September 14, 2024

สำรวจ 5 ทักษะรับยุค Industrial IoT ภาคอุตสาหกรรมต้องการคนแบบไหนมาดูกัน

ในอีกห้าปีข้างหน้า ทักษะของแรงงานที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการอาจก้าวไปอีกระดับอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมอาจต้องการพนักงานที่สามารถดูแลโรงงานที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ IoT ได้ เป็นต้น

เหตุที่กล่าวเช่นนั้น เป็นเพราะทุกวันนี้ โรงงานในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และจีน ต่างผ่านการทำ Digital Transformation ไปสู่ความเป็น Industry 4.0 กันแล้วเป็นที่เรียบร้อย  ซึ่งการพัฒนานี้ทำให้บรรดาผู้ผลิตต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการมีอุปกรณ์ IoT เข้ามาช่วยในการทำงานด้วย

สำหรับใครที่ยังมองว่า IoT คือการดึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มาเชื่อมต่อกันบนโลกดิจิตอล นั่นอาจเป็นการมองเพียงด้านเดียว เพราะอีกด้านของ IoT คือการแปลงกระบวนการทางธุรกิจให้อยู่รูปดิจิตอลด้วยเช่นกัน ดังนั้นทุกฝ่าย ทั้งวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านเน็ตเวิร์ก นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักออกแบบอินเทอร์เฟส นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักธุรกิจจำเป็นต้องเห็นภาพนี้และเข้าใจตรงกัน

โดยเรามีตัวเลขจากการสำรวจของ PwC เกี่ยวกับสถานการณ์ของ Industry 4.0 ประจำปี 2016 พบว่า ผู้ผลิตทั่วโลกต่างวางแผนจะลงทุนเป็นเงิน 907,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในห้าปีเพื่อผลักดันกระบวนการผลิตให้เข้าสู่ Industry 4.0

manufacturing_equipment_091-100724984-large

“การลงทุนนี้หัวใจหลักคือเทคโนโลยีดิจิตอล เช่น เซนเซอร์ หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ผ่านอินเทอร์เน็ต รวมถึงซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันที่ใช้ควบคุมระบบการทำงานของโรงงาน นอกจากนั้น บริษัทยังต้องลงทุนอบรมพนักงาน และว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เข้ามาช่วยผลักดันให้โครงการเหล่านี้บรรลุผลสำเร็จด้วย”

เพื่อให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง ทักษะที่คนไอทีจำเป็นต้องมีจึงมากกว่าการเป็นแค่โปรแกรมเมอร์ แต่อาจต้องเป็นวิศวกรระบบ เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ และมั่นใจได้ว่ามันจะทำงานได้จริง เพราะอย่าลืมว่า ทุกครั้งที่มีอุปกรณ์ IoT เชื่อมต่อเข้ามาในระบบนั้น หมายถึงความเสี่ยงของการเกิดช่องโหว่ให้ผู้ไม่หวังดีโจมตีได้เลยทีเดียว

ดังนั้น ทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในยุค Industry 4.0 นั้นต้องคิดถึงการใช้ IoT ในบริบทต่าง ๆ และไลน์การผลิตที่เน้นระบบอัตโนมัติเป็นหลัก  ซึ่งอาจจะมีการนำพรินเตอร์สามมิติมาใช้ร่วมกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ รวมถึง Cobots (หุ่นยนต์ที่เข้ามาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่มนุษย์) ก็อาจเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ เราจึงสามารถจำแนกทักษะที่น่าจะจำเป็นสำหรับการทำงานในยุค Industry 4.0 ได้ดังนี้

  1. ทักษะด้าน Cyber Security

Cyber Security เป็นความกังวลลำดับแรก ๆ ของทุกบริษัท เพราะเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการใช้เครื่องจักรแบบเก่า มาทำงานร่วมกับเครื่องจักรแบบใหม่และส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบ ERP และซัพพลายเชน ซึ่งในจุดนี้ ระบบควบคุมเดิมที่ไม่เคยเชื่อมต่อกับโลกภายนอกก็อาจไม่สามารถรับมือกับภัยคุกคามต่าง ๆ ได้ นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านซีเคียวริตี้ security operations centers (SOCs) ไปพร้อม ๆ กับ NOCs

  1. ทักษะด้าน Data Scientists

มีการเปรียบข้อมูลว่าก็เหมือนเลือดของ Industry 4.0 ดังนั้น คนที่เข้าใจ ทำงานกับมันได้ รวมถึงสามารถทำให้มันกลายเป็นข้อมูลอัจฉริยะได้ก็จะได้รับผลตอบแทนสูงตามไปด้วย เนื่องจากในยุคของการใช้ IoT ในภาคอุตสาหกรรมนี้จะเกิดข้อมูลปริมาณมหาศาล และข้อมูลทั้งหมดนี้ก็ต้องการคนเข้ามาจัดการ และวิเคราะห์เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงพัฒนาการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. ทักษะด้าน Networking

ทักษะด้านเน็ตเวิร์กที่จำเป็นคือต้องสามารถเชื่อมต่อเครื่องเข้าด้วยกันได้ และควบคุมระบบได้จากทางไกล ดังนั้นจึงควรมีความเข้าใจในเรื่อง WAN, Edge Networking และ Fog Computing พอ ๆ กับเทคโนโลยี 5G, Wi-Fi และระบบเครือข่ายสำหรับอุปกรณ์ IoT ที่รันโดยใช้พลังงานต่ำ

นอกจากนั้น ความท้าทายของคนทำงานด้านเน็ตเวิร์กคือการต้องเชื่อมต่อระบบกับเครื่องท่อาจไม่เคยรู้จักมาก่อน คลาวด์เองก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมากต่อยุค Industry 4.0 และผู้ที่ดูแลด้านเน็ตเวิร์กจะต้องควบคุมการเดินทางของข้อมูลเป็นอันดับต้น ๆ เช่นเดียวกับอีกสามทักษะอย่าง Network function virtualization (NFV), software defined networking (SDN) และระบบปฏิบัติการแบบเปิด

  1. ทักษะด้าน Software Engineers, นักพัฒนาแอปพลิเคชัน และโปรแกรมเมอร์

ทักษะด้านการเขียนโปรแกรมที่จำเป็นต่อ Industry 4.0 อาจไม่จำกัดแค่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอีกต่อไป เพราะในฐานะผู้ผลิต บริษัทย่อมต้องการให้พนักงานสามารถเขียนและแก้ไขโปรแกรมสำหรับเครื่องจักรได้พอ ๆ กับพัฒนาอินเทอร์เฟสใหม่สำหรับพนักงานมนุษย์ได้พร้อม ๆ กัน

นอกจากนี้ บริษัทยังต้องการให้พนักงานสามารถเขียนภาษาสมัยใหม่เช่น จาวา ได้พอ ๆ กับใช้ภาษารุ่นเก่าอย่าง C หรือ C++ ได้อย่างคล่องแคล่ว ยังไม่นับรวมถึงผู้ที่เข้าใจในระบบปฏิบัติการแบบเปิดเช่น Spark, Kafka, Cassandra,  Docker และ Kubernetes

  1. ทักษะด้าน Architect

ทักษะด้าน IT Architects จะช่วยให้วิศวกรระบบสามารถผสมผสานการทำงานของโลกวัตถุกับโลกของตรรกะได้ คนที่มีทักษะดังกล่าวจะเข้าใจภาพรวมของธุรกิจบริษัท กระบวนการทำงาน และเป้าหมายของการทำ Digital Transformation และสามารถชี้ลงไปได้ว่า จะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีจับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มารวมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นระบบ ๆ หนึ่งได้

อย่างไรก็ดี นี่ถือเป็นตำแหน่งที่ใหม่มาก และต้องมีทักษะที่หาได้ยาก นั่นคือการเข้าใจกระบวนการผลิต พร้อม ๆ กับเข้าใจในการเขียนโค้ดโปรแกรมและระบบเน็ตเวิร์กไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งในเยอรมนีเรียกตำแหน่งนี้ว่า mechatronics  ส่วนในสหรัฐอเมริกา ชื่อตำแหน่งอาจเป็น  industrial maintenance technician ที่ฟังดูโบราณ ๆ หน่อย

รายงานของ PwC เผยว่า การจะประสบความสำเร็จในยุค Industry 4.0 ได้นั้นจำเป็นต้องมีทักษะและความรู้ รวมถึงการรับบุคลากรในตำแหน่งใหม่ ๆ เช่น  data scientists, user interface designers หรือ digital innovation managers ซึ่งตัวผู้บริหารเองก็ควรเรียนรู้ทักษะด้านดิจิตอลเอาไว้ด้วยเช่นกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *