October 30, 2024

Smart Society ก้าวสู่สังคมอัจฉริยะ

ทุกวันนี้เราอยู่กับคำว่า Smart หลายคำ Smartphone, Smart Car, Smart Watch ดูเหมือนทุกอย่างจะฉลาดและอัจฉริยะไปเสียหมด แล้วถ้าเป็น Smart Society ละคุณพร้อมที่จะอยู่ในสังคมแวดล้อมฉลาดๆ แบบนี้แล้วหรือยัง

 ในหนังสือ “เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ” บอกไว้ว่าในอนาคตคุณจะถูกไล่ล่าด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ที่จะเปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็นระบบอัจฉริยะ อุปกรณ์หรือสิ่งของต่างๆ สามารถคิดเองได้คุยกันเองได้โดยที่มนุษย์หรือ คน ไม่ต้องไปสั่งงาน แล้วทั้งหมดทั้งสิ้นเป้าหมายของการสร้างระบบอัจฉริยะเหล่านี้ขึ้นก็เพื่อให้บริการแก่ มนุษย์ บนโลกนี้ให้มีความสะดวกสบายขึ้น แม้แต่ในนิยายไซไฟชื่อดัง “80 วันรอบโลก” ของ จูลส์ เวิร์น เองก็เคยจินตนาการเครือข่ายที่ทำให้คนรอบโลกสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้กันได้เอาไว้

shutterstock_563743018-2

อินเทอร์เน็ต คือ เทคโนโลยีหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ถูกฝันถึงอย่างน้อยก็ในหนังสือทั้งสองเล่ม เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่ามันเป็นเพียงเครือข่ายหรือช่องทางสื่อสารอีกอย่างหนึ่งที่ถูกใช้งานกับพวกเนิร์ด ผ่านมาแค่ 20 ปีนิดๆ แทบไม่มีใครที่ไหนบนโลกนี้ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตในแง่มุมต่างๆ แต่การเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมที่ อินเทอร์เน็ต สร้างผลกระทบในวันนี้มันไม่ใช่แค่การเป็นเทคโนโลยีสำหรับการสื่อสารทางเลือกอีกต่อไปแล้ว เพราะมันกลายเป็นแกนกลางของการก้าวต่อไปของมนุษยชาติบนโลกใบนี้

คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าในโลกนี้การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เกิดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ เทคโนโลยีหรือสังคม ที่เห็นชัดๆ เลยก็คือ มีหลายคนพูดว่าสังคมไทยวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์หลายๆ อย่างเกิดขึ้นอย่างน่าตกใจ ที่ขนาดคนในยุคเบบี้บูมที่ค่อนข้างจะเริ่มคุ้นชินกับเรื่องการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่อของวัฒนธรรมกับเทคโนโลยียังรับไม่ค่อยได้ ไม่ผิดกับกลุ่ม Gen X และ Y ที่บางคนก็ยังปรับตัวไม่ค่อยทันแม้ว่าจะเกิดในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมอยู่เนืองๆ

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเกิดขึ้นจาก อินเทอร์เน็ต แทบทั้งนั้น อย่าว่าแต่เด็กๆ หรือวัยรุ่น คนที่เกิดยุคสงครามโลกครั้งที่สอง วันนี้ยังมีอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนทุกอย่างที่สามารถคิดได้ ในวงกว้างเองวันนี้เรากำลังมาถึงยุคที่อุปกรณ์ภายในบ้านนั้น สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อการเข้าถึงข้อมูลหลายหลากทั้งการหาความรู้และความบันเทิง ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับแค่คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนแต่หมายถึงนาฬิกา โทรทัศน์ ตู้เย็น และที่มากไปกว่านั้นอีกไม่นานอุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถคุยกันเองหรือคิดเอง เพื่อที่จะสามารถบริการมนุษย์อย่างเราๆ ให้ได้ดีขึ้น ซึ่งทำให้เรานั้นกำลังจะเริ่มรู้สึกแล้วว่ากำลังอยู่ในยุคที่เรียกว่า สังคมอัจฉริยะ หรือ Smart Society

 Smart Society จุดเปลี่ยนโลกอีกครั้งหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม

มีคำกล่าวที่ว่า ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม นั้นเป็นจุดที่ทำให้โลกเข้าสู่โลกยุคใหม่อย่างในปัจจุบัน เช่นเดียวกัน อินเทอร์เน็ต น่าจะเรียกได้ว่าคือหนึ่งใน สารเร่ง ที่เกิดปฏิกิริยาในการทำให้เกิดการปฏิวัติสังคมในโลกใบนี้อีกครั้ง เราอาจะเคยคิดว่า อินเทอร์เน็ต นั้นเข้ามาเปลี่ยนแค่วิถีชีวิตในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยที่มีมนุษย์หรือ คน เป็นตัวขับเคลื่อนตัวเทคโนโลยี เรียกง่ายๆ ว่ามีคนคอยสั่งและควบคุมให้อุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต

