ถอดบทเรียนทางรอดธุรกิจ… เร่งทรานส์ฟอร์ม ก่อนถูกดิสรัป กลุ่มทรู ร่วมสัมมนาเจาะลึกการปรับตัวฝ่าวิกฤตสร้างนวัตกรรมรับมือการเปลี่ยนแปลง
การมาของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัว สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดพร้อมไปต่อได้ ก็คือการทรานส์ฟอร์มให้ทันการเปลี่ยนแปลงกลุ่มทรู โดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมถอดบทเรียนธุรกิจ การปรับตัว สร้างโอกาสรอดฝ่าวิกฤต
พร้อมเปิดวิสัยทัศน์การนำนวัตกรรมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงบนเวทีเสวนาหัวข้อ “Innovative Organization Perspective for Transforming Enterprise” ในงานแถลงข่าวจัดงาน “STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022” จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน)หรือ NIA ร่วมด้วยผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำของประเทศ ได้แก่ ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ รักษาการผู้ช่วยประธานฝ่ายปฏิบัติการ ด้านคุณภาพการรักษาพยาบาลและนวัตกรรม บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ ผู้จัดการสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น และ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA ณ โรงแรมเดอะสุโกศล
ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อรับมือการถูกดิสรัป
ดร.ธีระพล เผยว่า สถานการณ์โควิดทำให้เกิดการหยุดชะงักทั้งการใช้ชีวิต ภาคธุรกิจ ไม่เพียงแต่ระดับองค์กร ยังรวมถึงลูกค้า คู่แข่ง อุตสาหกรรมต่างถูกดิสรัปหมด การทรานส์ฟอร์มโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในกระบวนการทำงานรวมถึงการทำงานจากที่ไหนก็ได้ วันนี้เชื่อว่าหลายคนไม่อยากกลับไปทำงานที่สำนักงาน เพราะเริ่มชินกับชีวิตรูปแบบใหม่ ที่สำคัญ ผู้บริโภคยังมีอำนาจในการเลือกสิ่งต่างๆ มากกว่าเดิม สิ่งท้าทายหลังจากนี้คือโลกหลังโควิดที่จะไม่กลับไปเหมือนเดิม มีกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีจากต่างประเทศไหลเข้ามาร่วมแข่งขันในอุตสาหกรรมบ้านเรามากขึ้น ภาคธุรกิจจึงต้องปรับตัว วันนี้ในฐานะบริษัทไทยต้องปรับตัวให้รูปแบบบริการสู้กับผู้เล่นจากต่างประเทศให้ได้ นวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สามารถเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมในองค์กร การนำปัญหาลูกค้ามาสร้างนวัตกรรม รวมถึงการสร้างสตาร์ทอัพอีโคซีสเต็ม ทั้งหมดนี้คือสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันในอนาคตได้
ในวิกฤตจะเห็นได้ว่ายังมีบางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้เกิดจากการปรับเปลี่ยนต่อยอดธุรกิจไปสู่การแข่งขันแบบนิวนอร์มัล รวมถึงเชื่อมโยงธุรกิจในภาพระดับโลก ดังนั้นนอกจากเอกชนต้องปรับตัวเองแล้ว ทางภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล ต้องปรับตัวรวมถึงปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องเท่าทันโลกที่เปลี่ยนไป
นำนวัตกรรมเทคโนโลยียกระดับการดูแลสุขภาพ
