วิวัฒนาการของระบบยืนยันตัวตนและควบคุมการเข้า-ออก จนปัจจุบันที่มือถือมีบทบาทสำคัญ
เป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว ที่มนุษย์เราได้คิดค้นวิธีควบคุมการเข้า-ออก เช่น ในสมัยอารยธรรมโบราณ สิ่งก่อสร้างต่างๆ อย่างสุสานในอียิปต์ก็ต้องมีทางเข้าพิเศษ ทั้งการเลื่อนหินเพื่อปกปิดทางเข้าและทำห้องโถงให้วกวนเพื่อให้หลงทิศทาง ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สมบัติจากคนภายนอก ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคสมัยใหม่ การควบคุมการผ่านเข้า-ออกได้มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องและสลับซับซ้อนมากขึ้น
จวบจนศตวรรษที่ 20 โซลูชั่นควบคุมการเข้า-ออก ก็ได้พัฒนาจนสามารถยืนยันตัวตนของผู้อยู่อาศัยอยู่ในอาคาร และเปิดประตูหรือทางเข้าผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ได้ หลังจากนั้นมา องค์กรต่างๆ ก็มีทางเลือกมากมายในการเลือกใช้โซลูชั่นเพื่อยืนยันตัวตน (credential solutions) ทั้งการ์ดที่มีแถบแม่เหล็ก การรับรองตัวตนแบบพร็อกซ์ (125 kHz) ไปจนถึงโซลูชั่นแบบไร้สัมผัส และการใช้โทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน เมื่อมองพัฒนาการของการควบคุมการเข้า-ออกของทุกวันนี้แล้ว หลายๆ องค์กรก็ตระหนักว่า ถึงเวลาที่จะต้องทำการอัพเกรดระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
Jim Dearing ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ธุรกิจ PAC Core Solutions บริษัท HID Global ได้เปิดเผยว่า งบประมาณมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเลือกโซลูชั่นควบคุมความปลอดภัย แต่การประหยัดงบประมาณในเรื่องความปลอดภัยนั้น อาจเป็นบทเรียนราคาแพง เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าความเสียหาย (ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน) ที่มาจากการถูกละเมิดความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยของบุคคล สินทรัพย์ และ ชื่อเสียง ดังนั้นการลงทุนโซลูชั่นการยืนยันตัวตนที่ปลอดภัยและรับประกันการใช้งานในอนาคตมากขึ้น จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว
หลายสิบปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการยืนยันตัวตน และควบคุมการเข้า-ออก ได้มีวิวัฒนาการดังนี้
ยุคหลังการล็อคและกุญแจ
เทคโนโลยีบัตรรูด (Swipe Technologies) ที่เริ่มขึ้นในยุค 80s พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่าการล็อคด้วยมือและกุญแจแบบเดิมที่เคยใช้กันทั่วไป เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้องค์กรต่างๆ บริหารจัดการและติดตามตรวจสอบได้ว่ามีผู้ใดเข้า-ออกบ้าง นอกจากนี้ การเปิดประตูหรือทางเข้า-ออกก็ทำได้ง่าย รวมทั้งการริบคืนโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวล็อค แต่เทคโนโลยีบัตรรูดก็มีข้อจำกัดเพราะไม่ปลอดภัย รวมทั้งการจัดการบัตรที่ชำรุดและเครื่องอ่านที่มีอายุ ก็มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลามาก
ในช่วงยุค 90 ข้อด้อยของเทคโนโลยีบัตรรูดได้ทำให้คนหันมาใช้เทคโนโลยีพร็อกซ์ซิมิตี้ (Prox credential technology) หรือที่รู้จักกันว่าระยะความถี่ต่ำ การใช้คลื่นความถี่วิทยุ 125 kHz ทำให้บัตรสามารถสื่อสารกับเครื่องอ่านบัตรในระยะหลายนิ้วซึ่งทำให้ผู้ใช้งานยืนยันตัวตนและผ่านเข้าประตูได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ พร็อกซ์ซิมิตี้ ยังใช้ได้กับบัตรเข้า-ออกทั้งที่เป็นสายห้อยและป้าย tag รวมถึงบัตรต่างๆ ทำให้ผู้ใช้งานมีทางเลือกและความยืดหยุ่นมากขึ้น พร็อกซ์จึงนับเป็นปรากฏการณ์ของวงการอิเล็กทรอนิกส์ในการควบคุมการเข้า-ออก เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน รวมทั้งขจัดความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีพร็อกซ์ซิมิตี้ไม่ได้มีการเข้ารหัสไว้ จึงทำให้บัตรสามารถถูกก๊อปปี้หรือทำซ้ำได้ง่าย
