November 24, 2024

IBM ผนึกกำลัง Cisco ครั้งประวัติศาสตร์ ต้านอาชญากรไซเบอร์

วงการซีเคียวริตี้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อบริษัทอย่างไอบีเอ็มและซิสโก้ ตัดสินใจจับมือเป็นพันธมิตรกันเพื่อบุกตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้อย่างเป็นทางการแล้ว

โดยเมื่อสองปีก่อนหน้านี้ Ginni Rometty ประธานและซีอีโอของไอบีเอ็มได้เคยกล่าวไว้ว่า ในยุคที่เราเชื่อว่าข้อมูลคือสิ่งที่สามารถทรานสฟอร์มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ ยุคที่การมีข้อมูลจะกลายเป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน ยุคที่ข้อมูลคือทรัพยากรสำคัญ ฯลฯ แต่ขอเพียงมีการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ โลกดังที่กล่าวมาก็พร้อมจะสูญสลายไปในทันทีเช่นกัน

cybersecurity-shield-100659444-large

มาถึงวันนี้ สถานการณ์ในวงการซีเคียวริตี้อาจกล่าวได้ว่าใกล้เคียงกับสิ่งที่ Ginni Rometty กล่าวไว้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการต่อกรกับอาชญากรไซเบอร์นั้นจะมีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ที่อยู่แค่ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐไปถึงหนึ่งเท่าตัว

“ความเร็วคือข้อได้เปรียบของเหล่า Black Hats” ดร. อานิต้า ดี อามีโก ซีอีโอจากบริษัทซีเคียวริตี้ Code Dx กล่าว ซึ่ง ดร.อานิต้ายังเป็นนักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างความตระหนักในสถานการณ์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ด้วย

“ปัจจุบัน มีอาชญากรอินเทอร์เน็ตประสบความสำเร็จในการบุกรุกระบบของลูกค้าในเวลาไม่กี่วินาทีถึง 11 เปอร์เซ็นต์ของอาชญากรอินเทอร์เน็ตทั้งหมด และมีอีกถึง 82 เปอร์เซ็นต์ที่ประสบความสำเร็จภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งการโจมตีนั้นไม่มีกฎ และไม่มีความเมตตา เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ผู้โจมตีเหล่านี้ไม่ชอบอยู่ในกฎกติกา” ดร.อานิต้ากล่าว

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกโจมตีทางไซเบอร์ มีการคาดการณ์กันว่าธุรกิจจะต้องควักเงิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐซื้อผลิตภัณฑ์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และบริการต่าง ๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้า

แต่ปัญหาก็ตามมาอีกครั้งเมื่อซิสโก้ได้เคยทำการศึกษาพบว่า ปัจจุบัน เครื่องมือ (Tools) ต่าง ๆ ที่จะปกป้องระบบนั้นทำงานร่วมกันได้น้อยลงมาก แถมการซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทเล็กบริษัทน้อยจำนวนมากแล้วทำงานร่วมกันไม่ได้ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงที่ธุรกิจต้องแบกรับเอาไว้เอง

“ซิสโก้ได้เคยทำการสำรวจผู้บริหารด้านระบบซีเคียวริตี้ 3,000 คนพบว่า 65% ยอมรับว่าองค์กรของตนใช้ทูลล์ด้านซีเคียวริตี้หลายยี่ห้อตั้งแต่ 6 – 50 ยี่ห้อ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหาร และนำไปสู่ช่องโหว่ด้านซีเคียวริตี้ได้” ตัวแทนจากซิสโก้กล่าว

นอกจากนั้น ยังมีตัวเลขคาดการณ์ว่า ในปี 2021 จะมีความต้องการผู้มือฝีมือด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้เพิ่มขึ้นอีก 3.5 ล้านตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ต้องการอยู่ที่ 1 ล้านตำแหน่งไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ประสบปัญหาอย่างมาก เพราะไม่สามารถผลิตทรัพยากรบุคคลออกมาตอบสนองได้มากเพียงพอ

แต่การจับมือกันของซิสโก้และไอบีเอ็ม ทำให้ลูกค้าของซิสโก้และไอบีเอ็มได้ใช้งานผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ของทั้งสองบริษัทด้วย

ซึ่งที่ผ่านมา ซิสโก้และไอบีเอ็มเป็นบริษัทที่ติดอันดับบริษัทผู้ซื้อกิจการสตาร์ทอัปด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้สูงสุดของโลก โดยมีการควบกิจการไปแล้วถึง 40 ครั้ง และยังมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเข้ามาในองค์กรด้วย เฉพาะแค่ไอบีเอ็มบริษัทเดียว ก็มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญมากถึง 8,500 คนทั่วโลกแล้ว

ทั้งนี้ การร่วมมือกันระหว่างซิสโก้ และไอบีเอ็มจะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ลดเวลาที่ต้องใช้ในการตรวจจับภัยคุกคามต่าง ๆ และช่วยให้องค์กรสามารถประยุกต์ใช้ทูลล์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ตรวจจับภัยคุกคามได้โดยอัตโนมัติ และทำงานได้เร็วขึ้น เป็นต้น

สำหรับธุรกิจซีเคียวริตี้ของไอบีเอ็มและซิสโก้นั้น เมื่อพิจารณารายได้ต่อปีแล้วพบว่า แต่ละรายสามารถสร้างรายได้ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปทั้งสิ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั้งสองบริษัทเลือกที่จะมองกันและกันเป็นคู่แข่ง แต่จากความร่วมมือกันในครั้งนี้ น่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ในวงการซีเคียวริตี้ได้อย่างแน่นอน

ที่มา http://www.csoonline.com/article/3199016/security/cisco-and-ibm-announce-historic-cybersecurity-partnership.html

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *