November 28, 2024

เภสัชศาสตร์ มธ. คว้าชนะเลิศแผนการตลาด ‘เอลด้าแบนด์ ’ นาฬิกาอัจฉริยะ เตือนสูงวัยก่อนล้ม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกระดับบทบาทเภสัชกรตอบรับ ‘การแพทย์แม่นยำ’ พร้อมพัฒนาเภสัชกรไทยยุคดิสรัพชั่น ล่าสุดทีมนักศึกษาคิดค้นนวัตกรรม และแผนการตลาด เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND) นาฬิกาอัจฉริยะช่วยป้องกันและตรวจจับก่อนการล้มในผู้สูงอายุ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศจาก ‘การประกวดแผนการตลาดของสมาคมเภสัชกรการตลาด (MPAT) โปรเจ็ค Start-up Pharma’ จัดโดย ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) และสมาคมเภสัชกรการตลาด (ประเทศไทย)

รศ.ดร.เภสัชกร อรัมษ์ เจษฎาญานเมธา คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก้าวไกลไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเภสัชกรรมและสุขภาพยุคดิสรัพชั่น  มุ่งใช้ศักยภาพและยกระดับบทบาทเภสัชกรให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วย สาธารณสุขและเศรษฐกิจของไทยมากยิ่งขึ้น เภสัชกรเป็นหนึ่งในสหวิชาชีพที่ทำงานด้านยาซึ่งมีผลกระทบสำคัญยิ่งในการบำบัดรักษาผู้ป่วย เคียงข้างแพทย์ พยาบาล โภชนากร และที่สำคัญคือเราส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ด้านเภสัชกรรมผนวกเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านยาและเฮลท์เทคหรืออุปกรณ์การแพทย์ของไทย  การริเริ่มแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมและแผนการตลาด เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND)  นาฬิกาอัจฉริยะ เตือนผู้สูงวัยก่อนล้ม ทีมงานประกอบด้วย 4 นักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ นส.ยงธิดา แสวงสุข น.ส.ณัฐกฤตา ครองแถว นายสรัช ธีระสุต และนายธนกฤต โสเจยยะ โดยมี ดร.เภสัชกร สุจินต์ นิทัศน์ปกรณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยสร้างชื่อเสียงคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดแผนการตลาดระดับประเทศของสมาคมเภสัชกรการตลาด หรือ MPAT Award : Start-Up Pharma และขณะนี้ทางทีมงานผู้เข้าประกวดได้นำแนวคิดนวัตกรรม และแผนการตลาดของเอลด้าแบนด์เข้าสู่โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TU 88 Sand Box โดยระยะเวลาดำเนินงานของโครงการคือตั้งแต่ ก.พ. – ธ.ค. 2565 เพื่อบ่มเพาะพัฒนาแนวคิดของนวัตกรรมนี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์เฮลท์เทคที่รองรับสังคมสูงวัย โดยการสนับสนุนของผู้เชี่ยวชาญ แหล่งเงินทุนและการตลาด

ท่ามกลางคลื่นดิจิทัลดิสรัพชั่น เภสัชกรไทยต้องเปลี่ยนผ่านเป็น เภสัชกรทีมีความสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งบ่มเพาะให้เภสัชกรคนรุ่นใหม่เปี่ยมพลังของการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง ปรับตัวได้ สามารถใช้เทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นนวัตกรรม รู้จักการผนึกความร่วมมือและการบริการด้านเภสัชกรรมที่เป็นเลิศ ภายใต้ความก้าวหน้าของการเรียนรู้ที่เน้นการทำโปรเจค (Project- Based Learning) และการบูรณาการความรู้แขนงต่างๆ และทักษะที่จำเป็นในการทำงานสำหรับคนรุ่นใหม่เพื่อนักศึกษาทุกคนจะมีความรู้ทางวิชาการควบคู่กับทักษะปฏิบัติจริง โดยฝึกฝนวิจัยในห้องปฏิบัติการที่ครบครันทันสมัยด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยี การฝึกวิชาชีพเภสัชกรรม

ยงธิดา แสวงสุข หรือ ต้องตา นักศึกษาปีที่ 5 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง ที่มาของแรงบันดาลใจในการริเริ่มแนวคิดนวัตกรรม และแผนการตลาดของเอลด้าแบนด์ (ELDARBAND) ว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วโดยมีจำนวนกว่า 13 ล้านคน ‘การล้ม’ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของผู้สูงอายุ แนวคิดของการสร้างและพัฒนานวัตกรรม เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND) เพื่อตอบโจทย์ในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวให้มีความปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที โดยทีมนำความรู้ทางด้านเภสัชศาสตร์ผนวกกับเทคโนโลยีมาเพื่อริเริ่มการสร้างแผนการตลาดของนวัตกรรม ELDARBAND เพื่อใช้แนวคิดนี้แก้ปัญหานี้ได้โดยแจ้งเตือน อีกทั้งช่วยตรวจจับปัญหาสุขภาพ เช่น ตรวจจับยาที่รับประทานที่มีผลข้างเคียง ง่วงนอน เวียนหัว ส่วนแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตนั้นจะเน้นความง่าย เพียงสวมข้อมือเหมือนนาฬิกาซึ่งมีเลขบอกเวลา หากผู้สูงอายุเคลื่อนไหวกะทันหันผิดไปจากปกติ อุปกรณ์ก็จะแจ้งเตือนด้วยการสั่นและเสียง อีกทั้งเพิ่มแนวคิดที่จะพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์สามารถส่งข้อมูล GPS ระบุตำแหน่งและข้อมูลจำเฉพาะที่จำเป็นต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงโดยทันที หากเกิดข้อผิดพลาดในการแจ้งเตือน ผู้ใช้งานสามารถกดยกเลิกได้ นอกจากนี้ยังมีปุ่มที่สามารถติดต่อไปยังแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพได้โดยตรงอีกด้วย

จุดเด่นของ ELDARBAND ที่ทางทีมได้เตรียมไว้ คือจะสร้างให้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นแบนด์อัจฉริยะหนึ่งเดียวที่มีฟังก์ชั่นป้องกัน ‘ก่อนการล้ม’ ด้วยการตรวจจับสถานะสุขภาพของผู้สูงวัย ได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดัน ระดับน้ำตาล ระดับออกซิเจนในเลือด อุณหภูมิร่างกายและผิวหนัง โดยหากผู้ใช้งานมี ‘ความเสี่ยงที่จะล้ม’ เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND)  จะแจ้งเตือนไปยังแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อทันที พร้อมส่งต่อ Health Data ให้แพทย์ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

การริเริ่มแนวคิดนวัตกรรมและแผนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ในอนาคต เป็นความประทับใจในชีวิตการเป็นนักศึกษาที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีโอกาสฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นจริง เปิดกว้างในการแสดงออก หล่อหลอมความเข้าอกเข้าใจในผู้ใช้นวัตกรรม ทำให้คนรุ่นใหม่ผสานองค์ความรู้ในหลายแขนง ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการดูแลผุ้ป่วย และการเป็น Startup ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ความฝันในระยะใกล้คือ ทางทีมงานต้องการพัฒนาแนวคิดของELDARBAND ให้เป็นจริงโดยทางทีมงานได้เข้าร่วมโครงการ “88 Sandbox” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาบ่มเพาะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปดูแลคนไทยผู้สูงวัยทั่วประเทศกว่า 13 ล้านคนให้เกิดขึ้นได้จริง และสามารถนำออกสู่ตลาดได้จริง ทำให้ผู้สูงอายุ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย อีกความฝันในอนาคตคือ อยากจะใช้ความรู้ทางเภสัชศาสตร์ และศาสตร์แขนงอื่น ๆที่ได้เรียนมาในการก่อตั้งบริษัทยาและเครื่องมือแพทย์ ที่ตอบโจทย์สุขภาพในอนาคตเพื่อช่วยให้คนไทยและคนทั่วโลกมีคุณภาพชีวิตและมีอายุที่ยืนยาวขึ้น

ด้าน สรัช ธีระสุต หรือ อิกคิว หนุ่มนักศึกษาปีที่ 5 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง ประโยชน์และประสบการณ์การร่วมทำงานการริเริ่มแนวคิดในการนวัตกรรม และแผนการตลาดนี้ว่า ผลิตภัณฑ์จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ จากการศึกษาพบว่า การล้ม 1 ครั้งในผู้สูงอายุ 1 คนนั้น จะส่งผลให้เกิดความเสียหาย 1.2 ล้านบาท คน/ปี  การหกล้มไม่เพียงแต่ทำให้บาดเจ็บเท่านั้น แต่คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยจะเปลี่ยนไป ไม่สามารถกลับมาเดินหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัวไปด้วย แนวคิดการสร้างนวัตกรรม และแผนการตลาดของ ELDARBAND จึงเข้ามาปิดรูรั่วตั้งแต่การป้องกันการล้มในผู้สูงอายุไปจนถึงประหยัดงบในการดูแลผู้ป่วยของภาครัฐ จึงหวังว่าการพัฒนาเพื่อให้ ELDARBAND สามารถเกิดขึ้นได้จะเป็นอีกหนึ่งพลังสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ที่มอบให้คนไทยผู้สูงวัยได้มีสุขภาพนอนาคตดีขึ้นและสะดวกสบายมากขึ้น

“เภสัชกรในยุคดิสรัพชั่นต้องปรับตัวและสามารถนำการเปลี่ยนแปลง มีทักษะคาดการณ์และวิเคราะห์แนวโน้มสิ่งต่างๆ อย่างรอบด้าน ผมศึกษาที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มา 5 ปี ทุกวันคือ ความท้าทายและการเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ของเภสัชกรยุคใหม่ที่กว้างขึ้น ไม่เพียงเรียนรู้เฉพาะเพียงเรื่องยาเท่านั้น แต่สามารถบูรณาการความรู้ทั้งวิชาการ เทคโนโลยี การตลาด การบริหารธุรกิจ รวมถึงด้านกฎหมาย สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีความพร้อม นำไปต่อยอดพัฒนาเฮลท์เทค แบรนด์สินค้า อุตสาหกรรมการผลิตยาและสุขภาพ ฯลฯ เชื่อว่าบทบาทเภสัชกรยุคใหม่จะนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมมากยิ่งขึ้น เราต้องใช้ประโยชน์นำเทคโนโลยีผนวกกับยารักษาโรค เก็บข้อมูลผู้ป่วยแต่ละบุคคล วันนี้ต้องมองไกล ไทยเรามีผู้สูงอายุกว่า 20% ของประชากรแล้ว”

ในอนาคตโลกเรายังจะมีความท้าทายและปัญหาใหม่ๆทางสุขภาพเพิ่มขี้น และอาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นเภสัชกรจึงเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในด้านการคิดค้นนวัตกรรมยาและเฮลท์เทค เพื่อชีวิตวิถีใหม่ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น