาสรูมนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลมองว่าคงไม่ใช่การเอาอุปกรณ์มาเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่มองโซลูชันที่จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถออกแบบแพลตฟอร์มทางด้านการศึกษา ที่สามารถสนองตอบต่อการเรียนการสอนยุคใหม่ได้

 

สิ่งที่มหาวิทยาลัยใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกโซลูชันประกอบด้วย

  1. ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือ
  2. ต้องเป็นโซลูชันที่สามารถขยายและเติบโตไปด้วยกันได้ เพราะมหาวิทยาลัยต้องการโซลูชันทางด้านการศึกษา ที่สามารถทำงานร่วมกันได้กับระบบที่มีอยู่เดิมให้ได้มากที่สุด
  3. จะทำอย่างไรเพื่อให้การสอนเป็นแบบ Active Learning มีการตอบโต้กันระหว่างผู้สอนกับนักศึกษาทั้งภายในและภายนอกห้อง
  4. ต้องมีความเป็นมิตรกับผู้ใช้ เรียนรู้และใช้งานง่าย เพราะแม้จะมีระบบแล้ว แต่ไม่เอื้อต่อการใช้งาน หรือใช้งานยาก ก็จะไม่มีคนใช้

 

“ด้วยปัจจัยข้างต้น ทำให้เราตัดสินใจเลือกโซลูชันจากซิสโก้ เป็นอุปกรณ์หลักภายในห้อง โดยโครงการติดตั้งระบบสมาร์ทคลาสรูมเริ่มต้นเมื่อกลางปี 2561 ในระยะแรกมีการติดตั้งพร้อมกัน 4 ห้อง โดยมีการติดตั้งแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน จากนั้นก็มีการตรวจสอบระบบทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นระบบต้นแบบของมหิดล จากนั้นเราก็ได้มีการสำรวจทุกหน่วยงานที่มีการเรียนการสอน เพื่อวางแผนติดตั้งระบบสมาร์ทคลาสรูมระยะต่อไปในอนาคต

 

โดยยึดเอา 4 ห้องแรกเป็นโครงการนำร่อง ทำให้ทีมไอทีมีประสบการณ์ในการติดตั้งระบบและรู้วิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น” ดร. ธัชวีร์ กล่าวเสริม “โชคดีที่เราได้พันธมิตรที่แข็งแรงอย่างธนาคารไทยพานิชย์และซิสโก้ เข้ามาสนับสนุนและให้คำปรึกษา จึงทำให้เราสามารถติดตั้งใช้งาน รวมถึงเชื่อมต่อกับระบบเดิมที่มีอยู่ได้อย่างลงตัว”

 

ปัจจุบันมีการติดตั้งห้องสมาร์ทคลาสรูมไปแล้ว 4 ห้อง ใน 4 วิทยาเขต คือ

  1. มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อาคารศูนย์การเรียนรู้ ชั้น 2 ห้องมินิเธียเตอร์ (MU Cyber Club) ความจุ 30 ที่นั่ง
  2. มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อาคารเรียนรวม ห้องประชุมนิลกาญจน์ ความจุ 120 ที่นั่ง
  3. มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ อาคารเรียนรวม ห้อง 2260 ความจุ 64 ที่นั่ง
  4. มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ อาคารวิทยาศาสตร์ อเนกประสงค์ อาคารที่ 6 ชั้น 2 ห้อง Smart Classroom ความจุ 40 ที่นั่ง

 

โดยเป้าหมายของมหาวิทยาลัยคือทุกหน่วยงานที่มีการเรียนการสอนจะต้องมีสมาร์ทคลาสรูมทั้งหมด จากการประเมินเบื้องต้นจะมีจำนวนห้องที่ต้องดำเนินการติดตั้งมากกว่า 30 ห้อง

