ศาลอาญาระหว่างประเทศ โดนภัยไซเบอร์เล่นงาน แต่ควบคุมได้ทัน

ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาคดีอาชญากรรมสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จึงไม่แปลกเลยที่ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) ตกเป็นเป้าหมายสำคัญของการโจมตีจากรัฐหรือกลุ่มที่ต้องการขัดขวางกระบวนการยุติธรรมระดับโลก โดยเฉพาะในช่วงที่ศาลมีคำสั่งจับกุมผู้นำประเทศหรือผู้บัญชาการทหารที่มีบทบาทในความขัดแย้งระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ ICC จะมีการปรับปรุงระบบความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องจนได้ชื่อว่า เป็นองค์กรที่มีระบบความปลอดภัยไซเบอร์ที่แข็งแกร่งมากที่สุดองค์กรหนึ่งของโลก
แต่ล่าสุด หน่วยงานได้ตรวจพบการโจมตีไซเบอร์รูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนและเจาะจงเป้าหมายต่อระบบภายในของ ICC โดยตรง ซึ่งนับเป็นภัยคุกคามที่อาจเกี่ยวข้องกับบริบททางการเมืองระหว่างประเทศอย่างชัดเจน
ICC ระบุว่าแม้การโจมตีมีความละเอียดและใช้เทคนิคขั้นสูง แต่ระบบการเฝ้าระวังภัยคุกคามของศาลสามารถตรวจจับได้ทันที และสามารถดำเนินการ “กักกันและจำกัดผลกระทบ” ได้ในระยะต้น โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอน การวิเคราะห์ผลกระทบทั่วทั้งระบบ (Court-wide impact analysis) รวมถึงเร่งดำเนินมาตรการฟื้นฟูความมั่นคงและความต่อเนื่องทางธุรกิจ
โฆษกของ ICC นาย Fadi El Abdallah แถลงว่า “หน่วยงานดำเนินการทุกอย่างอย่างเป็นระบบเพื่อให้มั่นใจว่างานของศาลจะไม่หยุดชะงัก และการทำงานสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง”
อย่างไรก็ตาม ศาลยังไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าข้อมูลใดบ้างที่อาจถูกเข้าถึงหรือรั่วไหลจากเหตุการณ์ดังกล่าว
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ICC ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีไซเบอร์ โดยในปี 2566 ศาลเคยถูกแฮกโดยกลุ่มที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการจารกรรมทางไซเบอร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบ Wi‑Fi และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที
แม้ในครั้งนั้นจะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดมากนัก แต่หน่วยงานข่าวกรองหลายแห่งเชื่อว่า การโจมตีมีเป้าหมายเชิงการเมืองและเชิงข่าวกรองระดับนานาชาติ