บทสรุปแนวคิดของผู้นำองค์กรระดับบิ๊กปรับทิศทาง เปลี่ยนกลยุทธ์อย่างไร? ให้พร้อมตั้งรับ Digital Disruption
หมดเวลาวิเคราะห์ว่า Digital Disruption คือโอกาสหรือวิกฤต เพราะตอนนี้ทุกธุรกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ คำถามสำคัญคือ เมื่อโลกเปลี่ยน ธุรกิจจะหยิบกลยุทธ์ใดมาตั้งรับ การปรับองค์กรสู่ดิจิทัลในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 อาจเป็นเพียงกลไกเอาตัวรอดหรือปรับตัวเพื่อตอบสนองเทรนด์ตลาด ทว่าแนวโน้มที่โลกจะเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Transformation ตลอดกาลอาจต้องกลับมาทบทวนกลยุทธ์และแนวทางกันใหม่ ไม่ใช่แค่ทำให้องค์กรอยู่รอด แต่จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ธุรกิจมีศักยภาพเหนือคู่แข่ง
บนเวที “The Disruption of Business, Competition, and Transformation, Ready for the FUTURE. : โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจอนาคต” ที่จัดโดย “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ร่วมกับ “สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย” มี 2 ใน 3 หัวข้อที่สะท้อนแนวทางการปรับตัวของธุรกิจทุกภาคส่วนในประเทศ พร้อมแนะแนวคิดเพื่อให้ธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ต่อได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ได้แก่ หัวข้อ “ธุรกิจต้องพร้อม พลิกโฉมสู่อนาคต” และ “เกมเปลี่ยน ประเทศไทยต้องปรับ”
แน่ชัดแล้วว่า Digital Disruption มีผลต่อเกมการแข่งขันทางธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะกับธุรกิจโทรคมนาคม เพราะทุกการปรับตัวจะส่งผลต่อสปีดการเคลื่อนตัวของทุกธุรกิจ นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของการปรับตัวเพื่อให้พร้อมต่อการแข่งขันทางธุรกิจ นอกจากทำความเข้าใจและรู้ทันเทคโนโลยีคือ การสร้างพันธมิตรและการผนึกกำลังกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลจะต้องเปิดรับฟังข้อมูลและต้องปรับเปลี่ยนมุมมองให้เร็ว โดยกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทของโลกธุรกิจ ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสการแข่งขันกับต่างชาติ
ทั้งนี้ การควบรวมกิจการอย่างเท่าเทียมระหว่าง TRUE กับ DTAC ถือว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะทำให้เกิดความพร้อมต่อการสร้างนวัตกรรมรองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่ อันนำมาสู่ประโยชน์ต่อทุกฝ่ายโดยรวม และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติรายใหญ่อย่าง Facebook, LINE, Twitter และ TikTok ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศไทย แต่กลับไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายโทรคมนาคมและการกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความเสียเปรียบและสุดท้ายผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศจะเข้ามาครอบครองส่วนแบ่งตลาด แทนบริษัทคนไทย
“เรามีเป้าหมายที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มของคนไทยให้สามารถแข่งขันได้กับแพลตฟอร์มระดับโลก ด้วยการสร้าง Ecosystem และสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งสะท้อนแนวทางการปรับตัวของธุรกิจให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและประเทศชาติ”
ณัฐวุฒิ กล่าวเสริมว่า จากนี้ไปจะมอง ‘โทรคมนาคม’ เป็นเพียง ‘โทรคมนาคม’ ต่อไปไม่ได้ แต่ต้องมองเป็น Tech Telecom ที่ไม่ได้มีผู้เล่นเพียง 3-4 ราย แต่มีผู้เล่นมากกว่า10 ราย ทั้งในและต่างประเทศที่เป็น Global Player แต่อยู่นอกการกำกับดูแลของโทรคมนาคม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทรูต้องมีการ Disrupt ธุรกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้วยการควบรวมกับพันธมิตรเพื่อปรับตัวเป็นเทคคอมปานี
ด้าน Mr. Jon Omund Revhaug (จอน โอมุนด์ เรฟฮัก) Senior Vice President เทเลนอร์กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชีย กล่าวในมุมของบริษัทข้ามชาติที่ลงทุนในประเทศไทย ยังเชื่อในศักยภาพของประเทศไทยและเชื่อว่าเอเชียมีแนวโน้มการเติบโตและทิศทางที่น่าลงทุน พิจารณาจากตัวเลขรายได้ที่ผ่านมา กว่า 60% ของรายได้ทั่วโลกมาจากเอเชีย ซึ่งประเทศไทยมีขนาดตลาดเป็นอันดับสามในเอเชีย
“แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ คงต้องมองทั้งปัจจัยเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยเฉพาะในด้านกฎระเบียบ กฎหมาย รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ต้องเอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ มีกฎกติกาที่เป็นธรรม มีความชัดเจน และต่อเนื่องในระยะยาว เนื่องจากการลงทุนด้านเทเลคอมต้องใช้เงินลงทุนสูง”
“5G จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาในสังคม แต่ถ้าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ให้ได้มากที่สุดก็ต้องมีการลงทุนอีกมาก ซึ่งระหว่างทางต้องใช้เวลาและเงินลงทุนนานตั้งแต่การแข่งขันประมูลคลื่น สร้างโครงข่าย ดังนั้นระหว่างทางต้องมั่นใจว่าจะไม่มีอุปสรรค โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกฎระเบียบ กติกาต่าง ๆ กลายเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน การที่เทเลนอร์จะควบรวมเพื่อปรับตัวเป็นเทคคอมปานีนั้นเป็นวิถีปกติในการปรับตัวทางธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะเป็นแนวทางที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็ง และสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้ามากกว่าการเป็นผู้ให้บริการมือถือ”
ด้านอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ คุณพุฒิกานต์ เอารัตน์ Head of People & Branding, SCB 10X และกรรมการผู้จัดการ Chief Digital Asset Officer บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด เผยว่าโชคดีที่ธนาคารไทยพาณิชย์มองเห็นมาก่อนนี้แล้วว่า Digital Disruption จะเกิดขึ้น จึงทดลองตั้งหน่วยงานเล็ก ๆ และนำมาสู่การจัดตั้ง SCB 10X เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี ซึ่งการดิสรัปชันตัวเองนั้นเกิดจากสองมุม หนึ่งคือ ต้องการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันสู้กับผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย และสอง เป็นวิสัยทัศน์ของยานแม่ที่มีเป้าหมายไปเติบโตในต่างประเทศและเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาค
“SCB 10X ไม่ใช่แค่พัฒนาโซลูชัน หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ แต่รวมไปถึงการสร้างธุรกิจใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (New S-Curve) เป็นแหล่งรายได้ใหม่ ทั้งเรื่องไลฟ์สไตล์ สุขภาพ และบลอกเชน เพื่อทำให้ไทยพาณิชย์เป็นมากกว่าธนาคาร และลูกค้ากลายมาเป็นพาร์ทเนอร์ ที่สำคัญทำให้ธนาคารได้ข้อมูลจากแอปพลิเคชันโดยตรง มีดาต้ามหาศาลจากการใช้จ่ายของคน ซึ่งเป็นข้อมูลเครดิตสกรอริ่งที่แม่นยำมากกว่าการให้บริการปล่อยกู้ในอนาคต”
พุฒิกานต์ ยังชี้ให้เห็นว่าในประเทศไทยก็เหมือนอีกหลายประเทศ ที่บางครั้งผู้นำในการเปลี่ยนแปลงจะเป็นสตาร์ทอัพเล็ก ๆ ทำให้หน่วยงานกำกับมองว่าไม่เชื่อถือ จึงอยากเห็นกลุ่มธุรกิจที่มีความน่าเชื่อลงมือทำ หรือร่วมมือกับสตาร์ทอัพ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่ารอให้มีกฎหมายออกมาก่อนแล้วองค์กรใหญ่ค่อยขยับ
“ไทยพาณิชย์พร้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยคอนเซปต์ของเราคือ เมื่อเห็นความสลัวต้องกล้าที่จะเดินไป เพราะถ้าเราปลายทางชัดเจนจะไม่ใช่ดิสรัปชัน นั่นเป็นสิ่งที่ใครสักคนทำไปแล้ว เราจะเป็นแค่ผู้เดินตาม”
คุณวิธวินท์ อิทธิภาณุวัต กรรมการบริหาร Vertex Ventures Southeast Asia and India ให้มุมมองในฐานะผู้ที่ดูแลการลงทุนระดับภูมิภาคถึงจุดอ่อนที่อาจไม่เอื้อต่อการแข่งขันในตลาดโลกว่าซึ่งดูเหมือนจะสอดคล้องไปกับประเด็นเรื่องการไม่ได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานกำกับว่า “ประเทศไทยมีความพร้อมหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของอินฟาสตรัคเจอร์ที่แข็งแรง มีความเร็วอินเทอร์เน็ต เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก รวมถึงมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เป็นไปตามเทรนด์ของโลก แม้ทุกหน่วยงานรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และแวดวงสตาร์ทอัพ จะได้มีความร่วมมือมากขึ้น แต่อาจจะยังไม่ได้เร็วพอที่จะสร้างความถูกใจกับทุกฝ่ายได้”
“ด้วยข้อจำกัดบางอย่างทำให้เพื่อนบ้านได้เปรียบด้านการลงทุน หากต้องการออกไปแข่งในตลาดโลกต้องให้ความสำคัญกับประเด็นหลัก ๆ สองเรื่องคือ ทรัพยากรมนุษย์ ความสามารถคนไทยไม่ด้อยเพียงแต่ตำแหน่งงานในไทยยังมีน้อย ในขณะที่อินโดนีเซียกับเวียดนามมีตำแหน่งที่กว้างและหลากหลาย อีกเรื่องคือ การไหลของเงินทุน ต้องคล่องตัวมากขึ้น ตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้น ตอนนี้คนในแวดวงเทคโนโลยีรอฟังข่าวเรื่องของ IPO แนวโน้มน่าจะเป็นไปด้วยดี เริ่มมีการผ่อนปรนเกณฑ์ให้กับหลายบริษัทที่ยังขาดทุนแต่มีศักยภาพในการเติบโต มีรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจ ให้สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ เราต้องการให้เกิด Success Case จริงเพื่อให้เกิดโมเมนตัมที่ดีทั้งเรื่องของการขาดกำลังคนและการไหลเวียนเงินทุน”
ในขณะที่คุณนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืนบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มองบรรยากาศการลงทุนและว่าหากจะทำให้เดินหน้าอย่างราบรื่นและเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุน จำเป็นต้องมีกฎระเบียบที่สอดคล้องและเอื้อให้ธุรกิจดำเนินต่อไป การวางรากฐาน การวางโครงสร้างของนโยบายต่าง ๆ ในระยะยาวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับการลงทุน ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแล เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ disruption และยังเป็นหน่วยงานที่ต้องมีการเปิดรับข้อมูลและมีการปรับตัวมากที่สุด ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี”
ในวันที่บริบทของการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงร่วมกันได้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รัฐบาลต้องทำความเข้าใจ เตรียมควาพพร้อม และศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างนโยบายหรือแนวทาง กฎกติกาเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดความร่วมมือต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้
การสร้างพันธมิตรและการผนึกกำลังเพื่อสร้างเข้มแข็งให้พร้อมต่อการสร้างนวัตกรรมรองรับความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในยุคใหม่โดยเฉพาะรองรับการขยายตัวและการครอบครองตลาดของผู้เล่นรายใหญ่ที่มาจากต่างประเทศก็เห็นพ้องเช่นเดียวกับแนวคิดของผู้นำคนอื่น ๆ
“การซื้อขายพลังงานในต่างประเทศ สามารถซื้อขายข้ามประเทศได้ และจะเห็นมากขึ้นในอนาคต เราจะเห็นภาพของ Asian Grid มากขึ้น ดึงความเชี่ยวชาญและจุดแข็งของแต่ละประเทศเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกัน หากทำได้จะสะท้อนแนวทางการปรับตัวของธุรกิจในประเทศให้พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น”
ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สรุปปิดท้ายโดยให้แง่คิดว่า Mindset สำคัญที่สุด ตามมาด้วยวัฒนธรรมองค์กรและการสร้างสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการระดมความคิด เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในอนาคต
“ก่อนจะเกิด Digital Disruption ไม่มีใครบอกได้ว่าทิศทางใหม่จะเป็นอย่างไรและวิธีการรับมือของแต่ละธุรกิจก็มีความหลากหลาย บางครั้งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน รวมทั้งมีการนำดาต้ามาใช้ในการวิเคราะห์ แต่ในกระบวนการทั้งหมดนี้จะต้องคอยเฝ้าดูด้วยว่า กฎหมายในประเทศนั้นเป็นอย่างไร”
“สิ่งแรกคือต้องตระหนักรู้ก่อนว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ยังมี SMEs จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะอยู่รอด เพราะความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาธุรกิจเดิม ๆ อาจไม่ตอบโจทย์โลกอนาคตอีกต่อไป หากประเทศไทยอยากเป็นส่วนหนึ่งของเวทีโลก ต้องการเป็นยูนิคอร์น สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เรามี Talent มี Soft Power ที่แข็งแกร่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ปัญหาคือ จะทำอย่างไรจึงจะมารวมกันให้เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแกร่ง เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศไทยไปด้วยกัน”