December 23, 2024

เดลล์ เทคโนโลยีส์ เผยการคาดการณ์ปี 2025 และมุมมองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชี้ถึงการเติบโตของ Agentic AI และ AI ที่รองรับการเติบโตในองค์กรได้ รวมถึงแนวคิดริเริ่มด้าน Sovereign AI

เดลล์ เทคโนโลยีส์ จัดงาน Prediction 2025 ผ่านออนไลน์ สำหรับสื่อในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น โดย จอห์น โรส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีระดับโลก และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่าย AI ของเดลล์ เทคโนโลยีส์ พร้อมด้วย ปีเตอร์ มาร์ส ประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน ได้เน้นย้ำถึงแนวโน้มเกิดใหม่ที่กำลังเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปี 2025 และปีถัดไป โดยเป็นการพูดคุยถึงวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีในอนาคตของจอห์น โรส โดยมุ่งเน้นแนวทางที่เดลล์ เทคโนโลยีส์ ร่วมมือกับลูกค้าเพื่อรับมือกับแนวโน้มเหล่านี้ และใช้ประโยชน์จากโอกาสด้านนวัตกรรมในภูมิภาคนี้

“ไม่ว่าปัจจุบันคุณจะพิจารณาเทคโนโลยีใดอยู่ก็ตาม ล้วนเชื่อมโยงกับระบบนิเวศ AI ทั้งสิ้น” จอห์น โรส กล่าว “ทุกเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีทั้งให้ศักยภาพด้าน AI หรือไม่ก็ใช้ศักยภาพของ AI มาช่วยในการทำงาน เรากำลังพัฒนาจาก AI ที่รับคำสั่งและตอบสนองตามนั้น ไปสู่ชุดเครื่องมือที่ตอบโต้การทำงานแบบอัตโนมัติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และให้ความสามารถเชิงลึกมากขึ้น ที่จะช่วยให้เราทำอะไรได้มากมายอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน”

การเติบโตของสถาปัตยกรรม Agentic AI

จอห์น โรส คาดการณ์ว่า Agentic AI คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับ AI “Agentic จะเป็นคำแห่งปี 2025 โดยเป็นความก้าวหน้าในการกำหนดทิศทางของเทคโนโลยี AI และจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความก้าวหน้าที่สำคัญต่อแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรม AI”

การพัฒนาของ Generative AI ทำให้เกิดเอเจนต์ AI  อัจฉริยะที่สามารถทำงานซับซ้อนได้แบบอัตโนมัติ สื่อสารด้วยภาษาธรรมชาติ และทำงานร่วมกับมนุษย์และเอเจนต์ AI อื่นๆ ได้อย่างราบรื่น โดยเอเจนต์ AI ที่มีความชำนาญเฉพาะทางเหล่านี้จะมีทักษะการทำงานที่หลากหลาย ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและปฏิวัติกระบวนการทำงาน ปีเตอร์ มาร์ส ได้ให้ความคิดเห็นในประเด็นนี้ โดยกล่าวว่า “ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (APJ)  กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในการเตรียมพร้อมและนำ  AI ไปปรับใช้งาน โดยได้รับแรงผลักดันจากการลงทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 110 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2028” ปีเตอร์ มาร์ส กล่าวเสริม “การเติบโตนี้เห็นได้ชัดจากการขยายตัวของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ที่พร้อมรองรับ AI ในทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น” ความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของระบบเอเจนต์ AI ตามที่จอห์น โรส ได้คาดการณ์ไว้ จะทำให้เกิดความจำเป็นในการพัฒนาชุดเทคโนโลยี (technology stacks) อย่างรวดเร็วเพื่อรองรับสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย

