สกมช. ผนึกฟอร์ติเน็ต ดันโครงการ Brighten Your Future by Cyber Skill เติมกำลังคนสายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ จับมือ ฟอร์ติเน็ต ประเทศไทย ภายใต้โครงการ Brighten Your Future by Cyber Skill สร้างอนาคตที่สดใสด้วยทักษะทาง Cyber วางเป้าหมายช่วยเหลือทั้งผู้ว่างงาน ผู้ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพ ผู้ที่ไม่มีความรู้ หรือต้องการเรียนรู้เพื่อ Re-skill/Upskill เพื่อโอกาสในการทำงานใหม่ ให้กลายเป็นกำลังพลทางไซเบอร์ เปิดหลักสูตรอบรมแบบเข้มข้น เพื่อเพิ่มทางเลือกและกำลังคนด้านความมั่นคงและปลอดภัยแบบยั่งยืน
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติกล่าวว่าจากข้อมูลการสำรวจด้านการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 มีผู้ว่างงานเฉลี่ย 4.3 แสนคน ในขณะที่ความต้องการบุคลากรทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้กลับทวีสูงขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทางสกมช. จึงเล็งเห็นโอกาสที่จะเข้ามาช่วยเหลือ และเพิ่มโอกาสในการเลือกอาชีพเพื่อการทำงานให้กับบุคลากรที่ยังว่างงาน หรือบุคคลที่ต้องการชุดทักษะความรู้ใหม่ทางไซเบอร์เพื่อการเปลี่ยนอาชีพใหม่ จึงเปิดโครงการ Brighten Your Future by Cyber Skill สร้างอนาคตที่สดใสด้วยทักษะทาง Cyber ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนคนว่างงาน และเพิ่มบุคลากรทางไซเบอร์ไปพร้อมกัน
“เป็นอีกครั้งที่สกมช. ร่วมมือกับฟอร์ติเน็ต ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้นำในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ในการฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มกำลังคนทางไซเบอร์ การฝึกอบรมที่จะเกิดขึ้นผ่านความร่วมมือนี้ จะเป็นการคัดเลือกที่เข้มข้นโดยเปิดรับสมัครผ่าน Webinar ก่อนที่จะคัดเลือกผู้สมัครเข้าสู่รอบการฝึกอบรม ดังนั้น ผู้ที่เข้าร่วมจะมั่นใจได้ว่าจะได้รับองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการก้าวสู่สายอาชีพนักไซเบอร์ได้จริง” พลอากาศตรี อมร กล่าว
ทั้งนี้ โครงการ Brighten Your Future by Cyber Skill ยังสอดคล้องกับกรอบนโยบายของประเทศที่สำคัญในด้านแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพ ทักษะ และสมรรถนะแรงงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ที่สนับสนุนการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการแรงงานและเพิ่มศักยภาพ ฝีมือแรงงานเข้าสู่มาตรฐานสากล ดังนั้น การสร้างกำลังคนให้มีทักษะที่หลากหลาย (multi-skilled) และการเพิ่มทักษะใหม่ (re-skilled) จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจําประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า ความต้องการบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลก จากรายงาน 2023 Cybersecurity Skills Gap ของฟอร์ติเน็ตพบว่าความต้องการบุคลากรมีมากถึง 4 ล้านคน และผู้นำองค์กรเกือบ 70% ระบุว่าองค์กรของตัวเองต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเกิดช่องว่าง (Skill Gap) ด้านบุคลากร และนี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งของความมุ่งมั่นของฟอร์ติเน็ตที่ต้องการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้อย่างเต็มที่
ในการทำงานร่วมกับสกมช. ผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมการฝึกอบรมจะได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นอาชีพในอุตสาหกรรมนี้ ฟอร์ติเน็ตได้คัดเลือกหัวข้อในเรื่องของ Cloud Security ศูนย์ปฏิบัติการด้านความมั่นคงปลอดภัย (Security Operation Center หรือ SOC) และ Next-Gen Firewall โดยทั้งสามหัวข้อ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องการบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยเป็นอย่างมาก
“ฟอร์ติเน็ต ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ได้ให้เกียรติและให้ความเชื่อมั่นในฟอร์ติเน็ต ในการทำงานร่วมกันอีกครั้งเพื่อสร้างบุคลากรทางไซเบอร์ โดยฟอร์ติเน็ตหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถให้ความรู้ พร้อมทั้ง Re-Skill/UpSkill ให้กับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน หรือผู้ว่างงานที่มีพื้นฐานให้สามารถกลับเข้าสู่สายงาน หรือช่วยให้ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพมาทางไซเบอร์ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดเพื่อการทำงานอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพต่อไป” ภัคธภา กล่าว
ในกรณีของ Cloud Security เมื่อองค์กรพัฒนาและนำระบบคลาวด์แอปพลิเคชันมาใช้มากขึ้น ความปลอดภัยก็จะซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย หลายองค์กรเริ่มนำคลาวด์ในรูปแบบไฮบริดหรือมัลติ-คลาวด์มาใช้ ซึ่งทำให้พื้นที่โจมตีกว้างขึ้นและมีความซับซ้อนมากขึ้น ฟอร์ติเน็ตจึงมุ่งเน้นที่การออกแบบเพื่อให้องค์กรใช้คลาวด์ได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นให้ความรู้และฝึกอบรมบุคคลทั่วไปที่ต้องการ Re-Skill/Upskill เพื่อเสริมทักษะทางด้านคลาวด์ ให้สามารถประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติ และแพลตฟอร์มการทำงานของฟอร์ติเน็ต เพื่อบริหารจัดการโครงสร้างระบบรักษาความปลอดภัยของฟอร์ติเน็ตบนสภาพแวดล้อมคลาวด์ทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ SOC หรือศูนย์ปฏิบัติการด้านความมั่นคงปลอดภัย คือหัวใจสำคัญในการรักษาความปลอดภัย ซึ่งนอกจากจะช่วยติดตามทุกองค์ประกอบของโครงสร้างพื้นฐานให้มีความปลอดภัย ยังช่วยประเมินสถานะความเสี่ยง รวมถึงตอบสนองต่อภัยคุกคาม ไฟร์วอลล์ก็ถือเป็นปราการสำคัญในการป้องกันเครือข่าย เนื่องจากคลาวด์คอมพิวติ้งและสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริดมีการเติบโตอย่างมาก จึงยิ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมีโซลูชันรักษาความปลอดภัยได้อย่างครอบคลุม และการมีบุคลากรที่เข้าใจการทำงานของ SOC และ Next-Gen Firewall ก็นับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับองค์กรเช่นเดียวกัน