PwC เปิดตัว Asia Pacific Marketplace เพื่อช่วยลูกค้าเร่งเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล
การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital transformation) กำลังก้าวไปไกลกว่าคำยอดฮิตติดหูในแวดวงธุรกิจ แต่คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่า ดิจิทัลจะสามารถสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าดิจิทัลจะเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัว รวมทั้งลดความเสี่ยงทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในสภาพแวดล้อมที่ทวีความซับซ้อนมากขึ้นได้อย่างไร
เพื่อตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว PwC จึงได้นำกลยุทธ์การบริการตามสินทรัพย์ (Asset-based services strategy) ที่ผสมผสานบริการระดับมืออาชีพแบบดั้งเดิมเข้ากับแอปพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งมอบโซลูชันที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและมีมนุษย์เป็นผู้นำเพื่อเปิดตัว Asia Pacific Marketplace หรือ แหล่งรวมโซลูชันดิจิทัลแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครอบคลุมอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และประเทศและอาณาเขตอื่น ๆ ที่กำลังจะตามมาในเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ Asia Pacific Marketplace คือ ระบบนิเวศดิจิทัลที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย PwC และพันธมิตร ซึ่งลูกค้าสามารถสำรวจโซลูชันดิจิทัลที่เกี่ยวกับปัญหาทางธุรกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ข้อมูลและการวิเคราะห์ การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล การดำเนินธุรกิจตามแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ประสิทธิผลขององค์กร การจัดการความเสี่ยง ภาษี และการยกระดับทักษะ โดยโซลูชันแต่ละรายการถูกสร้างขึ้นด้วยมุมมองตามโลกแห่งความเป็นจริงที่เป็นเอกลักษณ์ และความรู้ในอุตสาหกรรมเชิงลึกที่รวบรวมจากการให้บริการบริษัทขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนที่สุดในโลก
ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา Asia Pacific Marketplace ของ PwC ได้เปิดตัวโซลูชันที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่า 160 รายการ และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่บริการซอฟต์แวร์บนคลาวด์ที่ส่งมอบแอปพลิเคชันไปสู่ผู้ใช้ปลายทางผ่านเบราว์เซอร์อินเทอร์เน็ต (Software as a service: SaaS) ที่ได้รับอนุญาต บริการเทคโนโลยี (บริการที่อิงตามสินทรัพย์) ไปจนถึงบริการเทคโนโลยีที่มีการจัดการออกสู่ตลาด
นาย วิชี่ นารายานัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายข้อมูลและดิจิทัล PwC ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “การเปิดตัว Asia Pacific Marketplace ของ PwC แสดงให้เห็นถึงพลังของการทำงานร่วมกันทั่วทั้งภูมิภาค และนับเป็นก้าวใหม่สำหรับโซลูชันที่มีความแตกต่างและบูรณาการมากขึ้นสำหรับลูกค้าของเรา เราเชื่อมั่นว่าอนาคตของบริการมืออาชีพจะอยู่ที่บริการตามสินทรัพย์และบริการด้านการบริหารจัดการ ซึ่งจะช่วยให้เราสร้างผลลัพธ์ที่แท้จริงได้ด้วยความเร็วและขนาด”
แนวทางการสร้างสรรค์ร่วมกันเพื่อส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรต่าง ๆ จะต้องโอบรับแนวคิดการทำงานร่วมกัน และแสวงหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ดังที่ได้เน้นย้ำไว้ในผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 26 ของ PwC ฉบับเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงการขยายเครือข่ายและขอบเขตของระบบนิเวศพันธมิตรเพื่อใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน PwC จึงได้สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มธุรกิจเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ชุดบริการและผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับองค์กรต่าง ๆ
นอกจากนี้ ลูกค้า ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการร่วมสร้างสรรค์ PwC จึงทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อทดลอง ทดสอบ และปรับแต่งเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจริงของพวกเขาทำให้เกิดผลลัพธ์กลับมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางดังกล่าวช่วยให้ PwC สามารถส่งมอบเทคโนโลยีที่เหมาะสม ด้วยขนาดที่เหมาะสม และในเวลาที่เหมาะสม
นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า “เราขอให้คำยืนยันที่จะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับลูกค้าเพื่อนำเสนองานบริการที่มีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าของเราประสบความสำเร็จท่ามกลางภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเปิดตัว Asia Pacific Marketplace ซึ่งเป็นระบบนิเวศดิจิทัลที่ลูกค้าจะสามารถเข้าถึงโซลูชันต่าง ๆ ได้จากที่เดียว ถือเป็นความมุ่งมั่นของเราในการส่งมอบคุณค่าใหม่ในฐานะศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ เราต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวกและยั่งยืนทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและมีมนุษย์เป็นผู้นำ”
สำหรับบริการ Asia Pacific Marketplace ในประเทศไทยนั้น PwC จะนำเสนอบริการเทคโนโลยีดิจิทัลที่หลากหลาย เช่น การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ESG บริการภาษีและความเสี่ยง ยิ่งไปกว่านั้น จะยังมีบริการอื่น ๆ ออกสู่ตลาดในระยะต่อไป เช่น ข้อมูลและการวิเคราะห์ และการยกระดับทักษะ นาย ชาญชัย กล่าว