วัฒนธรรมองค์กรยุคดิจิทัล
การแข่งขันทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัวเข้าสู่องค์กรในยุคดิจิทัล (Digital Organization) แต่การเปลี่ยนไปสู่แนวทางดังกล่าว การลงทุนจัดซื้อจัดหาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใหม่ๆ มาติดตั้งใช้งานอาจไม่เพียงพอ ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ลงลึกไปจนถึงแก่นและหัวใจสำคัญของการดำเนินงาน นั่นก็คือ “วัฒนธรรมขององค์กร” อันประกอบด้วยแนวทางหลักๆ ได้แก่
ปรับวิสัยทัศน์และกระบวนการคิดของบุคลากร
การเริ่มต้นสู่องค์กรยุคดิจิทัล ต้องเริ่มที่ความคิดของบุคลากรทุกคนในองค์กร ไม่ใช่เฉพาะพนักงานเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงผู้บริหารทุกระดับด้วย เพราะการนำองค์กรด้วยวิสัยทัศน์ จะทำให้ทุกคนพร้อมเดินไปในทางเดียวกัน ในฐานะผู้บริหารต้องทำให้คนในองค์กรมองเห็นว่า แนวคิดขององค์กรยุคใหม่จะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างไร และจำเป็นต้องมีปัจจัยเสริมอะไรบ้าง
เปลี่ยนการทำงานสู่ระบบดิจิทัล
คงเป็นไปได้ยาก หากต้องการเปลี่ยนสู่องค์กรยุคดิจิทัล แต่ระบบงานภายในยังยึดติดกับรูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็น เอกสารในรูปแบบกระดาษ ข้อมูลประเภทเดียวกันแต่ถูกเก็บกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ การนัดหมายทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยการติดบอร์ดหรือต้องทำหนังสือเวียน เหล่านี้ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน สิ้นเปลืองทรัพยากร เสียเวลา และเกิดความผิดพลาดได้ง่าย การเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารถึงกัน การจัดทำระบบข้อมูลกลางขององค์กร และการติดต่อสื่อสารที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ คือสิ่งจำเป็น
เสริมทักษะดิจิทัลให้พนักงาน
แนวคิดมี ระบบมี แต่พนักงานใช้ไม่เป็น อาจทำให้สิ่งที่ทุ่มเทไปเปล่าประโยชน์ การทำให้พนักงานทุกคนรับรู้ว่า ปัจจุบันองค์กรมีเทคโนโลยีดิจิทัลอะไรมาใช้งานบ้างแล้ว และเทคโนโลยีดังกล่าวมีการใช้งานอย่างไร ถือเป็นสิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องผลักดัน ตัวพนักงานเองก็ต้องมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และที่สำคัญผู้บริหารก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงต้องสามารถนำมาใช้อย่างเหมาะสม
การปรับตัวสู่องค์กรยุคดิจิทัล ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของบุคลากรทุกคนในองค์กร วิสัยทัศน์ต้องชัดเจน ผู้นำต้องเข้มแข็ง และพนักงานทุกคนทุ่มเททั้งกายและใจที่จะปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล
ดังคำที่ว่า “ถ้าใจพร้อมอะไรก็เป็นไปได้”
ขอบคุณบทความดีๆ จากนิตยสาร CAT MAGAZINE