003

โซลูชันที่ใช้งาน

ห้องสมาร์ทคลาสรูมเป็นการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์ จัดการเรียนการสอนในห้องเรียนธรรมดา แต่มีการถ่ายทอดสดภาพและเสียงเกี่ยวกับเนื้อหาของบทเรียนไปยังผู้เรียนที่อยู่นอกห้องเรียนหรือในห้องเรียนที่ต่างสถานที่ผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ติดต่อสื่อสารแบบพกพาก็ได้ และผู้สอนสามารถพูดโต้ตอบกับผู้เรียนได้แบบเรียลไทม์ แชร์เอกสารการสอนได้

 

ระบบที่ใช้ในห้องสมาร์ทคลาสรูมเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นชุดอุปกรณ์

Cisco Webex Room Kit Pro ประกอบด้วย กล้องวิดีโอ Cisco TelePresence Precision 60, ลำโพง Cisco TelePresence Speaker Track และไมโครโฟนความไวสูงแบบติดบนเพดาน

 

ชุดอุปกรณ์ระบบ TelePresence ซึ่งทางมหิดลติดตั้งไว้ในห้องประชุมมีระบบภาพคมชัดคุณภาพสูงระดับ HD บนจอแสดงภาพขนาดใหญ่ และใช้แบนด์วิดท์ในการติดต่อสื่อสาร 5 – 10 เมกะบิต

 

นอกเหนือจากองค์ประกอบด้านฮาร์ดแวร์แล้ว แอปพลิเคชันก็เป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับห้องสมาร์ทคลาสรูม ประกอบด้วย

Cisco WebEx Meeting : โปรแกรมที่ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการประชุมทางไกล การเรียนการสอนทางไกล การจัดอบรมออนไลน์ การสัมมนาออนไลน์ ในองค์กร ให้สะดวกมากขึ้น โดยใช้การเรียนการสอนทางไกล ผ่านทางหน้าเว็บหรือผ่านอุปกรณ์โมบายต่างๆ โดยไม่จําเป็นต้องเดินทางเข้ามาในห้องเรียน

 

Cisco Jabber Video for TelePresence : โปรแกรมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประชุมทางไกลบนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ได้ทั้งระบบปฎิบัติการ Windows และ Mac สามารถเข้าถึง Instant Messaging (IM) ระบบเสียง ระบบวิดีโอ ระบบเสียง ระบบ Desktop Sharing และการประชุมร่วมกันในเวลาเดียวกันด้วย

 

นอกเหนือจากการใช้เพื่อการเรียนการสอนแล้ว มหาวิทยาลัยยังนำระบบดังกล่าวมาใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารทางไกลผ่านวิดีโอหรือระบบ Video Conference เพื่อการประชุมข้ามวิทยาเขต/ข้ามหน่วยงาน และการสอบวิทยานิพนธ์ข้ามประเทศ ซึ่งอยู่ต่างสถานที่กันในหลายจุด สามารถดำเนินกิจกรรมได้เสมือนอยู่ในห้องเดียวกันในลักษณะของการโต้ตอบกันตามเวลาจริง ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

004

ความพึงพอใจในการใช้งาน

หลังจากใช้งานมาได้ระยะหนึ่ง นักศึกษา และอาจารย์ก็มีความพึงพอใจในระบบ สามารถใช้งานได้อย่างราบรื่น เนื่องจากทางมหิดลมีการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีกลุ่มผู้ใช้งานก็จะเป็นอาจารย์ และนักศึกษาเป็นหลัก ส่วนในอนาคตมีแผนที่จะหาผู้บรรยายที่มีชื่อเสียงมาบรรยาย และมีการเผยแพร่ออกไปให้นักศึกษาในทุกวิทยาเขตได้มีโอกาสได้ดูและรับฟังไปพร้อมๆ กันอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ บางครั้งยังมีการใช้ระบบสมาร์ทคลาสรูมในการประชุมต่างๆ ด้วย

 

