July 10, 2025

จับโป๊ะ! วิศวกรซอฟท์แวร์อินเดีย หลอกซิลิคอนแวลลีย์ รับหลายจ๊อบแบบเนียนๆ

วงการเทคโนโลยีในซิลิคอนแวลลีย์ต้องตะลึง เมื่อมีการเปิดโปง โซฮัม พาเรค วิศวกรซอฟต์แวร์ชาวอินเดีย รับงานประจำแบบ Work from Home จากบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งพร้อมกัน บางช่วงเคยทำถึง 4 งานในเวลาเดียวกัน โดยที่แต่ละแห่งไม่รู้ว่าเขากำลังทำงานกับบริษัทอื่นอยู่ด้วย

โซฮัม พาเรค เป็นวิศวกรที่มีทักษะการเขียนโค้ดโดดเด่น สามารถผ่านการสัมภาษณ์ของบริษัทสตาร์ตอัพในสหรัฐฯ ได้อย่างง่ายดาย และได้รับข้อเสนอเงินเดือนสูงถึง ประมาณ 7.2 ล้านบาทต่อปี (200,000 ดอลลาร์สหรัฐ) จากหลายแห่ง แต่เมื่อเริ่มทำงานจริง กลับแทบไม่มีผลงาน และมักใช้ข้ออ้างต่าง ๆ เช่น ป่วย น้ำท่วม อินเทอร์เน็ตล่ม หรือแม้แต่บอกว่าอาคารที่พักของเขาถูกโดรนถล่มจากเหตุความไม่สงบ — ทั้งที่เขาอยู่ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ

พฤติกรรมของพาเรค ถูกเปิดโปงโดย ซูเฮล โดชิ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Mixpanel ที่ออกมาโพสต์เตือนผ่านแพลตฟอร์ม X (Twitter) โดยระบุชื่อชัดเจนว่าเขา “โกหกและหลอกลวง” และมีผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพอีกหลายคนออกมายืนยันว่าเคยถูกพาเรค หลอกในลักษณะเดียวกัน บางบริษัทพบว่าเขารับงานจาก 3-4 บริษัทพร้อมกัน โดยใช้บัญชี GitHub คนละชื่อ และแบ่งเวลาสลับกันไปในแต่ละวันอย่างแนบเนียน

ที่น่าตกใจคือ ในบางกรณี เขาส่งใบสมัครใหม่เข้าไปยังบริษัทใหม่ในขณะที่ยังทำงานอยู่กับอีกบริษัทหนึ่ง และเมื่อถูกจับได้ ก็จะออกจากบริษัทเดิมไปทันที โดยไม่มีการแจ้งเหตุผลใด ๆ

แม้จะถูกวิจารณ์อย่างหนัก พาเรคกลับให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่ได้มีเจตนาหลอกลวง แต่จำเป็นต้องหารายได้จากหลายที่เพื่อเลี้ยงชีพ โดยระบุว่าทำงานมากถึง 140 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละเกือบ 20 ชั่วโมง และมีแรงกดดันทางการเงินจนต้องเลือกวิธีนี้ เขายังกล่าวว่า “ผมเชื่อว่าผมไม่ใช่คนเดียวที่ทำแบบนี้”

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในวงการเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้าน ความโปร่งใสในการจ้างงานระยะไกล หลายบริษัทเริ่มตั้งคำถามถึงกระบวนการตรวจสอบผู้สมัครงาน และความสามารถในการติดตามประสิทธิภาพของพนักงานในยุคที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล

ผู้เชี่ยวชาญบางรายระบุว่า “การรับหลายจ๊อบ” แบบนี้กลายเป็นเทรนด์เงียบในหมู่โปรแกรมเมอร์ที่มีงานจากระยะไกล ที่อาจมองว่าเป็นการใช้ทักษะให้คุ้ม แต่ในสายตานายจ้างถือว่าเป็นการหลอกลวง และทำให้บริษัทต้องเสียเวลา ทรัพยากร และความเชื่อมั่นในระบบ remote work ไปอย่างน่าเสียดาย

หลังเปิดเผยเหตุการณ์พาเรคได้เซ็นต์สัญญากับสตาร์ตอัพเดียว และประกาศว่าขอน้อมรับผิด เพื่อโอกาสใหม่ และยังได้รับการยืนยันโดยผู้ก่อตั้ง Darwin

โดย ซันจิต จูเนจา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Darwin ยืนยันว่าพาเรคเข้าร่วมทีมแล้ว “โซฮัมเป็นวิศวกรที่มีพรสวรรค์มาก และเรามั่นใจว่าเขาจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของเราเข้าสู่ตลาดได้”

พาเรคกล่าวว่า “ผมเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการในฐานะวิศวกรผู้ร่วมก่อตั้ง กับบริษัทเดียว และจะทำงานให้แค่ที่เดียวเท่านั้น พวกเขาเป็นเพียงรายเดียวที่กล้าเดิมพันกับผมในช่วงเวลานี้”

แม้การรับงานหลายที่พร้อมกันจะฟังดูเหมือนวิธีเพิ่มรายได้อย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว พฤติกรรมแบบนี้ต้องแลกมาด้วยการทำงานหนักระดับ วันละกว่า 18–20 ชั่วโมง จนไม่มีเวลาพักผ่อนอย่างแท้จริง

ความเครียดสะสม การนอนหลับไม่เพียงพอ และการต้องโกหกซ้ำแล้วซ้ำอีก ล้วนส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และความน่าเชื่อถือในสายอาชีพโดยตรง และอาจไม่ใช่ราคาที่คุ้มค่าที่สุดในระยะยาว

ที่มา