July 14, 2025

Telefónica แก้เผ็ด Broadcom หันไปซื้อไลเซนส์ VMware ถาวรมือสอง เปลี่ยนบริษัทซัพพอร์ตใหม่ หลังเจอค่าต่ออายุพุ่ง 500%

Telefónica Germany บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ในยุโรป ออกมาตอบโต้การขึ้นราคาซอฟต์แวร์ VMware ของ Broadcom ด้วยวิธีที่เหนือชั้น ทั้งซื้อไลเซนส์ถาวรมือสองมาใช้แทน subscription และเปลี่ยนผู้ให้บริการซัพพอร์ตจาก Broadcom ไปเป็นบริษัทอื่นแทน หลังจากพบว่าราคาต่ออายุที่ Broadcom เสนอให้นั้นแพงขึ้นจากเดิมถึง 500%

ภายหลัง Broadcom เข้าซื้อกิจการ VMware เมื่อปี 2023 บริษัทยักษ์ด้านชิปและซอฟต์แวร์ก็เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการขายอย่างชัดเจน โดยยกเลิกไลเซนส์แบบซื้อขาด (perpetual) แล้วเปลี่ยนเป็นระบบ subscription รายปีแบบ bundled ที่รวมทุกฟีเจอร์ไว้ในชุดเดียวกัน เช่น VMware Cloud Foundation (VCF) ซึ่งรวมทั้ง vSphere, vSAN, NSX และซอฟต์แวร์อื่นๆ

แม้จะดูเหมือนแพ็กเกจ “คุ้มค่า” แต่สำหรับ Telefónica กลับเป็นสิ่งที่ ไม่จำเป็นและเกินความต้องการ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาใช้จริงแค่เพียง vSphere เวอร์ชัน 8.0 และ 7.0 เท่านั้น

“Broadcom บอกเราว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดี แต่ก็ยื่นเสนอราคาค่าต่ออายุให้เราสูงขึ้นถึง 500%” Holger Berndt, หัวหน้าฝ่ายจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ของ Telefónica German กล่าว

Berndt ย้ำว่า Telefónica จ่ายค่าซอฟต์แวร์ VMware ไปแล้วกว่า 300 ล้านบาทภายใน 3 ปีที่ผ่านมา และไม่เห็นความชอบธรรมใดๆ ในการขึ้นราคาขนาดนี้ โดยเฉพาะเมื่อองค์กรไม่ได้ใช้ทุกฟีเจอร์ที่ถูกยัดมาในแพ็กเกจ VCF

โชคดีที่ช่วงเวลาดังกล่าว Telefónica ได้รับแจ้งจาก Broadcom ล่วงหน้าในเดือนสิงหาคมว่าการสนับสนุนจะหมดอายุภายในสิ้นปี จึงมีเวลาเตรียมการรับมือ

เปลี่ยนผู้ดูแล VMware ไปใช้ Spinnaker

เมื่อสัญญาซัพพอร์ตของ VMware สิ้นสุดลงต้นปี 2025 Telefónica ตัดสินใจไม่ต่ออายุ และเลือกบริษัท Spinnaker เข้ามารับหน้าที่ดูแลระบบ VMware แทน Broadcom อย่างเป็นทางการ

สำหรับ Telefónica บริษัท Spinnaker ไม่ใช่ชื่อใหม่เลย เพราะก่อนหน้า บริษัทนี้ก็เป็นผู้ให้บริการ support ด้านระบบ Oracle ให้กับบริษัทอยู่แล้ว จุดแข็งของ Spinnaker คือการให้บริการ third-party maintenance ที่มีทีมวิศวกรระดับโลกและมีประสบการณ์ดูแลระบบขนาดใหญ่โดยตรง จึงสามารถเข้ามารับช่วงต่อได้อย่างราบรื่น

แม้จะไม่มีสิทธิเข้าถึงโค้ดซอร์สของ VMware แต่ Spinnaker ใช้แนวทางการดูแลที่เน้นการป้องกันเชิงรุก เช่น การใช้มาตรฐาน CIS Benchmark และแนวทางการ hardening ปรับแต่งระบบให้ปลอดภัยขึ้น เพื่อทดแทนการไม่ได้รับแพตช์ตรงจาก Broadcom

ไลเซนส์มือสองก็มีค่า

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ Telefónica นำมาใช้ร่วมกันคือการกลับไปใช้ไลเซนส์แบบ perpetual หรือแบบซื้อขาด โดยพวกเขาทำการสำรวจระบบภายใน แล้วพบว่าเซิร์ฟเวอร์กว่า 75% ใช้ไลเซนส์แบบ subscription อยู่ พวกเขาจึงหันไปซื้อไลเซนส์แบบซื้อขาดจากซัพพลายเออร์ในตลาดยุโรป เพื่อเปลี่ยนเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดกลับมาใช้ perpetual license 100% ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งเดียวเพื่อแลกกับอิสระในการควบคุมระบบ

แนวทางนี้เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายของสหภาพยุโรป และมีตลาดไลเซนส์มือสองที่ค่อนข้างเติบโตในช่วงหลัง โดยเฉพาะในหมู่บริษัทที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายจาก subscription software

ปัจจุบัน Telefónica มีเครื่อง VM ที่ใช้งานจริงถึง 8,752 ตัว บนเซิร์ฟเวอร์ 660 เครื่อง

เตรียม “ออกจาก VMware”

Berndt กล่าวว่าบริษัทไม่ได้มีความตั้งใจจะเลิกใช้ VMware เลย จนกระทั่ง Broadcom เข้ามาเปลี่ยนนโยบายนี้

“เราไม่เคยคิดจะเลิกใช้ VMware มาก่อน จนกระทั่ง Broadcom เสนอราคาที่แพงขึ้นมาก… เร็วที่สุดที่เราจะย้ายออกจาก VMware ได้คือปลายปี 2026” เพราะต้องวางแผนในทุกมิติ ทั้งงบประมาณ การคำนวณผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงเชิงเทคนิคที่ซับซ้อน

กรณีของ Telefónica Germany แสดงให้เห็นว่าองค์กรขนาดใหญ่ไม่จำเป็นต้องยอมให้ผู้จำหน่ายควบคุมราคาและทิศทางของระบบไอทีทั้งหมด กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดอย่างการซื้อไลเซนส์ถาวรมือสอง และการเปลี่ยนไปใช้บริการ third-party support เป็นแนวทางที่หลายองค์กรสามารถนำไปใช้ได้จริง

ที่มา