May 4, 2024

องค์กรไทยตกเป็นเหยื่อ Ransomware สูงเป็นอันดับสามของเอเชียแปซิฟิก

มีรายงานที่น่าสนใจจาก บริษัทผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อการสืบสวน, ป้องกัน และต่อสู้กับอาชญากรรมไซเบอร์ อย่าง Group-IB ระบุว่า ปีที่ผ่านมาองค์กรไทยถูกแรนซัมแวร์เล่นงานเพิ่มขึ้นถึง 28% สูงเป็นอันดับสามรองจากออสเตรเลียและอินเดีย

นอกจากนี้รายงานประจำปี Hi-Tech Crime Trends ของ Group-IB ยังเปิดเผยข้อมูลภาพรวมภูมิทัศน์ภัยคุกคามไซเบอร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) สำหรับปี 2023/2024 โดยเป็นผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกว่าความท้าทายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2023 นักวิจัยจาก Group-IB ได้ค้นพบการเพิ่มขึ้นของจำนวนกรณีการโจมตีขโมยข้อมูลบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึง 64% ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าออสเตรเลียนั้นเป็นอันดับหนึ่งในรายการดังกล่าวที่มีบัตรเครดิตถูกขโมยข้อมูลบัตรเครดิตมากถึง 255,910 ใบ

ขณะที่เหตุการณ์การโจมตีด้วย Ransomware ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นก็มากขึ้นถึง 39% ในปี 2023 โดยมีธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิตและอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นเหยื่อสูงที่สุด

นอกจากนี้ ออสเตรเลียและอินเดียก็ยังคงรักษาตำแหน่งของการเป็นประเทศที่ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีจาก Ransomware-as-a-Service (RaaS) สูงที่สุดอยู่เช่นเคย ส่วนผู้ขโมยข้อมูลนั้นก็ได้สร้างความน่ากังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีอุปกรณ์ภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากถึง 399,682 ชุดที่ตกเป็นเหยื่อ และถูกนำข้อมูล Log ภายในอุปกรณ์ออกไปเผยแพร่บน Underground Clouds of Logs (UCL) รวมถึงยังมีอุปกรณ์อีก 1,530,978 ชุดที่ถูกนำข้อมูล Log ไปเผยแพร่ในตลาดใต้ดิน

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตกเป็นเป้าการโจมตี

นักวิจัยจาก Group-IB พบว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเคยเป็นสนามรบใหญ่ระดับโลกสำหรับ Advanced Persistent Threat (APT) ในปีที่แล้ว ในภาพรวมนั้น สำหรับปี 2023 ที่ผ่านมา Group-IB สามารถจำแนกการโจมตีทั่วโลกได้ถึง 523 ครั้งที่มีความเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ซึ่งการโจมตีที่มุ่งเป้าต่อองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นมีสัดส่วนมากถึง 34% เทียบกับทั่วโลก โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Group-IB ได้เสริมว่าเหตุนี้อาจเกิดขึ้นเพราะมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินเป็นปริมาณมากในภูมิภาคนี้ที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก รวมถึงยังมีปัจจัยจากความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมืองมาเกี่ยวข้องอีกด้วย

ปี 2023 เป็นปีขาขึ้นของเหล่าภัยคุกคามที่ต่อเนื่องและซับซ้อนเป็นอย่างมาก โดยทีม Threat Intelligence ของ Group-IB ได้ตรวจพบ APT ที่ยังไม่เคยมีใครพบมาก่อนถึงสองรายการ ได้แก่ Dark Pink (ซึ่งมุ่งเป้าการโจมตีไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและยุโรป) และ Lotus Bane (ซึ่งมุ่งเป้าการโจมตีไปยังเวียดนาม)