กลยุทธ์ความสำเร็จของการขยาย AI ในองค์กร

จอห์น โรส ได้บรรยายถึงแนวคิด เรื่องความจำเป็นในการที่องค์กรต้องขยายการใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งองค์กรต่างๆ กำลังให้ความสำคัญกับผลตอบแทนจากการลงทุนที่จับต้องได้และมูลค่าทางธุรกิจจากโครงการความริเริ่มด้าน AI มากขึ้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้าน AI โดยเฉพาะที่นำโดยประธานเจ้าหน้าที่ด้าน AI หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ (CIO) แนวทางที่เน้นการปฏิบัติได้จริงนี้สะท้อนให้เห็นอัตราความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นของโครงการนำร่อง GenAI

“ในมุมมองของเรา ปี 2025 จะเป็นปีที่เราจะได้เห็นว่ามีการขยายการใช้งาน AI ในองค์กรอย่างแท้จริง อีกทั้งให้ผลลัพธ์อย่างเต็มรูปแบบ” จอห์น โรส กล่าว

ปีเตอร์ มาร์ส ชี้ว่า “ระดับความพร้อมด้าน AI ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันมาก บางองค์กรมุ่งเน้นการขยายระบบ AI ที่มีการใช้งานอยู่แล้ว ในขณะที่อีกหลายองค์กรยังคงจัดการกับความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และบริการ” ปีเตอร์ มาร์สยังชี้ให้เห็นถึงภาคบริการทางการเงินที่หลายองค์กรกำลังใช้ประโยชน์จาก AI ในการตรวจจับการฉ้อโกง และนำมนุษย์ดิจิทัลมาใช้ให้บริการลูกค้ากันมากขึ้น โดยเป็นตัวอย่างของการนำ AI มาใช้ในทางก้าวหน้ามากขึ้น ในทางกลับกัน ผู้ให้บริการด้านสุขภาพบางรายยังคงมุ่งเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและความสามารถในการจัดการข้อมูลที่จำเป็นเพื่อรองรับเครื่องมือในการวินิจฉัยที่ขับเคลื่อนด้วย AI และการดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง Dell AI Factory  มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้

การขยายการใช้ AI ให้ประสบความสำเร็จ ตามที่จอห์น โรส เน้นย้ำคือ องค์กรธุรกิจต้องจัดลำดับความสำคัญของกระบวนการทำงานที่สร้างผลกระทบมากที่สุดและวางรากฐาน AI เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำอีกทั้งขยายขอบเขตการทำงานได้ ปีเตอร์ มาร์สได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการนำ AI ไปใช้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า “องค์กรต่างๆ กำลังใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยทางไซเบอร์ ปรับปรุงบริการคลาวด์ให้เหมาะสม ปรับการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล และปฏิรูปการผลิตภาพยนตร์” ซึ่งยืนยันถึงวิสัยทัศน์ของจอห์น โรส เกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ในองค์กรเช่นกัน

ปีเตอร์ มาร์สสังเกตเห็นว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ความหลากหลายของกฎระเบียบและความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวที่เพิ่มมากขึ้น กำลังผลักดันให้องค์กรต่างๆ หันไปใช้ AI แบบส่วนตัว และแบบติดตั้งในองค์กร (on-premises)

การนำ Sovereign AI มาใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมในท้องถิ่น

แนวโน้มสำคัญที่จอห์น โรส เน้นย้ำคือ หลายประเทศมีความพยายามมากขึ้นในการพัฒนา Sovereign AI หรือปัญญาประดิษฐ์แบบพึ่งพาตนเอง เพื่อสร้างระบบนิเวศ AI ในท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ภาษา และความต้องการด้านความปลอดภัยของข้อมูล โดยอธิบายเพิ่มว่าแนวคิดดังกล่าวมุ่งเน้นที่ความสามารถของประเทศในการสร้างคุณค่าและความแตกต่างด้าน AI โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลของตนเอง มาช่วยส่งเสริมระบบนิเวศที่สะท้อนถึงทรัพย์สินทางปัญญาของท้องถิ่นและการให้ความสำคัญ