ด้านการปรับตัวของธุรกิจการแพทย์ ดร.พัชรินทร์ กล่าวว่า วิกฤตทำให้ได้ทบทวน และปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินธุรกิจ จากเดิมแพทย์เป็นศูนย์กลางให้บริการ แต่ขณะนี้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางรับบริการ จึงต้องมองหาสิ่งที่ช่วยให้การทำงานสะดวกรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพก่อนถึงสภาวะเจ็บป่วย ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งดิจิทัล เฮลท์เข้ามามีบทบาทสำคัญ ตลอดจนโซลูชันต่างๆ ที่ช่วยดูแลสุขภาพในองค์รวม นับเป็นโอกาสที่จะนำนวัตกรรมเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพเข้ามาเติมเต็ม อย่างไรก็ตามการทำงานกับสตาร์ทอัพต่างประเทศพบข้อจำกัดหลายเรื่อง ทั้งกฎหมายข้อกำหนด และการรับรองมาตรฐานต่างๆ ทำให้ค่อนข้างยากในการนำนวัตกรรมเข้ากระบวนการของโรงพยาบาล จึงต้องเสริมจุดแข็งอื่นๆ ที่สามารถทำได้และทำให้ค่ารักษาพยาบาลเหมาะสม สตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพทัดเทียมสตาร์ทอัพต่างประเทศจึงอยากให้ช่วยกันสนับสนุนให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
สร้างธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ในด้านความท้าทายในอุตสาหกรรมพลังงาน ดร.ก่อศักดิ์ ชี้ให้เห็นการปรับองค์กรตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในต่างประเทศ และการมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฟฟ้า กลุ่มไบโอดีเซล วิกฤตทำให้ทุกคนในองค์กรต้องปรับตัว ผนึกกำลังกันและคิดค้นนวัตกรรมมากขึ้น มีการอัปสกิล-รีสกิลเพิ่มขีดความสามารถของพนักงาน พร้อมเปิดโอกาสให้เป็นสตาร์ทอัพเพื่อเพิ่มโอกาสเติบโต นอกจากนี้ บางจากยังปรับทิศทางเป็นองค์กรนวัตกรรมพลังงานสีเขียว ตอบโจทย์ความยั่งยืน มีการทำงานวิจัยพัฒนาโดยเน้นความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งยังสร้างแพลตฟอร์ม BIOSPHERE ที่ช่วยพัฒนาบุคลากรและเชื่อมโยงอาจารย์ นักวิจัย และสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยี เพื่อร่วมสร้างอีโคซิสเต็ม ตลอดจนมีการลงทุนในสตาร์ทอัพและลงทุนในต่างประเทศ ฝากถึงสตาร์ทอัพไทยว่าถ้ามองเรื่องขนาดตลาดหรือการเติบโตเพียงระดับภายในประเทศตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม และหากไม่รู้จักธุรกิจดีพอ อาจทำให้ไปไม่ถึงซีรีส์เอ
มุ่งสู่ตลาดต่างประเทศ ต้องพร้อมทั้ง เงิน ความรู้ คน และโอกาส
ดร.กริชผกา เปิดประเด็นว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายบนเวทีเสวนา เห็นพ้องต้องกันคือการเติบโตสู่ตลาดต่างประเทศ โดยต้องมีความพร้อมทั้งเรื่องเงิน ความรู้ คน และโอกาสทางธุรกิจ ที่ผ่านมา NIA มุ่งภารกิจ 7 ด้าน ได้แก่ 1. การหนุนองค์กรนวัตกรรม 2. การสร้างคน 3. การสร้างและการใช้ประโยชน์จากอุทยานวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ 4. การสร้างโอกาสในภูมิภาค 5. การทำกฎระเบียบข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำนวัตกรรม รวมถึงการปลดล็อคต่างๆ 6. หนุนไทยให้เป็นชาตินวัตกรรม 7. เพิ่มศักยภาพในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤตคลี่คลาย หลายประเทศเริ่มเปิดเมืองเพื่อกลับมาเชื่อมโยงกันอีกครั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรเหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถสร้างโอกาสให้ทำธุรกิจได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยและประเทศไทยต้องร่วมกันผลักดันให้ได้
จากมุมมองของเหล่าผู้นำองค์กร อาจกล่าวได้ว่า ในยุคหลังโควิดที่ไม่มีอะไรกลับไปเหมือนเดิม ทุกอุตสาหกรรมต่างเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากหลากหลายด้าน ซึ่งเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสได้พร้อมกัน การปรับตัวรวมถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญตลอดจนนโยบายกำกับดูแลจากภาครัฐที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งหมดนี้คือความท้าทายที่จะทำให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้ด้วยกัน