ช่วงปลายปี นักวิจัยจาก Group-IB ก็ได้เปิดเผยถึงการค้นพบ iOS Trojan แรกที่ทำการรวบรวมข้อมูลชีวภาพภายใต้ชื่อ GoldPickaxe.iOS ที่มุ่งเป้าโจมตีไปยังผู้ใช้งานในประเทศไทยและเวียดนามเหมือน Trojan วงศ์เดียวกันบนระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งเชื่อว่า Trojan เหล่านี้คงไม่หยุดการโจมตีเพียงแค่สองประเทศนี้เท่านั้น ทั้งนี้ระบบปฏิบัติการของ Apple ก็ได้ตกเป็นเป้าหมายของผู้โจมตีมากขึ้น ซึ่งมีหลักฐานคือการค้นพบ iOS Trojan จำนวนมากขึ้น และมีผู้ขโมยข้อมูลที่มุ่งพัฒนาวิธีการใหม่ๆ สำหรับการโจมตี macOS มาแลกเปลี่ยนกันในตลาดใต้ดิน

Ransomware ยังโจมตีต่อเนื่องในปี 2023

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของการโจมตีด้วย Ransomware ก็ยังคงเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนของบริษัทที่ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีระบบสำคัญและการเผยแพร่ข้อมูลความลับของธุรกิจเพิ่มขึ้น ในปีที่แล้ว Group-IB ตรวจพบว่ามีบริษัท 463 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ถูกเผยแพร่ข้อมูลบน Data Leak Site (DLS) ของ Ransomware ซึ่งสามารถตีความได้ว่ามีการโจมตีลักษณะนี้จนสำเร็จเพิ่มขึ้นประมาณ 39% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งมีข้อมูลของบริษัทที่ตกเป็นเหยื่อ 334 แห่งถูกเผยแพร่บน DLS

ในปี 2023 อุตสาหกรรมโรงงานและการผลิตได้ตกเป็นเป้าหมายบ่อยครั้งที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยนับเป็นสัดส่วน 16% ของบริษัทซึ่งตกเป็นเหยื่อและถูกเผยแพร่ข้อมูลบน DLS ในขณะที่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นเหยื่อมากเป็นอันดับที่สอง โดยนับเป็นสัดส่วน 9% ของการโจมตีทั้งหมดที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมการเงินนั้นตามมาเป็นอันดับที่สามจากการตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี 8%

เมื่อพิจารณาในแง่มุมของผู้โจมตีด้วย Ransomware ที่มีการปฏิบัติการมากที่สุดในภูมิภาค LockBit ถูกนับเป็นอันดับหนึ่งด้วยการมีเหยื่อมากถึง 34% จากเหยื่อทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ถูกเผยแพร่ข้อมูลบน DLS ตามมาด้วย BlackCat (ALPHV) ที่เป็นอันดับสองด้วยสัดส่วน 12% ของการโจมตี และ Cl0p ที่เป็นอันดับสามด้วยสัดส่วน 6% จากเหยื่อของการโจมตีด้วย Ransomware ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ในปี 2023 ออสเตรเลีย (ซึ่งเป็นอับดับหนึ่งในการตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีที่บ่อยที่สุด) ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีด้วย Ramsomware และถูกเผยแพร่ข้อมูลบน DLS เพิ่มขึ้นถึง 80% โดยมีเหยื่อเพิ่มจาก 56 รายในปี 2022 เป็น 101 รายในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับอินเดียที่ตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้นถึง 110% โดยมีเหยื่อเพิ่มจาก 40 รายเป็น 84 ราย ภูมิทัศน์ของภัยคุกคามจาก Ransomware ในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ด้วยอัตราการเติบโต 28% จากเหยื่อที่ถูกเผยแพร่ข้อมูลบน DLS 29 รายเป็น 37 ราย ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือ จำนวนของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีด้วย Ransomware ที่แท้จริงนั้นน่าจะมีปริมาณที่สูงกว่านี้เป็นอย่างมาก จากการที่มีเหยื่อหลายรายเลือกที่จะจ่ายค่าไถ่ และกลุ่มผู้โจมตีด้วย Ransomware บางกลุ่มก็ไม่ได้มีการใช้งาน DLS แต่อย่างใด