จอห์น โรส ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวทางหลากหลายในเรื่อง Sovereign AI โดยบางประเทศกำลังสร้างทรัพยากร AI ระดับชาติที่ให้บริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยการให้เข้าถึงพลังการประมวลผลและความจุของข้อมูล ในขณะที่บางประเทศใช้กลยุทธ์การทำงานร่วมกัน โดยที่รัฐบาลไม่ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานเอง แต่สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมเอกชนปรับตัวให้ทันสมัยและเป็นผู้นำในระบบนิเวศ AI ด้วยการออกแบบเชิงรุกร่วมกัน (proactive co-design)

การผสานรวมของเทคโนโลยี AI

การผสานรวมของ AI กับเทคโนโลยีเกิดใหม่ เป็นหัวข้อสำคัญในการนำเสนอของจอห์น โรส “ศักยภาพที่แท้จริงของ AI อยู่ที่การเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีเกิดใหม่” จอห์น โรสกล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงศักยภาพของการทำงานร่วมกันในการผสาน AI เข้ากับความก้าวหน้าในด้านต่างๆ เช่น ควอนตัม คอมพิวติ้ง (Quantum Computing) อินเทลลิเจนท์ เอดจ์ (Intelligent Edge) และการรักษาความปลอดภัยแบบ ซีโร่ ทรัสต์ (Zero Trust) เทคโนโลยี 6G และดิจิทัล ทวิน (Digital Twins) การผสานขุมพลังของควอนตัม คอมพิวติ้ง และ AI จะเป็นตัวพลิกโฉมให้กับหลายอุตสาหกรรม การให้พลังการประมวลผลที่จำเป็นจะช่วยให้นำ AI ไปใช้ในสาขาที่ซับซ้อน อย่างเช่น วิทยาศาสตร์วัสดุ การคิดค้นยา และในการแก้ไขปัญหาได้เหมาะสมที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่การประมวลผลแบบเดิมยังมีข้อจำกัดอยู่

จอห์น โรส ยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในวงกว้างของ AI ต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่การปฏิวัติการดำเนินงานเครือข่ายโทรคมนาคมไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของพีซีให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐาน AI อย่างเช่น การแพร่หลายของพีซีที่มีการนำ AI มาใช้ (AI-optimized PCs) อย่างที่เดลล์ได้นำเสนอ รวมถึงมีการนำโซลูชัน AI มาใช้ภายในองค์กรเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงการผสานรวม AI เข้ากับระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีได้ครอบคลุมเป็นวงกว้าง

วิวัฒนาการของ AI ที่กำลังพลิกโฉมคนทำงาน

วิสัยทัศน์ของจอห์น โรส เกี่ยวกับอนาคตของการทำงานเน้นย้ำถึงผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงของ AI ต่อตลาดแรงงาน ซึ่งต้องการให้องค์กรลงทุนในการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้าน AI ของบุคลากร เมื่อเอเจนต์ AI สามารถจัดการกับงานประจำได้มากขึ้น บทบาทของมนุษย์จะพัฒนาไปสู่การคิดเชิงกลยุทธ์ในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ และการตัดสินใจที่ซับซ้อน

AI กำลังสร้างงานใหม่ในระดับสูง และเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างมหาศาลต่อการสร้างงาน” จอห์น โรส กล่าว “เรารู้ว่าจะมีงานพื้นฐานที่ AI สามารถทำได้ง่ายและทำซ้ำได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนที่น่าตื่นเต้นคือมีการสร้างงานใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกที่ ตั้งแต่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักแปลที่เป็น AI และวิศวกรระบบความร้อน เป็นต้น

ปีเตอร์ มาร์ส ยอมรับว่าช่องว่างด้านบุคลากรและทรัพยากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาทักษะด้าน AI ในภูมิภาคนี้ อนาคตของ AI ขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างมนุษย์กับ AI รวมถึงระหว่างองค์กรกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยี ซึ่งเดลล์ เทคโนโลยีส์ มุ่งมั่นที่จะช่วยธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากพลังของ AI และผลักดันอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมืออัจฉริยะ

ปีเตอร์ มาร์ส สรุปว่า “เมื่อมองไปข้างหน้า ความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างมนุษย์กับ AI และระหว่างมนุษย์กับมนุษย์จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตดิจิทัลร่วมกัน”

You may have missed