CAT ประกาศความพร้อมให้บริการเครือข่ายไร้สาย LoRaWAN รองรับการพัฒนา IoT และ Smart city ติดตั้งแล้วในกรุงเทพและภูเก็ต
หนึ่งในแผนธุรกิจของ CAT ในปี 2561 คือการพัฒนาโครงข่ายไร้สาย LoRaWAN อันเป็นโครงข่ายใหม่ที่รองรับการพัฒนาบริการ IoT และ Smart city โดยเฉพาะและเป็นการปูทางสู่การให้บริการอัจฉริยะต่างๆของCATในระยะยาว จากการทดสอบใช้งานระบบตั้งแต่ต้นปีขณะนี้โครงข่าย LoRaWAN ได้ติดตั้งใช้งานโดยสมบูรณ์แล้วในโครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้
โดย CAT มีแผนขยายโครงข่าย LoRaWAN ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการใช้บริการ IoT มากยิ่งขึ้น และเตรียมเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ในช่วงต้นปี 2561 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น กรุบเทพ ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ ชลบุรี น่าน ระยอง สระบุรี สุราษฏร์ธานี นครราชศรีมา สงขลา ขอนแก่น และภูเก็ต โดยนักพัฒนาจากทุกภาคส่วนสามารถร่วมพัฒนานวัตกรรม IoT บนโครงข่าย LoRaWAN ที่มีเสถียรภาพสูงในอัตราค่าบริการต่ำ ทั้งนี้ CAT สามารถดำเนินการติดตั้งโครงข่าย LoRaWAN ได้อย่างรวดเร็วบนโครงสร้างพื้นฐานเดิมของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ CAT ให้บริการอยู่ ทำให้ต้นทุนต่ำและส่งผลให้ค่าบริการเชื่อมต่อข้อมูลของอุปกรณ์ IoT บนโครงข่าย LoRaWAN มีอัตราถูกมากเมื่อเทียบกับกับค่าใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่
ทั้งนี้ ดร.ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย CAT เปิดเผยว่า “CAT มีการนำระบบเครือข่ายไร้สายสำหรับ IoT ด้วยเทคโนโลยี LoRa มาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีการนำมาใช้งานทั้งในกรุงเทพและภูเก็ต สำหรับในกรุงเทพนั้นมีการนำมาใช้ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณท้องสนามหลวง ในระหว่างการถวายบังคมพระบรมศพ เพื่อประยุกต์ใช้เป็นระบบดิดตามเด็กและคนชรา ป้องกันการพลัดหลง อีกหนึ่งพื้นที่คือภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำร่องการติดตั้งเครื่องเซ็นเซอร์สำหรับการตรวจวัดคุณภาพทางอากาศได้แบบเรียลไทม์”
นอกจากนี้ CAT ได้ทำการติดตั้งแพลทฟอร์มสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันและบริการด้าน IoT (IoT Service and Application Development Platform) ที่รองรับการทำงานร่วมกับโครงข่าย LoRaWAN และโครงข่ายอื่นๆ เช่น 3G, 4G ซึ่งแพลทฟอร์มนี้จะช่วยให้อาจารย์ นักศึกษา และผู้ที่สนใจสามารถพัฒนา IoT Application ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดย CAT จะร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการพัฒนาบริการ IoT ต่างๆ บนโครงข่ายและแพลทฟอร์ม ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ระบบแจ้งเตือนกรณีเด็กติดอยู่ในรถโรงเรียน ซึ่งจะมีการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อตรวจจับว่ามีเด็กติดอยู่ในรถหรือไม่ หลังจากที่เครื่องยนต์ดับ และหากตรวจพบ จะทำการแจ้งเตือนผ่านโครงข่าย LoRaWAN (หรือโครงข่ายอื่นๆ) ไปยังอาจารย์หรือผู้ที่กำหนดไว้ ทันที่เพื่อให้สามารถมาช่วยเด็กได้ทันเวลา โดยความร่วมมือดังกล่าวจะร่วมสร้างสังคมไทยก้าวสู่สมาร์ทซิตี้และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต
ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้น CAT มีการนำไปใช้งานหลากหลายไม่ว่าจะเป็น ระบบติดตามยานพาหนะสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจรถเช่า ระบบติดตามนักท่องเที่ยว ระบบติดตามรถเก็บขยะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังจะมีการขยายต่อยอดไปในอนาคตสู่ระบบ Smart Metering หรือมิเตอร์อัจฉริยะ ไปจนถึง Smart Street Lighting หรือไฟถนนอัจฉริยะ ที่สามารถเปิดปิดได้อัตโนมัติตามสภาวะการใช้งาน
นอกจากนี้ CAT ยังมีการเปิดให้พร้อมพรีออเดอร์ LoRa IoT by CAT Start Kit เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Loraiot.cattelecom.com