December 6, 2024

คณะวิทย์ มธ. จับตา ‘ภาครัฐ’ ใช้ ‘เอไอช่วยบริการภาครัฐ’ นำร่องบริการจัดเก็บภาษี พร้อมแนะดึงจุดแข็งเอไอ เขย่าบริการประชาชนด้วยดิจิทัลภาครัฐ

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หรือ SCI-TU จับตา ‘ภาครัฐ’ ใช้ ‘เอไอช่วยบริการภาคประชาชน’ หลังพบการประกาศเตรียมนำร่อง ให้บริการจัดเก็บภาษี ที่ช่วยพลิกโฉมการให้บริการดิจิทัลภาครัฐ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของสมดุลระหว่าง ‘มนุษย์-เอไอ’ หนุน ‘ภาคประชาชน-ภาคเอกชน-ภาครัฐ’ ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดีพเทค ช่วยครีเอทคอนเทนต์สุดเทรนด์ดี้

เดินเกมการตลาดแบบแยบยล ปลดล็อคทุกข้อสงสัยในการเข้ารับบริการภาครัฐ พร้อมเผยปีการศึกษา 2567 คณะวิทย์ มธ. พร้อมสิ่งต่อโอกาสสำคัญในการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์และไอที ส่งเสริมการเรียนรู้และเท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล ลดความเสี่ยงดิจิทัลดิสรัปชั่น ชี้ 3 ภาษาไอทีที่ Gen Z ต้องรู้ อาทิ ภาษาซี (C)  ภาษาจาวา (Java)   และภาษาไพทอน (Python)  ที่เป็นเน็ตเวิร์กการสื่อสารที่สำคัญของเด็กสายวิทย์คอมพ์ เพื่อต่อยอดความรู้เชิงจิตวิทยาสู่การถอดรหัสทางความคิด เพื่อสามารถสร้างโค้ดหรือแชทบอทที่ตรงความต้องการของเทรนด์ผู้ใช้งาน

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ส่องเมือง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ SCI-TU เปิดเผยว่า จับตา ‘ภาครัฐ’ ใช้ ‘เอไอช่วยบริการภาคประชาชน’ หลังพบการประกาศเตรียมนำร่อง ใช้ Chat-GPT ให้บริการจัดเก็บภาษี ที่ช่วยพลิกโฉมการให้บริการดิจิทัลภาครัฐ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของสมดุลระหว่าง ‘มนุษย์-เอไอ’ หลังพบว่าภาครัฐเตรียมนำร่องบริการจัดเก็บภาษีเป็นบริการแรก โดยคณะวิทย์ มธ. มองว่า เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่เป็นการสร้างสมดุลระหว่าง ‘มนุษย์-เอไอ’ และยังเป็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเอไอ เพื่อยกระดับการให้บริการของภาครัฐ ในฐานะผู้ให้บริการแก่ภาคประชาชน โดยเฉพาะการตอบข้อสงสัย ไปจนกระทั่งการตรวจสอบจากประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล

            การประกาศจุดยืนของภาครัฐ ในการนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาช่วยปลดล็อกการทำงานด้านการบริการประชาชน ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการแก้ปัญหาเชิงระบบที่เกิดจากจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่มีความซับซ้อนหรือจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารจำนวนมาก ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดข้อผิดพลาดและสูญเสียเวลาในการเข้ารับ-ให้บริการ โดย คณะวิทย์ มธ. มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำเอไอเข้ามาใช้ประโยชน์กับบริการของภาครัฐ โดยใช้จุดแข็งของเอไอมาช่วยยกระดับในการใช้บริการ ดังนี้

1.   เอไอเชื่อมโยงข้อมูลมหาศาลสู่การให้บริการที่รวดเร็ว เนื่องจากภาครัฐมีข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งเอไอสามารถช่วยจัดระเบียบข้อมูล พร้อมวิเคราะห์ความต้องการของผู้เข้ารับบริการ ซึ่งช่วยลดการรอคอย สะดวก รวดเร็ว

2.      เอไอช่วยสร้างความน่าเชื่อถือสร้างธรรมาภิบาล ในการเก็บรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลที่ว่าด้วยระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้หน่วยงานดูทันสมัย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างธรรมาภิบาลในองค์กรภาครัฐ

3.   เอไอช่วยลดข้อร้องเรียนและยกระดับการให้บริการ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของเอไอในการเรียนรู้และวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งาน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือการช่วยลดข้อผิดพลาด ลดการสูญเสียเวลาที่ไม่จำเป็น และยังช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปในการพัฒนารูปแบบการให้บริการได้อีกด้วย

จากเทรนด์และความเป็นไปได้ของการใช้เอไอในการใช้งานในประเทศในเชิงกว้างมากขึ้น คณะวิทย์ มธ. จึงได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการประยุกต์ใช้เอไอ ทั้งเพื่อสร้างโอกาสในเส้นทางอาชีพแนวใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน และลดการสูญเสียเวลาของทุกฝ่าย ที่ครอบคลุม 3 ภาคส่วนทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ดังรายละเอียดต่อไปนี้  

·     แท็คทีมเอไอช่วยครีเอทคอนเทนต์ เพราะผู้คนในยุคดิจิทัลสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในหลากหลายแพลตฟอร์ม ทั้งยังสามารถก้าวสู่การเป็น “ผู้ผลิตคอนเทนต์” หรือ “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” (Content Creator) ที่มีคาแรคเตอร์ในการนำเสนอเรื่องราวในแบบเฉพาะตัวที่สร้างรายได้ได้ โดยรายงานจากนิตยสาร Forbes ยังได้เปิดเผยข้อมูลว่า ปี 2021 ตลาดดิจิทัลครีเอเตอร์มีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ดังนั้น หากนำเอไอเข้ามาช่วยเก็บข้อมูลพฤติกรรม ความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้นๆ เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ก็จะสามารถผลิตคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และตรงใจกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น หรือก็คือ การนำเอไอมาช่วยกำหนดรูปแบบ คอนเทนต์ (Shape Content)

·         ใช้เอไอเดินเกมการตลาดแบบแยบยล (AI Marketing) ด้วยฟังก์ชันของเทคโนโลยีเอไอที่สามารถรวบรวมทุกข้อมูลบนโลกออนไลน์มาไว้ในที่เดียว ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) ที่สามารถปรับเลือกจัดกลุ่มข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายได้จำเพาะมากยิ่งขึ้น เช่น ชื่อประเทศ ประเภทความสนใจ นอกจากนั้นยังสามารถติดตามพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค (Customer Journey) คำที่ถูกใช้ค้นหาสินค้าและบริการมากที่สุด (Trending Searches) ฯลฯ ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่นักการตลาดหรือบริษัทเอเจนซี่ (Agency) สามารถนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจ หรือปรับแผนการตลาดให้สอดคล้องกับความสนใจของผู้บริโภคได้

·         ดึงมือเอไอช่วยปลดล็อคทุกข้อสงสัย เพราะขั้นตอนการเข้ารับบริการจากหน่วยงานราชการ จะมีความซับซ้อนในด้านข้อมูลหรือจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารจำนวนมาก ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดข้อผิดพลาดและสูญเสียเวลาในการเข้ารับ-ให้บริการ

