มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จับมือซิสโก้ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เทคโนโลยีในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำแห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยเข้ามาใช้งานเพื่อพัฒนาบุคลากรและนักศึกษา รวมถึงพัฒนาศักยภาพของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ครอบคลุมทั้งองค์กร เพื่อการเป็น Digital University และ “ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”
วิสัยทัศน์การก้าวสู่ Digital University ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ครอบคลุม 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ Digital Learning, Digital Living และ Digital Managing โดยเป็นการขับเคลื่อน Digital University ด้วยหัวใจ สร้างขึ้นด้วยวัฒนธรรมขององค์กร ไม่ได้เป็นเพียงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร แต่นักศึกษา บุคลากร อาจารย์ และผู้เกี่ยวข้อง ทุกคนของมหาวิทยาลัยต่างมีส่วนร่วม มาเรียนรู้ร่วมกัน ทำด้วยกัน ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน ขับเคลื่อนแนวคิด Digital University เข้าไปในหัวใจของทุกคน
รศ. ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า “ หนึ่งในวิสัยทัศน์ Digital University ของเราคือสร้างให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่เฉพาะในภาคเหนือ หรือในประเทศไทย แต่เรามุ่งไปสู่ระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จกับการเป็นศูนย์กลางการศึกษาและการให้บริการสุขภาพเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือการมุ่งสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและมีความเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลในทุกระยะ ดังนั้นการร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่างซิสโก้ ถือเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาความรู้ สร้างงานวิจัย และนวัตกรรมในเชิงเทคโนโลยีร่วมกันในอนาคต “
ดร. ธีรวิศิฏฐ์ เลาหะเพ็ญแสง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า “ ปัจจุบันเรามีการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีมากมาย รวมถึงมีการทำงานวิจัยด้าน Embedded System, AI, IoT และ Software Development มากมาย นอกจากนี้ เรามีการจัดตั้งห้องแลปด้านเทคโนโลยีระบบเครือข่าย โดยมี ดร. มาหะมะ เซะบากอ เป็นผู้รับผิดชอบ ความร่วมมือกับซิสโก้ในครั้งนี้จะทำให้เรามีเนื้อหาการเรียนการสอนในหลักสูตรเกี่ยวกับระบบเครือข่ายมากขึ้น ด้วยจุดแข็งต่างๆ ที่มี ทำให้เราตั้งเป้าหมายว่า นักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้จะมีความพร้อมสำหรับการทำงานและเติบโตในหน้าที่การงานสายเทคโนโลยีระบบเครือข่ายในระดับนานาชาติ “
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟังหลวงมีจุดแข็งที่เอื้อต่อการเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้เทคโนโลยีในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” เช่น การมีหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้บุคลากรของทางมหาลัยแม่ฟ้าหลวงสามารถเรียนรู้ สามารถติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศได้อย่างชำนาญ เช่นเดียวกับนักศึกษาก็มีความพร้อมที่จะทำงานในระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาติได้ทันที
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก็เป็นหน่วยงานภาครัฐเพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย ซึ่งมีบุคลากรที่ได้รับประกาศนียบัตร CCIE ซึ่งเป็นประกาศนียบัตรระดับผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีเครือข่ายในระดับสูงสุดจากซิสโก้ รวมถึงยังมี DevNet Certification สำหรับฝั่ง Software Development ได้แก่ ดร. มาหะมะ เซะบากอ ทำให้สามารถนำความรู้มาพัฒนาบุคลากรและนักศึกษาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของซิสโก้ กล่าวว่า “เนื่องจากต้นกำเนิดของซิสโก้ เกิดมาจากสถาบันการศึกษา ทำให้เรามีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยีของภาคการศึกษาในประเทศไทยมาโดยตลอด นอกเหนือจากความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งซิสโก้จะให้คำปรึกษาและจัดหาเทคโนโลยีในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ให้การสนับสนุนด้านวิชาการและพัฒนาทักษะให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย ซิสโก้ยังพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อช่วยผลักดันวิสัยทัศน์การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีในระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงด้วยเช่นกัน “
“เรามีความเชื่อมั่นว่าการสร้างความเสมอภาคให้กับสังคมได้จะต้องมี 2 ปัจจัยประกอบกันนั่นคือ การให้บริการสุขภาพ และการให้การศึกษา เราให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษาทั่วโลกในหลายมิติ และเราก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในการพัฒนาการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีในครั้งนี้ “
สำหรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในครั้งนี้ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีครอบคลุมด้านต่างๆ ได้แก่ การให้คำปรึกษาสำหรับการวางแผน ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานระบบไอทีทั้งในส่วนของระบบเครือข่าย ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมกิจกรรมการเรียนการสอน การพัฒนา Digital Learning Platform, การประสานการทำงานภายในองค์กร, Smart Education, Smart Healthcare เป็นต้น
รวมถึงการสนับสนุนทางด้านความรู้ และการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทางมหาวิทยาลัยและชุมชน รวมถึงการร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพ และ ยกระดับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจาก Cisco Network Academy เป็น Cisco Instructor Center (ศูนย์พัฒนาและผลิตอาจารย์ผู้สอน) เป็นต้น