November 24, 2024

ตามไปดู 7 สุดยอดผู้จำหน่ายไฟร์วอลล์แบบ Next-Gen

ยิ่งมีพนักงานเข้าถึงเครือข่ายภายในองค์กรจากระยะไกล ยิ่งมีหลายบริษัทเลือกใช้ระบบแบบไฮบริดจ์คลาวด์ ท่ามกลางอันตรายด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนี้ ทำให้เทคโนโลยีไฟร์วอลล์สำคัญมากต่อการรักษาความถูกต้อง ความปลอดภัย และความมั่นคงของทุกองค์กร

ไฟร์วอลล์แบบเก่านั้นเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่คอยตรวจทราฟิกที่จุดเข้าออก ร่วมกับให้บริการเครือข่ายส่วนตัวแบบเวอร์ช่วล (VPN) และเข้ารหัสข้อมูลให้ ไฟร์วอลล์จะตรวจทราฟิกตามสเตต พอร์ต และโปรโตคอล

รวมทั้งควบคุมทิศทางทราฟิกที่วิ่งผ่าน ในไฟร์วอลล์แบบเดิมนี้ ฟีเจอร์ความปลอดภัยชั้นสูงมักต้องอาศัยอุปกรณ์และบริการแยกต่างหากนอกแพลตฟอร์มตัวเอง ขณะที่ไฟร์วอลล์ยุคใหม่อย่าง Next-generation firewalls (NGFW) จะมาพร้อมฟีเจอร์เพิ่มเติม

ไม่ว่าจะเป็น Deep Packet Inspection (DPI), Integrated Intrusion Protection (IIP), ตัวคัดกรองเว็บ, แอนติไวรัส, แอนติสแปม, แอนติมัลแวร์, ฟีเจอร์ตรวจทราฟิกเข้ารหัส SSL หรือ SSH โดยทั้งหมดนี้ใช้ตรวจจับและจำกัดขอบเขตอันตรายได้แบบเรียลไทม์

ยิ่งยุคนี้ไฟร์วอลล์ไม่ได้เป็นแค่อุปกรณ์ที่ตั้งอยู่ในดาต้าเซ็นเตอร์แล้ว ด้วยการใช้งานคลาวด์ทำให้ไฟร์วอลล์ต้องให้ฟีเจอร์ที่มากกว่าแค่ตัวอุปกรณ์แบบกายภาพ ตัวอย่างเช่นแอพพลายแอนซ์แบบเวอร์ช่วล เป็นบริการไฟร์วอลล์ผ่านคลาวด์ (FWaaS) และแบบคอนเทนเนอร์

ซึ่งจากการวิเคราะห์ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ NGFW ที่ดีที่สุด โดยพิจารณาจากจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละเจ้า อิงตามรายงานของกลุ่มนักวิเคราะห์ในตลาดที่เกี่ยวข้องอย่าง Gartner และ IDC โดยแต่ละรายกุมส่วนแบ่งตลาดหลักๆ ทั้งสิ้น ได้แก่

1. Palo Alto Networks

จุดเด่นได้แก่ผลิตภัณฑ์ที่มีหลากหลายให้เลือก พร้อมระบบจัดการจากศูนย์กลาง ขณะที่จุดอ่อนอยู่ที่ราคาค่อนข้างสูง Palo Alto Networks มีรูปแบบ NGFW ให้เลือกมากมายทั้งแบบฮาร์ดแวร์ (PA), เวอร์ช่วล (VM), FWaaS (Prisma Access), และ Containerized (CN)

2. Fortinet

จุดแข็งอยู่ที่สายผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่งในพื้นที่ตัวเองมาโดยตลอด พร้อมระบบจัดการรวมหนึ่งเดียว แต่ขาด PoP ที่จะให้บริการครอบคลุมทั่วโลก โดยกลุ่มโซลูชั่น NGFW ใหม่อย่าง FortiGate นั้นมีทั้งในรูปฮาร์ดแวร์ เวอร์ช่วลแอพพลายแอนซ์ และแบบ FWaaS

3. Cisco

ซิสโก้นี่เด่นเรื่องผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากให้เลือก เพียงแต่แบรนด์ดังก็มักราคาแพงมากด้วย ซิสโก้มีเกือบทุกโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันการบุกรุก การป้องกันมัลแวร์ขั้นสูง แซนด์บ็อกซ์ผ่านคลาวด์ ตัวคัดกรอง URL ระบบปกป้องเอนด์พอยต์ เป็นต้น

4. Check Point Software Technologies

จุดเด่นของเจ้านี้เลยคือการเน้นเอาดีด้านความปลอดภัยโดยเฉพาะ เพียงแต่ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ร่วมกับ SD-WAN โดยเฉพาะเช่นกัน Check Point นั้นโดดเด่นด้านการป้องกันสกัดกั้นการโจมตี มีทั้งฮาร์ดแวร์ (Quantum) และอุปกรณ์เวอร์ช่วล บริการคลาวด์ในแบรนด์ CloudGuard

5. Juniper

ข้อดีอยู่ที่ระบบตรวจจับอันตรายขั้นสูง แต่ด้อยตรงไล่ตามเจ้าอื่นอยู่ในการบุกตลาด FWaaS กับ SASE โดย Juniper มีเกตเวย์บริการภายใต้ซีรี่ย์ SRX ตั้งแต่อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์, เวอร์ช่วล (vSRX) ที่โฮสต์ได้เกือบทุกคลาวด์, และแบบคอนเทนเนอร์ (cSRX)

6. SonicWall

โดดเด่นเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ค่อยเห็นด้าน FWaaS และคอนเทนเนอร์เท่าไร SonicWall มีสายผลิตภัณฑ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์อยู่สามซีรี่ย์คือ TZ, NSa, และ NSsp และเวอร์ช่วลไฟร์วอลล์ในซีรี่ย์ NSv ที่โฮสต์บนไฮเปอร์ไวเซอร์ตัวเอง หรือใช้บน AWS/Azure ก็ได้

7. Sophos

มีจุดเด่นที่ระบบตอบสนองต่ออันตรายที่จัดการผ่านคลาวด์ แต่เสียที่ไม่มี FWaaS หรือคอนเทนเนอร์เช่นกัน Sophos มีทั้งด้านฮาร์ดแวร์ (XGS Series และ SD-RED), ระบบจัดการความปลอดภัยบนคลาวด์แบบองค์รวม (CSPM) ในชื่อ Cloud Optix เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า Next-Generation Firewall แต่ละเจ้ามีจุดเด่นจุดด้อยต่างกันไป ความปลอดภัยบนเน็ตเวิร์กก็ยิ่งทวีความสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน ทั้งการเติบโตของการโจมตีโดยเฉพาะแรนซั่มแวร์ ดังนั้นเราเป็นผู้บริหารแล้ว

ก็ควรพิจารณาผลิตภัณฑ์ NGFW ใดๆ ให้ดี ให้ถี่ถ้วนที่สุด ก่อนจะเลือกก่อนเอามาใช้กับระบบโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อเลยว่าถ้าได้โซลูชั่นที่เหมาะกับความต้องการ สภาพแวดล้อมการทำงานของเรามากที่สุด จะคุ้มกับการเสียเวลาเลือกแน่นอน

อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – Networkworld