“การติดตั้งและการใช้งานระบบไอทีต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างกองเทคโนโลยีสารสนเทศและบริษัทผู้ขายหรือติดตั้งผลิตภัณฑ์ เพื่อร่วมกันวางแผนอย่างรอบด้าน อันจะทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เทคโนโลยีที่นำมาใช้ ต้องเชื่อมโยงกับอะไร มีหน่วยงานไหนเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องพบกับอุปสรรคอะไรบ้าง และสามารถขยายไปในทิศทางใด เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างของโครงการสมาร์ทคลาสรูม เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กองเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารไทยพานิชย์ และซิสโก้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ด้านเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพื่อการสร้างห้องที่ประกอบด้วยระบบการประชุมทางไกลเท่านั้น แต่เป็นการสร้าง Education Platform ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และพร้อมต่อยอดสู่ภารกิจการเรียนการสอนต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้อย่างลงตัว”

 

โครงการในอนาคต

เป้าหมายของมหาวิทยาลัยคือทุกหน่วยงานที่มีการเรียนการสอนจะต้องมีห้องสมาร์ทคลาสรูม เพราะในอนาคตการเรียนการสอนอาจจะไม่ใช่การเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีระบบเสริมอย่างเช่น หลักสูตรออนไลน์ หรือบางคณะก็มีการสอนจากต่างประเทศ เพราะหลายหน่วยงานมีความร่วมมือกับต่างประเทศหลายๆ ประเทศ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องการผลักดันในส่วนนี้ ทุกหน่วยงานจะต้องมีในส่วนนี้ ซึ่งทางมหาวิยาลัยจะให้การสนับสนุน และโชคดีที่ได้ธนาคารไทยพาณิชย์และซิสโก้เข้ามาร่วมช่วยผลักดัน

 

“เราตั้งเป้าว่า ทุกส่วนงานที่มีการเรียนการสอนจะต้องมีห้องสมาร์ทคลาสรูม ซึ่งโครงการนี้จะต้องเสร็จสมบูรณ์ภายใน 2 ปีนี้ เพราะหลังจากนั้นก็จะต้องมีโครงการต่อยอดอื่นๆ ตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสตูดิโอเพิ่มเติม การขอใบรับรองสำหรับการเรียนการสอนด้านต่างๆ เป็นต้น”

 

ข้อแนะนำ

ท้ายสุด ดร. ธัชวีร์ ให้คำแนะนำสำหรับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ต้องการติดตั้งห้องสมาร์ทคลาสรูมเหมือนที่มหิดล ประการแรกต้องคิดแบบองค์รวมก่อน อย่าคิดว่าแค่ซื้ออุปกรณ์มาติดแล้วจบ เพราะจะกลายเป็นของที่ไม่ได้ใช้งาน อยากให้มองแบบองค์รวมตั้งแต่ต้นว่าจะเอาระบบมาเชื่อมต่อกันอย่างไร จะเอาไปใช้ในลักษณะไหน ใครจะเป็นคนใช้บ้าง และจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไร ต้องมีการวางแผนให้ดีก่อน โซลูชันเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีการวางแผนดี การทำงานส่วนอื่นๆ ที่ตามมาก็จะง่ายขึ้น

 

การสร้างห้องสมาร์ทคลาสรูมขึ้นมาไม่ใช่แค่เพื่อให้อาจารย์มาพูดแล้วนักศึกษามาฟังเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยมหิดลยังต้องการให้มีปฎิสัมพันธ์กัน มีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกันของนักศึกษาในยุคดิจิทัล

 

“ระบบที่เราวางแผนไว้ในวันนี้ ถือเป็นการทำเพื่ออนาคตของนักศึกษา และอนาคตของชาติ ทุกวันนี้เราต้องเผชิญหน้ากับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องพร้อมที่จะปรับตัวตามโลก การนำเทคโนโลยีไอทีต่างๆ มาประยุกต์ ก็เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรได้สัมผัสกับเทคโนโลยีการเรียนการสอนที่ทันสมัย เพราะทักษะทางด้านดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักศึกษาที่จะออกไปสู่โลกของการทำงานในอนาคต”