10 กว่าปีที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ เพราะก่อนหน้าที่จะมีอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่มีใครสามารถจินตนาการได้ว่าเราจะสามารถคุยกับคนอีกฝากของโลกผ่านทางหน้าจอสี่เหลี่ยม ไม่มีใครคิดออกว่าจะสามารถส่งภาพ เอกสาร หรืออะไรที่สำคัญๆ ให้กับอีกฝั่งเร็วได้เพียงปลายนิ้วกดปุ่ม

ถ้านั่นคุณคิดว่ามันคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกครั้งของโลก อยากให้คิดใหม่ เพราะทั้งหมดนั้นยังถูกกำหนดและทำงานด้วยคนและยังติดอยู่กับเรื่องสถานที่หรืออุปกรณ์ที่ใช้ แต่จะเปลี่ยนโลกอีกครั้งได้รูปแบบจะเปลี่ยนไปนิดหน่อยด้วยการที่อุปกรณ์หรือระบบส่วนกลางจะคิดและคุยกันเองอัตโนมัติตามที่ถูกกำหนดเอาไว้

ยังนึกภาพไม่ออก ให้คิดถึงหนัง Minority Report ที่ทอม ครูซ เดินผ่านกระจกของร้านขายสินค้า เซ็นเซอร์ตรวจพบว่ามีบุคคลอยู่ตรงกระจกโดยการตรวจสอบม่านตา แล้วสามารถระบุตัวตนของคนๆ นั้นพร้อมกับถามว่าวันนี้คุณสนใจจะซื้อสินค้าที่ระบบอัจฉริยะประมวลผลออกมาเพื่อนำเสนอ นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตที่เดิมคุณอาจจะต้องเดินเข้าไปในซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วระบบจะรู้ว่าคุณชอบซื้ออะไรหรือต้องซื้ออะไรทุกครั้งผ่านทางบัตรสมาชิกที่คุณสมัครไว้ นี่ยังไม่รวมถึงบริการต่างๆ ของหน่วยงานราชการในการขอเอกสารส่วนบุคคลหากสามารถมีบริการที่ง่ายขึ้นด้วยการระบุตัวตนด้วยเทคโนโลยีแบบนี้จะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก

กลับมาว่าทำไมถึงเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนครั้งใหญ่หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในอดีตหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งโลก ประเทศส่วนใหญ่เปลี่ยนตัวเองจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมและกลายเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก อย่าง อังกฤษ เยอรมันและสหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมอัจฉริยะหรือ Smart Society นี้จะยิ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าเมื่อร้อยปีที่แล้วแน่นอน เพราะการเปลี่ยนโลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นใช้เวลานานและจนถึงทุกวันนี้สร้างความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลก แต่การสร้างสังคมอัจฉริยะนั้นไม่เพียงแค่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นเท่านั้น ยังรวมถึงทุกส่วนอย่าง เช่น ภาคเกษตรกรรม ที่สามารถบริหารจัดการและวางแผนการเพาะปลูกได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แล้วอะไรที่จะ อัจฉริยะ ได้บ้าง

ความจริงแล้วในโลกของเทคโนโลยีเกือบไม่มีอะไรที่ ทำไม่ได้ วันนี้ อินเทอร์เน็ต กลายเป็นเทคโนโลยีสามัญที่ทุกคนรู้จักและใช้ประโยชน์ แต่การเปลี่ยนให้อัจฉริยะนั้นจำเป็นต้องมีการคิดใหม่ทำใหม่ขึ้นอีกนิด ด้วยการทำให้อุปกรณ์ เซ็นเซอร์และระบบตรงกลางนั้นสามารถทำงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลเองได้อัตโนมัติ หลายคนอาจจะเคยได้รู้มาว่าเทคโนโลยีนี้เรียกว่า IoT (Internet of Things) หรือเรียกง่ายๆ ว่าอินเทอร์เน็ตในทุกๆ สิ่ง หรือภาษาธรรมดาก็คือ ทำให้ทุกสิ่งเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตให้ได้ แถมยังต้องฉลาดและอัจฉริยะคิดเองตามที่เรากำหนดไว้

สำหรับในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งเริ่มรับเอาแนวคิด Smart Home หรือบ้านอัจฉริยะไปใช้บ้างแล้ว ด้วยการสร้างบ้านและคอนโดยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น โครงการสัมมากรที่ทางไฟเบอร์วันเพิ่งประกาศตัวไปเมื่อไม่นาน รวมถึงโครงการบ้านอื่นๆ ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ และโครงการที่เราได้ติดตั้งแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ บ้านอัจฉริยะจะเป็นอีกหนึ่งแนวโน้มที่มาแรงในกลุ่มสร้างบ้าน และเราจะได้เห็นแอพพลิเคชั่นอัจฉริยะเกี่ยวกับบ้านเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน โดยเฉพาะการใช้งานแอพพลิเคชันทางด้านระบบรักษาความปลอดภัย และทางด้านเฮลท์แคร์ เพื่อดูแลเด็กและผู้สูงอายุภายในบ้าน ตัวอย่างเช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดที่บ้านและดูผ่านสมาร์ทโฟน และแอพพลิเคชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายภายในบ้าน เช่น การสั่งเปิด-ปิด ไฟ ภายในบ้าน การสั่งเปิดแอร์ล่วงหน้าก่อนเราถึงบ้าน 20 นาที ในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ฝังอุปกรณ์สื่อสารและเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัย เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจะทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น

ในต่างประเทศนั้น มีการพูดถึงคำว่า Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์ต่างๆ เข้ากับหลายสิ่งหลายอย่างที่คนอย่างเราจะสามารถคิดได้และคิดไม่ได้ ที่คุ้นชินกับคนทั่วไปก็อาจจะเป็นระบบตรวจอากาศที่บอกได้ว่าวันนี้อากาศเป็นอย่างไร ฝนจะตกหรือไม่ รถติดตรงไหนบ้าง ซึ่งเดิมคนกรุงโดยเฉพาะกรุงเทพฯ อย่างเก่งออกจากบ้านแล้วอาศัยได้เฉพาะ จส. 100 หรือไม่ก็ Google Maps ซึ่งการมีระบบอัจฉริยะเหล่านี้สามารถช่วยในการเลือกเส้นทางหรือหลีกเลี่ยงการจราจรได้ง่ายขึ้น

เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City นั้นเป็นจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่ของการใช้ชีวิตในเมือง เช่น กรุงโซล ของเกาหลีใต้ได้เริ่มติดตั้งระบบติดตามรถโดยสารประจำทาง โดยที่ผู้ที่เดินทางเข้าเมืองด้วยรถโดยสารสายต่างๆ ที่ลงทะเบียนไว้จะได้รับการแจ้งเตือนในกรณีรถโดยสารสายดังกล่าวใกล้จะถึงจุดที่จะขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูหนาวหนุ่มสาวเกาหลีไม่ต้องมายืนรอรถเมล์ภายใต้หิมะที่กำลังตก เทียบกับเมืองไทยหากนำมาใช้ได้จะเป็นประโยชน์มาก เพราะอากาศในกรุงเทพร้อน การยืนรอรถเมล์หรือรถปรับอากาศนั้นเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รถยนต์เพิ่มในเขต กทม. จำนวนมากเกินความจำเป็น

ต่อมาลองดูว่า ระบบอัจฉริยะ แบบไหนที่จะสามารถเข้ามายกระดับภาคการเกษตรโดยเฉพาะในประเทศเราบ้าง ต้องพูดความจริงว่าภาคการเกษตรของไทยนั้นเกือบ 90% นั้นพึ่งพาฤดูกาลของธรรมชาติ แต่ การเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming นั้นจะเปลี่ยนแนวคิดใหม่ของการทำเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพและบริหารจัดการได้ดีขึ้น ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์สำหรับรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเพาะปลูก แล้วนำมาวิเคราะห์วางแผนการเพาะปลูกอย่างมีแบบแผนหรือตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ และมีการนำข้อมูลที่มานั้นไปประมวลผลด้วยซอฟต์แวร์ที่วันนี้ไม่ใช่เรื่องยากในการเสาะหามาใช้ อาจจะดูแล้วเป็นเรื่องยากสำหรับเกษตรกรไทยที่แค่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็มองเป็นเรื่องยาก แต่หากต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรหากต้องการเรียนรู้

อินเทอร์เน็ต ไม่สำคัญแต่คือใจกลางของทั้งหมด

Smart Society หรือสังคมอัจฉริยะจะไม่เกิดเลยถ้าขาด อินเทอร์เน็ต เป็นตัวเชื่อมต่อเข้าหากัน การมี อินเทอร์เน็ต เข้ามาเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อนั้นก็เหมือนกับเราทำให้ทุกคนบนโลกพูดภาษาเดียวกัน เมื่อก่อนอุปกรณ์เหล่านี้นั้นอาจจะสามารถทำงานแบบนี้หรือมีความอัจฉริยะในตัวเองอยู่ แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงหรือพูดคุยกับอุปกรณ์อื่นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเองได้ การทำให้ทุกอย่างสามารถติดต่อสื่อสารและคุยกันด้วยอินเทอร์เน็ตนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก

คำถามคือ จะทำให้ทุกอย่างนั้นเชื่อมต่อเข้าสู่โครงข่ายของอินเทอร์เน็ตทั้งหมดได้อย่างไร ปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องง่ายมากๆ เพราะสามารถเชื่อมต่อได้หลายรูปแบบทั้งแบบมีสายหรือไร้สายทั้งแบบไวไฟ หรือเครือข่ายเซลลูลาร์ แต่การมีอินเทอร์เน็ตที่เร็วและเสถียรภาพที่ดีนั้นเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

เมื่อก่อนอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำถึงปานกลางนั้นสำหรับผู้ใช้ตามบ้านนั้นอาจจะเพียงพอ แต่ปัจจุบันเมื่อมีจำนวนอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และมีคอนเทนท์ที่ใช้งานขนาดใหญ่ขึ้น อินเทอร์เน็ตความเร็วระดับ 10 เมกะบิตต่อวินาที  นั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เช่นวันนี้ Netflix ให้บริการดูหนังออนไลน์ด้วยวีดีโอคุณภาพระดับ 4K HDR ซึ่งต้องใช้ความเร็วระดับ 15 เมกะบิตต่อวินาที ขึ้นไป เพียงแค่อุปกรณ์ที่เป็นโทรทัศน์เพียงตัวเดียวก็ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขนาดนี้แล้ว

ปัจจุบันเทคโนโลยีการเชื่อมต่อยุคใหม่สามารถทำให้บริการอินเทอร์เน็ตมีความเร็วสูงตั้งแต่ 30 เมกะบิตต่อวินาที ถึง 100 กิกะบิตต่อวินาทีซึ่งทำได้ผ่านเทคโนโลยีไฟเบอร์ออฟติก ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการเกือบทุกรายนำเสนอบริการให้กับลูกค้า แต่ติดปัญหาเรื่องของการขยายพื้นที่การให้บริการ เพราะต้องมีการเดินโครงข่ายสายไฟเบอร์ออฟติกใหม่ทั้งหมด

แล้วจะแก้ปัญหาความไม่ทั่วถึงของโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกอย่างไร แนวคิดที่เรียกว่า Sharing Economy น่าจะแก้ปัญหานี้ได้ หน้าตาของแนวคิดนี้ก็คือทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกได้ง่ายขึ้น ในแง่ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็เพียงแค่สร้างทางเชื่อมต่อหลักให้เรียบร้อย คิดง่ายๆ ก็เหมือนการตัดถนนเส้นหลักไปทั่วประเทศ ที่มีทั้งซุปเปอร์ไฮเวย์ ฟรีเวย์ ถนนแยกเข้าจังหวัดเข้าอำเภอ เหมือนกับที่รัฐบาลทำ เสร็จแล้วพวกทางรองหรือทางเชื่อมต่างๆ สำหรับเข้าอำเภอ หมู่บ้าน ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ หมู่บ้านนั้นๆ เข้ามาจัดการ อย่างที่เราเห็นว่าทุกวันนี้ถนนหมู่บ้านเป็นหน้าที่ของ อบต. รับหน้าที่สร้างและดูแล

เพราะการสร้างโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกสำหรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ณ วันนี้ถือเป็นงานเร่งด่วนไม่เฉพาะกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย แต่เป็นเรื่องเร่งด่วนของภาครัฐด้วยที่พยายามจะยกระดับสังคมไทยให้ก้าวไปสู่แนวคิด ประเทศไทย 4.0 และ Sharing Economy นั้นจะเป็นแนวคิดที่สามารถนำมาใช้และได้ผลจริง ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งวันนี้ Sharing Economy ถือเป็นการนำเสนอที่สำคัญที่ไฟเบอร์วัน นำมาให้บริการด้วยรูปแบบของธุรกิจที่แตกต่างออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดของการแบ่งปันให้แก่กัน

การเปลี่ยนสู่ Smart Society นั้นเป็นเรื่องไม่ยาก เทคโนโลยีเป็นเรื่องไม่น่ากลัวแต่จะเป็นตัวช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น อยู่ที่คุณแล้วว่าจะพร้อมเข้าสู่สังคมอัจฉริยะแล้วหรือยัง พร้อมแล้วจิ้มนิ้วกดเลย

บทความโดย : คุณกิตติ โกสินสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฟเบอร์วัน จำกัด (มหาชน)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *