Digital Park Thailand เมกะโปรเจ็กต์ต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล
CAT เปิดตัวโครงการ Digital Park Thailand สู่สายตาผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมจากนานาประเทศในงาน Telecoms World Asia 2017 ตั้งเป้าดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ 6 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี พร้อมต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ต่อไป
โครงการ Digital Park Thailand เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง CAT กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยจะพัฒนาขึ้นบนพื้นที่ขนาด 600 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัล โดยดร.วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มกลยุทธ์องค์กร CAT เปิดเผยว่า Digital Park Thailand นอกจากจะช่วยส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลแล้ว ยังจะช่วยให้เกิดการพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาสินค้า/บริการดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามนโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC
“การลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลจะทำให้มีคนเก่งๆ เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ เกิดการพัฒนาบุคลากร เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ ซึ่งปัจจุบันนวัตกรรมด้านดิจิทัลมีบทบาทอย่างมากในแทบทุกอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Autonomous car ก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ อุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็จะมีเทคโนโลยีด้าน Internet of Things หรือ IOT เข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งไปกว่านั้นเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวกับการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล เช่น เทคโนโลยีด้าน Artificial Intelligence (AI) จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในแทบทุกอุตสาหกรรม” ดร.วงกต กล่าว
โครงการ Digital Park Thailand อำเภอศรีราชา ตั้งอยู่พื้นที่ใกล้กรุงเทพมหานคร การคมนาคมสะดวกด้วยทำเลที่ตั้งใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ทั้งนี้รัฐบาลมีแผนการลงทุนพัฒนาระบบคมนาคมเพิ่มเติมทั้งรถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ ทำให้การคมนาคมในอนาคตจะสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในบริเวณ อำเภอศรีราชา ยังประกอบด้วยมหาวิทยาลัยและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายใน Digital Park Thailand ได้เป็นอย่างดี
Digital Park Thailand มีกำหนดเริ่มก่อสร้างในปี 2561 ภายในจะประกอบไปด้วยโซนต่างๆ 3 โซนด้วยกัน คือ 1) University 4.0 & Digital Academy เป็นโซนสำหรับการเรียนการสอนหลักสูตรเกี่ยวกับดิจิทัลโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน 2) Digital Innovation Space เป็นโซนหลักสำหรับการลงทุนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัล 3) Living Space คือส่วนของที่พักอาศัย โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และศูนย์กีฬา
การลงทุนในโครงการ Digital Park Thailand แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ประกอบไปด้วย 1) การลงทุนโดยรัฐบาลในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 2) การลงทุนโดย CAT ในส่วนของระบบการสื่อสารโทรคมนาคม และ Data Center และ 3) การลงทุนโดยภาคเอกชน
การดำเนินธุรกิจใน Digital Park Thailand จะได้รับสิทธิประโยชน์หลายด้าน เช่น สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การให้บริการภาครัฐแบบ one stop service ความสะดวกในการขอ VISA
และใบอนุญาตทำงานของชาวต่างชาติ เป็นต้น
ดร.วงกต ยังเผยด้วยว่า ในปีนี้ นอกจาก Digital Park Thailand แล้ว CAT ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์
เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City โดยเริ่มจาก 6 จังหวัด คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และ 3 จังหวัด EEC คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา
“เราเริ่มพัฒนา Smart City ที่ภูเก็ต โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ CAT ได้ร่วมกันให้บริการ WiFi ฟรีครอบคลุมทั้งจังหวัด และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงข่าย Lora สำหรับให้บริการ Internet of Things (IoT) โดยโครงข่ายของ CAT ทุกเทคโนโลยีทั้ง 3G, 4G, WiFi หรือ Lora พร้อมรองรับการให้บริการ Smart City โดยเราสามารถติดตั้งเซ็นเซอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อเก็บข้อมูลอะไรก็ตามที่เราต้องการติดตาม เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำ สภาพอากาศ สภาพการจราจร ฯลฯ และบูรณาการข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ศูนย์กลาง จากนั้นระบบจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลและสั่งการ เช่น ถ้ามีการติดตั้งเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำในคลอง หากระดับน้ำสูงจนเกินกำหนดและมีความเสี่ยงน้ำท่วม เซ็นเซอร์จะส่งข้อมูลดังกล่าวผ่านไปยังศูนย์ควบคุม ซึ่งอาจจะสั่งการแจ้งเตือนไปยังชาวบ้าน หรือเปิดประตูระบายน้ำได้” ดร.วงกต กล่าว