กฟภ. วางใจ ออราเคิล วิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานองค์กร
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของไทยในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มอบความไว้วางใจเลือกใช้ระบบ Oracle Utilities Meter Data Management (MDM) และ Oracle Utilities Load Analysis เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยโครงการนี้เป็นการต่อยอดของแผนงานการเปลี่ยนแปลงสาธารณูปโภคสู่ระบบดิจิทัลที่ทาง กฟภ. ได้ดำเนินงานร่วมกับออราเคิลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอโครงสร้างพื้นฐานมิเตอร์ขั้นสูง (Advanced Meter Infrastructure: AMI) ที่บูรณาการระบบอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะช่วยให้สามารถตรวจสอบระดับการใช้พลังงานในแต่ละวันได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
การใช้ระบบของออราเคิลช่วยให้ กฟภ. สามารถคาดการณ์จุดสูงสุดและจุดต่ำสุดของความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ดีขึ้น เพื่อปรับปรุงการบริหารสินทรัพย์และควบคุมพลังงานสำหรับลูกค้าครัวเรือนกว่า 23 ล้านราย และลูกค้าเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม (C&I) กว่า 300,000 รายใน 74 จังหวัด
ในอดีตที่ผ่านมา กฟภ. ใช้มิเตอร์หลายยี่ห้อซึ่งมีระบบการบริหารจัดการข้อมูลที่แตกต่างกัน จึงต้องใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งในด้านการผสานข้อมูลเพื่อออกบิลเรียกเก็บเงินและการสนับสนุนการปฏิบัติงาน ระบบเก่ายังขาดความสามารถในการรวมข้อมูลการใช้พลังงานจากสถานที่หลาย ๆ แสนแห่งของลูกค้าเพื่อระบุอัตราการใช้และคาดการณ์พลังงานรายวันอย่างแม่นยำ การดำเนินงานเฟสแรกของโครงสร้างพื้นฐานมิเตอร์ขั้นสูง (AMI) นี้ กฟภ.ได้ทำการย้ายมิเตอร์จำนวน 155,100 ตัวเข้าสู่ระบบ Oracle Utilities MDM และ Oracle Utilities Load Analysis ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา โดยทาง Oracle Energy and Water ร่วมสนับสนุนการดำเนินการในครั้งนี้
“เทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การขยายและการใช้พลังงานหมุนเวียน แนวโน้มตลาดของลูกค้าระดับมืออาชีพที่กำลังเติบโต และโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่กำลังพัฒนาของประเทศ ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจหลักของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” นายปราโมทย์ สุดทรัพย์ รองผู้ว่าการปฏิบัติการและบำรุงรักษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าว “การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงต้องปรับระบบไฟฟ้าให้รองรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เนื่องจากเราเล็งเห็นว่าผู้คนเริ่มสนใจมากขึ้นเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานและการจัดการพลังงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้นี้ มิเตอร์อัจฉริยะและระบบการบริหารจัดการข้อมูลอย่าง Oracle Utilities Meter Data Management (MDM) และ Oracle Utilities Load Analysis จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงาน ซึ่งจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าในอนาคตต่อไป”
ระบบ Oracle Utilities Meter Data Management (MDM) และ Oracle Utilities Load Analysis จะช่วยให้ กฟภ. ตระหนักถึงศักยภาพของข้อมูลจากมิเตอร์ ซึ่งครอบคลุมทั้งการเก็บรวบรวม การบริหารจัดการ และการผสานข้อมูลที่มาจากมิเตอร์ต่างชนิดและรูปแบบโปรโตคอลที่แตกต่างกัน โดยข้อมูลที่ตั้งค่าไว้ล่วงหน้าและดัชนีมิเตอร์ รวมถึงแผงแดชบอร์ดที่ถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ จะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมิเตอร์และอุปกรณ์ ขณะเดียวกัน ก็ยังช่วยให้ กฟภ. สามารถติดตามประสิทธิภาพของระบบการทำงานอัตโนมัติและการออกบิลเรียกเก็บค่าไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลวิเคราะห์การใช้พลังงานยังช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการพลังงานของลูกค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังช่วยสนับสนุนหน่วยบริการลูกค้าของ กฟภ. และมีความสอดคล้องกับนโยบายระดับชาติตลอดจนระเบียบปฏิบัติและมาตรฐานสากล
นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล ประเทศไทย กล่าวว่า “ด้วยข้อมูลมิเตอร์อัจฉริยะที่ขับเคลื่อนโดย MDM ของออราเคิล จะช่วยให้ กฟภ. สามารถเห็นภาพรวมการใช้พลังงานไฟฟ้าของลูกค้าครัวเรือนได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับลูกค้ากลุ่ม C&I ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงผู้ผลิตรายใหญ่อีกมากมายในนิคมอุตสาหกรรม กฟภ. ยังสามารถใช้ข้อมูลมิเตอร์อัจฉริยะขั้นสูงในการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงผลิตไฟฟ้าและโครงสร้างการส่งพลังงาน เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ผ่านการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ที่จะแจ้งเตือนเมื่อระดับการใช้พลังงานถึงเป้าหมายที่กำหนด”
การใช้ข้อมูลมิเตอร์อัจฉริยะจะทำให้ กฟภ. สามารถปรับแต่งและปรับปรุงบริการได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการคำนวณค่าธรรมเนียมและข้อเสนอราคาที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งอาจรวมถึงการใช้ระบบอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU (Time of Use ) เพื่อรองรับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของลูกค้า ในขณะเดียวกันยังช่วยลดภาระพลังงานในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ระบบการทำงานแบบเปิดของออราเคิลยังช่วยให้ กฟภ. สามารถรวบรวมข้อมูลการเรียกเก็บเงินสำหรับลูกค้าองค์กรที่มีที่ตั้งสำนักงานหลายสาขาและติดตั้งมิเตอร์ไฟเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ยังนำเสนอทางเลือกต่าง ๆ เช่นการเลือกวันชำระเงินที่ต้องการได้อีกด้วย
หลังจากปี 2023 เป็นต้นไป กฟภ. มีแผนที่จะบรรจุมิเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่มีอยู่จำนวน 300,000 ตัวเข้าสู่ระบบ Oracle MDM ซึ่งจะทำให้ระบบนี้เป็นแหล่งรวมข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลในช่วงเวลาที่มีความซับซ้อนสูงและช่วยกำหนดผลกำไรให้กับ กฟภ. ได้แบบครบวงจร นอกจากนี้ กฟภ. ยังตั้งเป้าที่จะขยายโครงการ AMI สู่พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งครอบคลุมมิเตอร์ไฟจำนวน 800,000 ตัว ภายในปี 2025