เทคโนโลยีสำหรับยุคนิวมิลเลนเนียม
ข้อจำกัดข้างต้นได้กรุยทางให้เกิดสมาร์ทการ์ดแบบไร้สัมผัสซึ่งใช้คลื่นความถี่สูงกว่า (13.56 MHz) เพื่อการติดต่อสื่อสารในระดับที่สูงขึ้น “สมาร์ทการ์ด” รุ่นแรกที่ตีตลาดในช่วงเริ่มต้นของยุคนิวมิลเลนเนียม เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมาก เช่น MIFARE® และ iCLASS® ที่มาพร้อมชุดกุญแจเข้ารหัสข้อมูลคล้ายกับรหัสผ่านที่เครื่องอ่านใช้เพื่อยืนยันข้อมูลในการ์ด สมาร์ทการ์ดเหล่านี้สามารถบรรจุข้อมูลอย่างอื่นๆ ตามที่เลือกสรรได้ ทำให้สามารถใช้งานแบบอื่นๆ ได้ เช่น การบรรจุมูลค่าสกุลเงินแบบดิจิตอล แต่ก็ยังพบข้อด้อยเช่นเดียวกับเทคโนโลยีก่อนหน้านี้ คือสมาร์ทการ์ดรุ่นแรกๆ เหล่านี้ ไม่ได้สมาร์ทสักเท่าไร เพราะเทคนิคการแฮกพัฒนามากขึ้นและสามารถปลอมแปลงการ์ดเหล่านี้ได้
สมาร์ทการ์ดที่ชาญฉลาดและปลอดภัยมากขึ้น
หลังจากนั้น ได้มีสมาร์ทการ์ดรุ่นใหม่ๆ เผยโฉมตามมา ที่ใช้เทคโลยีที่ทันสมัย ซึ่งรวมถึง Seos® และ MIFARE DESFire EV3 ซึ่งต่างจากเทคโนโลยีรุ่นก่อนๆ เพราะโดดเด่นด้วยคุณสมบัติด้านความปลอดภัยที่ล้ำหน้า ได้แก่การยืนยันตัวตนซึ่งกันและกันระหว่างเครื่องอ่านบัตรและสมาร์ทการ์ด ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้อัลกอริทึมการเข้ารหัสข้อมูลสมัยใหม่ เทคโนโลยีเหล่านี้ปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานได้มากขึ้น และปกป้องข้อมูลหากไม่มีการยืนยันตัวตนที่ถูกต้อง
เทคโนโลยีระบุตัวตนสมัยใหม่ยังรับประกันการใช้งานที่ราบรื่นสำหรับอนาคต ที่เชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งนับเป็นข่าวดีสำหรับองค์กรที่ต้องการโซลูชั่นสำหรับการเข้า-ออกที่ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และใช้ได้ทั้งที่เป็นการ์ดสำหรับการเข้า-ออก โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต อุปกรณ์พกพาและใช้ระบุตัวตนต่างๆ ที่สามารถเชื่อมต่อได้ผ่านบลูทูธ การสื่อสารระยะใกล้ และเครื่องรับส่งไร้สายอื่นๆ
ความสะดวกในการใช้งานและยุคสมัยของโทรศัพท์มือถือ
การยืนยันตัวตนผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นความก้าวหน้าล่าสุดของระบบควบคุมการเข้า-ออก ในยุคของมือถือนี้ ผู้บริโภคมีความคาดหวังว่าจะใช้มือถือทำได้ทุกอย่าง จึงไม่น่าแปลกใจว่าความต้องการในการยืนยันตัวตนผ่านมือถือจะพุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับที่เทคโนโลยีพร็อกซ์ซิมิตี้ เคยให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้งาน จนส่งผลให้การ์ดแถบแม่เหล็กตกกระป๋องไป มือถือก็ให้ความสะดวกแบบเดียวกันเมื่อเทียบกับการ์ดทั่วๆ ไป แล้วทำไมผู้คนจะต้องพกพาทั้งการ์ดและมือถือ ในเมื่อแค่มีมือถือ ก็ทำได้ทุกอย่างแล้ว
สำหรับผู้ที่ทำงานด้านความปลอดภัย ประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้ก็มีอย่างรอบด้าน อาทิ ความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้น การรับประกันการใช้งานในอนาคตได้เพราะสามารถทำการอัพเกรดการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นทางเลือกใหม่ของระบบการเข้า-ออกแบบไร้สัมผัสที่ดีกว่า และสามารถส่งมอบและยกเลิกบัตรที่ใช้ในโทรศัพมือถือผ่านทางระบบเครือข่ายได้ การเชื่อมรวมซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุมการเข้า-ออก และบริหารจัดการผู้มาติดต่อ (Visitor management) เข้าไว้ด้วยกัน
เครื่องมือที่ใช้ควบคุมการเข้า-ออกได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่เพียงแค่สร้างความมั่นใจเรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวเท่านั้น แต่การใช้งานก็สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เพื่อโลกแห่งการใช้มือถือที่ปลอดภัยและชาญฉลาด