            ดังนั้น เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง (Transform) รวมถึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในสายโปรแกรมมิ่ง (Programming) อย่าง “โปรแกรมเมอร์” (Programmer) คณะวิทย์ มธ. มองว่ามีความจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจใน 3 ภาษาโปรแกรมด้านไอทีที่สำคัญ ดังนี้ 1. ภาษาซี (C)  2. ภาษาจาวา (Java)   3. ภาษาไพทอน (Python)  ซึ่งได้รับความนิยมในปัจจุบันและสามารถพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันหรือเอไอ โดยผู้ที่มีความรู้ในการทั้งงานทั้ง 3 ภาษานี้ จะช่วยให้มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) เพื่อทำความเข้าใจหลักการหรือทฤษฎีการเขียนโปรแกรมและซอฟต์แวร์ ทั้งนี้ ต้องควบคู่กับการมีความเข้าใจในทฤษฎีการคำนวณ (Theory of Computation) เพื่อช่วยให้การวิเคราะห์หรือสร้างแบบจำลองที่ซับซ้อนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน “เทคโนโลยีดิจิทัล” ได้รับการพัฒนาให้ล้ำสมัยและก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมได้อย่างชาญฉลาด รวมถึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้มหาศาลให้ภาคธุรกิจ แต่หากบุคคลหรือธุรกิจมิสามารถก้าวได้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ อาจจะได้รับความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลดิสรัปชั่น (Digital Disruption) ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาจะพบว่าบริษัทชั้นนำระดับโลกได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หนึ่งในเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก หรือ ดีพเทค (Deep Technology) ที่ผ่านกระบวนการรู้จำข้อมูลมหาศาลและฝึกทำซ้ำๆ จนเอไอสามารถวิเคราะห์หรือประมวลผลสิ่งที่ซับซ้อนได้รวดเร็วและแม่นยำ อย่างการพัฒนาเอไอร่วมแข่งขันเกมกระดานหมากล้อม (Go) จนสามารถล้มแชมป์โลกได้ และล่าสุดกับ ChatGPT (Chat Generative Pre-Trained Transformer) เป็นระบบ AI ในรูปแบบแชทบอท ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยตอบคำถามผู้คนบนโลกออนไลน์ ที่สามารถต่อยอดเชิงธุรกิจด้านให้ข้อมูลสินค้าและบริการกับลูกค้าได้

            อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐอย่าง ‘กรมสรรพากร’ ที่ได้นำร่องใช้เอไอเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการภาษีประชาชน ในชื่อว่า ‘แชทบอทน้องอารี ผู้ช่วยอัจฉริยะเรื่องภาษีสรรพากร’ ที่มาพร้อมความสามารถในการสร้างเสียงพูดจากข้อความ การรู้จำเสียงพูด ฯลฯ ที่นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการยกระดับบริการดิจิทัลภาครัฐ ที่เน้นการพึงพาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมิใช่การแทนที่ ‘มนุษย์’ ในหน่วยงานหรือสถานประกอบการ และด้วยการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงถือเป็นโอกาสของผู้เรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) คณะวิทย์ มธ. อย่าง ‘นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล’ (Data Science) หรือ ‘โปรแกรมเมอร์’ (Programmer) เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก ด้วยการเรียนการสอนที่เราเน้นทั้งพื้นฐานความรู้ด้านคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อคำนวณหาความเป็นไปได้ ด้านโปรแกรมที่สามารถเขียนโค้ดเพื่อสร้างระบบประมวลผลข้อมูล ทักษะด้านการค้นหาและรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และประมวลผลเป็นชุดข้อมูลรูปแบบต่างๆ ได้ ทั้งกราฟ แผนภูมิ ตัวอักษร ฯลฯ ตลอดจนทักษะด้านการสื่อสาร หนึ่งในทักษะสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพราะในบางบริบทที่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น นำเสนอผลงานหรือถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจ

            ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2567 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีแผนปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่เข้มข้นในทุกมิติรับเด็ก Gen Z ทั้งด้านการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ที่ลึกกว่าเดิม เนื่องจากภาษามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และยังเพิ่มศาสตร์ความรู้เชิงจิตวิทยาด้วยวิชาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ เพื่อสร้างพื้นฐานความรู้ด้านจิตวิทยาและเพิ่มทักษะการสื่อสารแบบเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ผ่าน รายวิชาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human – Computer Interaction) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถถอดรหัสความคิดและความต้องการเบื้องลึกของมนุษย์ สามารถสร้างโค้ดหรือแชทบอทให้สอดรับกับความต้องการของผู้ใช้งานได้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ หัวข้อเลือกสรรด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์  วิทยาการข้อมูลที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง กระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจโดยอิงพื้นฐานจากข้อมูล  และการคำนวณและเขียนโค้ดที่ซับซ้อนให้เร็วยิ่งขึ้น  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง กล่าวทิ้งท้าย

 สำหรับผู้สนใจศึกษาต่อคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/ScienceThammasat และ https://sci.tu.ac.th/