Amity ประกาศผู้ชนะโครงการ “Amity Hackathon 2023: ChatGPT and Beyond”
แอมิตี (Amity) ผู้ให้บริการโซลูชันด้านการสื่อสาร หรือ โซเชียลฟีเจอร์ (social features) แบบบูรณาการสำหรับองค์กร ร่วมกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค (True Digital Park: TDPK) ศูนย์กลางเทคและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย (Thai Programmer Association) จัดการแข่งขัน ‘Amity Hackathon 2023: ChatGPT and Beyond’ เป็นครั้งแรก
ภายใต้โจทย์ ‘AI for Positive Social Impact’ ที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ (True Digital Park West) พื้นที่ใหม่สำหรับ LIVE, LEARN, WORK และ PLAY ซึ่งการแข่งขันแฮกกาธอนดังกล่าวได้เสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทีม ‘Overcook’ คว้าชัยชนะในประเภทบุคคลทั่วไป ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท ในขณะที่ทีมชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษา ได้แก่ ทีม ‘Teletubbies’ ทีมนิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับรางวัลเป็นการันตีโปรแกรมฝึกงานที่ Amity (โอกาสอันดีสู่ตำแหน่งพนักงานประจำที่ Amity หลังจบการศึกษา) ทั้งนี้ ทีมชนะเลิศทั้งสอง ยังได้รับสิทธิ์ในการเข้าใช้บริการพื้นที่ Co-working space ชั้น 6 ทรู ดิจิทัล พาร์ค อีสต์ ของ TDPK ได้ฟรี เป็นเวลา 3 เดือน รวมมูลค่า 225,000 บาท
ทีม ‘Overcook’ เป็นทีมชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป จากผลงานโซลูชันการลดขยะอาหารจากวัตถุดิบเหลือทิ้งในตู้เย็น โดยผู้ใช้โซลูชันจะสามารถกรอกข้อมูลของวัตถุดิบที่เหลือในตู้เย็น และมีเทคโนโลยีจีพีที (Generative Pre-Trained Transformer: GPT) ทำการคิดค้นเมนูอาหารจากวัตถุดิบเหล่านั้นขึ้นมา ระบบจะทำการให้ตัวเลือกเมนูที่เป็นไปได้ หลังจากที่ได้เมนูอาหารแล้ว ระบบจะทำงานร่วมกับ GPT เผื่ออธิบายขั้นตอนการทำเมนูนั้น ๆ และในแต่ละขั้นตอนจะใช้ DALL-E ช่วยสร้างรูปภาพเพื่อความง่ายต่อการเข้าใจ นอกจากนี้ทางทีมยังได้นำเอา Amity Social Cloud (ASC) อันเป็นผลิตภัณฑ์เรือธงของ Amity มาช่วยสร้างคอมมูนิตีเพื่อแชร์เมนูอาหารภายในระบบอีกด้วย ส่วนทีม ‘Teletubbies’ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษา ได้นำเสนอผลงานเทคโนโลยีการลองเสื้อผ้าผ่าน Augmented Reality (AR) เพื่อลดการสัมผัสและลดขยะแฟชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ GPT เพื่อแนะนำเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับความชอบส่วนตัวของผู้ใช้ หลังจากได้เสื้อผ้าที่เหมาะสมแล้ว ระบบจะนำเสื้อผ้าเหล่านั้นมาแสดงผลร่วมกับกล้องและให้ผู้ใช้ได้ทดลองสวมใส่ผ่านเทคโนโลยี AR แบบเรียลไทม์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ ทีม ‘Deviate’ กับโซลูชันการสร้างโพสต์ทางการตลาดบนโซเชียลมีเดียที่มีประสิทธิภาพ ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ตกเป็นของทีม 4 Cheese Pizza กับผลงานแพลตฟอร์มการสร้างห้องเรียนเสมือน (virtual classroom) สำหรับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาโดยใช้ Generative AI เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในแบบเฉพาะบุคคล (personalized) โดยได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท สำหรับประเภทนิสิตนักศึกษา รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม ‘OppAI’ ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับผลงานเทคโนโลยีการสร้างไอเดียด้วยการจำลองการประชุมของบอต GPT 5 ตัว 5 บุคลิก และทีมรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม ‘Frozen 3’ ทีมนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) กับผลงานแพลตฟอร์มการเรียนภาษาอังกฤษด้วยการจำลองสถานการณ์การสนทนาจากชีวิตจริง โดยทั้งสองทีมรองชนะเลิศได้รับเป็นใบประกาศนียบัตรตามลำดับ
