April 28, 2024

Digital Livable Cities จากงาน Digital Transformation Summit โดย TCIOA

เทคโนโลยี 5G นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีของยุคปัจจุบันที่กำลังถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นและการมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้สูงขึ้น  เพื่อให้แต่ละชุมชนพัฒนาขึ้นเป็น “เมืองที่น่าอยู่”

วันนี้ OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP ได้หยิบยกมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับ เมืองน่าอยู่แบบดิจิทัล (Digital Livable Cities) ในยุค 5G  จากภายในงาน “Digital Transformation Summit” มาแบ่งปันภายใต้หัวข้อ “Future livable city needs to fully integrate life and industry” โดยตัวแทนจากภาครัฐ ดร. นนท์ อัครประเสริฐกุล (ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) และภาคเอกชน คุณนิพัทธ์ ยมกิจ (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท 5G Catalyst Technologies จำกัด) ดังนี้

ดร. นนท์ (คนที่ 2 จากซ้าย) ได้กล่าวถึงไว้ว่า การจะเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้นั้นจะต้องเริ่มจากการเลือกสรรเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมกับแต่ละชุมชน ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในอดีต หากเราต้องการสร้างสถานที่ต่างๆ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน และถนน จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการที่ค่อนข้างนาน และบางครั้งอาจจะไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาด้านต่างๆได้ในทันที  แต่เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและประสิทธิภาพในการใช้งานให้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การสร้างถนนในเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมืองที่ถูกจัดลำดับให้เป็นเมืองที่ผู้คนมีความสุขเป็นอันดับต้นของโลก ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างระบบไฟจราจร เพื่อจุดประสงค์ในการให้ประชากรสามารถเดินทางกลับถึงบ้านได้รวดเร็วขึ้นและมีช่วงเวลาว่างในการใช้ชีวิตมากขึ้น สิ่งนี้ล้วนส่งผลให้ประชากรมีความสุขและกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ รวมไปถึงการช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการคัดแยกและเก็บขยะตามมุมต่างๆในชุมชนอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ดร.นนท์ ยังได้กล่าวเสริมถึง หลักการที่จะช่วยในการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่ละชุมชนไว้ 3 หลักการ ดังนี้

1. KPI (Key Performance Indicator)

          มุ่งเน้นถึงผลลัพธ์จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ประชากรในชุมชนมีเวลามากขึ้น การจราจรติดขัดน้อยลง หรือ การเข้าถึงการรักษาดีขึ้น เป็นต้น

2. 4P (People-Private-Public-Partnership)

          มุ่งเน้นถึงการร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีประชากรในชุมชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งภาคเอกชนนั้นสามารถ สนับสนุนภาครัฐด้านเทคโนโลยี ในขณะที่ภาครัฐสามารถช่วยประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชากรในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

3. Data

          มุ่งเน้นให้ประชากรในชุมชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง แทนการใช้ความเชื่อหรือความรู้สึก

ในขณะที่ทางด้านคุณนิพัทธ์ ได้กล่าวถึงการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามามีส่วนช่วยให้เมืองน่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยคลื่นความถี่ 5G มีคุณสมบัติที่โดดเด่นที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ และมีความเสถียรที่คงที่มากขึ้น รวมไปถึงสามารถรับส่งข้อมูลต่างๆได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยคุณนิพัทธ์ ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของการนำคลื่นความถี่ 5G มาประยุกต์ใช้ ดังนี้

          1. ระบบการแพทย์ระยะไกล (medical consult)

ในประเทศไทย อัตราผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาจากแพทย์มีค่อนข้างน้อย ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากการนัดหมายแพทย์ที่ค่อนข้างยากและใช้เวลาในการรอนัดหมายนาน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่แย่ลง แต่เมื่อเรานำเทคโนโลยี คลื่นความถี่ 5G มาช่วยสร้าง application ในการนัดหมายแพทย์และพูดคุยกับแพทย์ผ่านวิดิโอ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมไปถึง คลื่นความถี่ 5G นั้นยังเป็นระบบที่เสถียร ซึ่งมีส่วนช่วยให้การพัฒนา application ให้มีความปลอดภัยในด้านการรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยอีกด้วย

          ในตอนท้าย ดร.นนท์ และคุณนิพัทธ์ ได้ฝากแง่คิดที่คล้ายคลึงกันในด้านเมืองน่าอยู่แบบดิจิทัล (Digital livable cities) ไว้ว่า หากต้องการสร้างเมืองที่น่าอยู่ เราจำเป็นต้องคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยที่อยู่ในแต่ละชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้ชุมชนนั้นมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาบางส่วนที่ OPEN-TEC ได้รวบรวมไว้ จากภายในงาน “Digital Transformation Summit 2022” ภายใต้หัวข้อ “Digital Livable Cities” ที่จัดขึ้นโดย สมาคมซีไอโอไทย (Thai Chief Information Officer Association: TCIOA) เท่านั้น หากท่านต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าไปฟังได้ที่เว็บไซต์ https://www.youtube.com/watch?v=NjMDHedDwsE&t=4393s

บทความโดย OPEN-TEC