WhoFi : เทคโนโลยีใหม่ใช้สัญญาณ Wi‑Fi และ AI ระบุตัวบุคคลได้ โดยไม่ต้องใช้กล้องหรืออุปกรณ์ติดตัว แม่นสุดๆ

เทคโนโลยี Wi‑Fi ไม่ได้มีไว้แค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอีกต่อไป เมื่อทีมวิจัยจากอิตาลีพัฒนา “WhoFi” ระบบที่สามารถระบุตัวบุคคลจากสัญญาณ Wi‑Fi เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องใช้กล้อง เซ็นเซอร์ภาพ หรืออุปกรณ์สวมใส่ อะไรทั้งสิ้น
งานวิจัยนี้เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัย La Sapienza กรุงโรม โดยอาศัยหลักการที่ว่า ทุกครั้งที่สัญญาณ Wi‑Fi สะท้อนผ่านร่างกายมนุษย์ มันจะเกิดรูปแบบเฉพาะตัวขึ้น ซึ่งสามารถนำมาใช้สร้าง “ลายนิ้วมือดิจิทัล” เพื่อระบุบุคคลได้แม่นยำ
ทีมวิจัยใช้ข้อมูลที่เรียกว่า Channel State Information (CSI) จากสัญญาณ Wi‑Fi ซึ่งสามารถแยกรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่พาดผ่านร่างกายมนุษย์ แล้วนำมาประมวลผลด้วยโมเดล AI ประเภท Deep Neural Network โดยเฉพาะแบบ Transformer ที่สามารถดึงข้อมูลเฉพาะตัวของบุคคลออกมาได้อย่างแม่นยำ
ระบุตัวได้แม้ไร้อุปกรณ์ – แม้ไม่ได้อยู่ที่เดิม
ความสามารถหลักของ WhoFi คือสามารถแยกความแตกต่างของบุคคล แม้จะอยู่ในตำแหน่งต่างกัน หรือเปลี่ยนสถานที่ไปแล้วก็ตาม ระบบสามารถตรวจจับและจำแนกบุคคลได้แม่นยำถึง 95.5% บนชุดข้อมูล NTU-Fi ซึ่งเก็บจากอาสาสมัคร 14 คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบควบคุม
เมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยก่อนหน้า เช่น EyeFi ที่ใช้เทคนิคคล้ายกันแต่มีความแม่นยำเพียง 75% จะเห็นได้ว่า WhoFi เป็นการยกระดับครั้งสำคัญในแวดวงการระบุตัวบุคคลผ่านเครือข่ายไร้สาย
ข้อดีที่กล้องทำไม่ได้
เทคโนโลยี WhoFi มีข้อได้เปรียบที่กล้องวิดีโอไม่สามารถทำได้หลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องความยืดหยุ่นในการตรวจจับและความเป็นส่วนตัวที่ดีกว่า การระบุตัวบุคคลผ่าน Wi‑Fi ไม่ต้องอาศัยภาพถ่ายหรือกล้อง ทำให้ไม่ถูกจำกัดด้วยแสงสว่าง มุมกล้อง หรือการบดบังจากวัตถุในฉาก อีกทั้งยังสามารถตรวจจับบุคคลที่อยู่หลังผนังบาง ๆ ได้ เนื่องจากสัญญาณ Wi‑Fi สามารถทะลุผ่านสิ่งกีดขวางในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่เทคโนโลยีการมองเห็นไม่สามารถทำได้
นอกจากนี้ ระบบยังใช้ฮาร์ดแวร์ราคาย่อมเยา เช่น เราเตอร์ TP‑Link รุ่น N750 ราคาถูก ก็สามารถเก็บข้อมูลสัญญาณเพื่อนำไปประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นโซลูชันที่เข้าถึงได้ง่าย และเหมาะสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในสถานที่ที่ไม่สามารถติดตั้งกล้องได้ เช่น ห้องน้ำ โรงพยาบาล หรือบ้านพักผู้สูงอายุ ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวควบคู่กับการเฝ้าระวังอย่างปลอดภัย
ความแม่นยำก็แลกมากับความเสี่ยง
แม้จะดูเหมือนก้าวหน้า แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นส่วนตัวยอมรับว่า ระบบแบบนี้อาจถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของร่างกาย โดยเฉพาะหากเชื่อมโยงกับระบบเฝ้าระวังขนาดใหญ่ หรือเครือข่ายข้อมูลส่วนบุคคลข้ามสถานที่ หรือใช้ในภาระกิจจารกรรม
นอกจากนี้ การทดสอบยังอยู่ในห้องทดลอง ไม่ได้จำลองสภาพแวดล้อมจริงที่มีสัญญาณรบกวน การเคลื่อนไหวหลายรูปแบบ หรือคนจำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม WhoFi คือภาพตัวอย่างของอนาคตที่เทคโนโลยีสื่อสารจะไม่ได้มีไว้แค่รับ-ส่งข้อมูลอีกต่อไป แต่สามารถแปลงคลื่นวิทยุให้กลายเป็น “เซ็นเซอร์ชีวภาพ” ที่ตรวจจับมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ
ไม่ว่าจะใช้เพื่อความปลอดภัย การดูแลผู้สูงอายุ การติดตามคนร้าย หรือวิเคราะห์พฤติกรรมในพื้นที่เฉพาะ เทคโนโลยีนี้อาจเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราตีความ “พื้นที่ส่วนตัว” อย่างสิ้นเชิง
แต่การเติบโตของ WhoFi และเทคโนโลยีคล้ายกัน ควรมาพร้อมกับกฎหมายด้านจริยธรรมและการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลอย่างรอบคอบ เพราะ “แค่ยืนอยู่ในรัศมีสัญญาณ Wi‑Fi” ก็อาจเพียงพอให้ระบบรู้ว่าเราเป็นใคร