การแข่งขันรอบตัดสินมีทั้งหมด 16 ทีม มีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 80 คน แบ่งเป็นประเภทบุคคลทั่วไป 7 ทีม และประเภทนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี 9 ทีม ใช้เวลาแข่งขันรอบสุดท้ายภาคสนามทั้งหมด 2 วัน โดยวันแรกเป็นการทำงานกลุ่มร่วมกัน พร้อมด้วยมีทีมที่ปรึกษา (mentors) เป็นผู้เชี่ยวชาญจาก Amity ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบ User Interface (UI) การนำใช้เทคโนโลยีมาใช้ เทคนิคหลังบ้าน การนำเสนอผลงาน และอื่น ๆ คอยให้คำแนะนำ ในวันที่สอง จะเป็นวันนำเสนอผลงาน โดยมีเกณฑ์การตัดสินประกอบด้วย ด้านนวัตกรรม (innovation) การนำไปใช้งานได้จริง (functionality) ประสบการณ์ผู้ใช้งาน (user experience) การสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (positive social impact) ประสิทธิภาพเชิงเทคนิค (technical efficiency) วิธีการนำเสนอผลงาน (pitch and presentation) โดยทั้งหมดต้องถูกนำเสนอภายในระยะเวลาเพียง 8 นาที
ในรอบวันตัดสิน หรือ วันเสนอผลงาน Amity ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ของไทย ประกอบไปด้วย คณะกรรมการประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ ดร. พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ดร.ณัฏฑิยา กัณหาบัว ตำแหน่ง Principal Digital Technology Evangelist ของ SCG WEDO คุณสรุจ ทิพเสนา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายโซลูชันองค์กร ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย (Microsoft Thailand) และคุณทัชพล ไกรสิงขร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของ Amity ส่วนคณะกรรมการประเภทนิสิตนักศึกษา ได้แก่ คุณวชิรวิทย์ โหมดเครือ CTO ของ Amity Solutions คุณลิขิต เริงสมุทร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ของ Amity Solutions และคุณธรรศ รัชสัน ผู้อำนวยการ SDK Engineering ของ Amity
สำหรับโครงการ Amity Hackathon 2023: ChatGPT and Beyond มีจุดเด่นที่แตกต่างจากการแข่งขันแฮกกาธอนอื่น ๆ คือ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่บริษัทเทคไทยระดับโลกอย่าง Amity ได้หยิบยกโจทย์ AI for Social Impact มาเป็นความท้าทายสำคัญให้ผู้แข่งขันนำเทคโนโลยี Generative AI ได้สร้างเป็นนวัตกรรมให้นำไปสู่การใช้งานได้จริงและเป็นประโยชน์หรือช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อสังคม “ถ้าเรานึกย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เราอาจจะไม่มีทางคิดผลงานนวัตกรรมแบบในการแข่งขันนี้ได้เลยเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอาจจะยังไม่ถึง แต่ในปัจจุบันพอเกิด ChatGPT หรือ Generative AI อื่น ๆ ขึ้นมา ทำให้เราคิดค้นผลิตภัณฑ์ออกมาได้หลาย ๆ อย่างขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์และสังคม รวมไปถึงองค์กรต่าง ๆ ได้ เรารู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่การแข่งขันแฮกกาธอนครั้งนี้ทำให้เห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ทุกคนที่สามารถช่วยกันขับเคลื่อนสังคมและสามารถต่อยอดเทคโนโลยีเหล่านี้โดยการนำเสนอเป็นรูปแบบนวัตกรรมได้ในเชิงสร้างสรรค์” ทัชพล ไกรสิงขร ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ Amity กล่าว