May 3, 2024

ภาคอุตสาหกรรมฯ ผนึกภาครัฐ เปิดงานมหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ “Bangkok International Digital Content Festival 2023” 

ภาคอุตสาหกรรมฯ ผนึกภาครัฐ เปิดงานมหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ “Bangkok International Digital Content Festival 2023” หรือ BIDC 2023 ครั้งที่ 10 ภายใต้แนวคิด Hello AI รูปแบบonsite อีกครั้ง เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและหนุนศักยภาพสู่เวทีระดับโลก  พร้อมเปิดเวทีจัดสัมมนาส่งมอบความรู้ เทคโนโลยี AI กับ การพัฒนา digital Content จากวิทยากรชั้นนำระดับโลกและไทยในรูปแบบไฮบริด และออนไลน์ พร้อมพิธีมอบรางวัล BIDC AWARDS ให้แก่ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ที่มีผลงานโดดเด่นในรอบปี และเวทีจับคู่เจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการ ไทย-เทศรวมกว่า 80 บริษัท เชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ในภาพรวมยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  

          นางสาวธัญดา นันทพันธุ์ ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย และนายกสมาคมอีเลิร์นนิง         แห่งประเทศไทย (e-LAT) กล่าวว่า ในนามผู้แทนภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ มีความความภาคภูมิใจว่า ปีนี้ BIDC ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ในการเป็นเทศกาลด้านดิจิทัลคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการผนึกกำลังของภาคอุตสาหกรรม 5 สมาคม และการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแสดงศักยภาพและความพร้อมภาคอุตสาหกรรมฯ ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในเวทีระดับสากล ซึ่งในปีนี้เราได้กลับมาจัดงานแบบ Onsite เป็นครั้งแรกหลังวิกฤตโควิด ในคอนเซ็ปต์ Hello AI  เพื่อขานรับและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เทคโนโลยีAI เข้ามามีบทบาทและสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่ AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก

นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และประธานเปิดงาน BIDC 2023 ครั้งนี้ กล่าวว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตทั่วโลกตามพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นำมาสู่โอกาสมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่ง DITP ตระหนักในข้อนี้และเห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทย จึงมุ่งมั่นส่งเสริม สนับสนุน และสร้างโอกาส รวมทั้งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยอย่างต่อเนื่อง  โดยในปีที่ผ่านมา กรมดำเนินโครงการส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์สู่ตลาดโลก 8 โครงการ สร้างมูลค่า 3,325 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 นี้   เพิ่มกิจกรรมเป็น 10 โครงการ ตั้งเป้าที่จะสร้างมูลค่าได้มากกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าไม่เกินความจริงอย่างแน่นอน 

         “ในอนาคต DITP จะเดินหน้าสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมฯ อย่างเต็มที่ต่อไป โดยเราจะพัฒนาวิธีการส่งเสริมให้ตอบโจทย์ธุรกิจนี้มากยิ่งขึ้น และปรับตัวไปพร้อมกับภาคอุตสาหกรรมฯ เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศผ่านธุรกิจบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ทำน้อยได้มาก นำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างยั่งยืน” นางสาวณัฐิยา สุจินดา กล่าว

         สำหรับงาน BIDC 2023 ในส่วนของกิจกรรม Business Matching โดยปีนี้มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม 54 บริษัท และผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้าร่วม 33 รายจาก 10 ประเทศ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการกลับมาจัดงานแบบ onsite ครั้งแรกจะเป็นปัจจัยบวก ส่งผลดีให้การเจรจาการค้าและสร้างมูลค่าได้มากกว่า 500 ล้านบาทอย่างแน่นอน

         ทางด้าน นางหริสุดา บุญยวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการจัดงานเมกะอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) กล่าวว่า TCEB ในฐานะหน่วยงานที่มี    พันธกิจในการพัฒนาและยกระดับงานเทศกาลนานาชาติของไทยให้เติบโตในระดับนานาชาติ มุ่งหวังให้งานเทศกาลนี้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการรวมตัวและต่อยอดธุรกิจของอุตสาหกรรมฯ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลงานที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ ทำให้เกิดการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างที่เราได้เห็นผลงานไป อาทิ ด้านภาพยนตร์ หรือ ด้านเวอร์ชวลแอนิเมชั่น เป็นต้น

            สำหรับงาน BIDC นั้น ทาง TCEB ได้มีการสนับสนุนการจัดงานมาตั้งแต่ปีแรก โดยร่วมผลักดันให้งานนี้เป็นศูนย์กลางในการพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเกิดการเจรจาธุรกิจของผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจดิจิทัล    คอนเทนต์ทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0 ที่จะผลักดันให้ดิจิทัลคอนเทนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผลักดันให้ประเทศไทยให้เป็นฮับของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ 

           ทางด้าน นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า  การส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์เป็นหนึ่งในนโยบายที่ดีป้าผลักดันร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง       ทั้งเรื่องของเกม แอนิเมชัน คาแรกเตอร์ CG และ VFX รวมทั้ง E-Learning เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจดิจิทัล        คอนเทนต์ สร้างเครือข่าย การพัฒนาและสร้างศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน  จากผลสำรวจในปี 2564 มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์อยู่ที่ 42,065 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า ปี 65 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 46,961 ล้านบาทซึ่งเติบโตจากเดิมประมาณ 12% โดยการเติบโตดังกล่าว มีปัจจัยมาจากการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น Metaverse, NFT รวมถึงการขยายตัวของผู้เล่น Game และEsports

            นายอินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) กล่าวว่า CEA ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งอีกครั้งในงาน BIDC 2023 ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3  โดยเรามีวัตถุประสงค์ที่จะร่วมผลักดันการพัฒนาผลงานของแรงงานสร้างสรรค์และเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการในการเชื่อมโยงการผลิตผลงานที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และ CEA ให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ร่วมกับ 5 สมาคมวิชาชีพด้านดิจิทัลคอนเทนต์ของไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า BIDC จะเป็นเวทีที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมคอนเทนต์สร้างสรรค์ของไทย รวมทั้งเสริมความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางความคิดสร้างสรรค์ สอดรับกับนโยบาย Soft Power ที่มุ่งเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืน

          นางสาวธัญดา นันทพันธุ์ ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย กล่าวเสริมตอนท้ายว่า สำหรับกิจกรรมใน BIDC ปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม โดยในวันนี้เรามีการจัดงานพิธีเปิดและงานประกาศรางวัล BIDC Awards ถึง 22 รางวัล ประกอบด้วย (1) รางวัลสาขา Emerging Technology & Education โดยสมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BASA) รวม 3 รางวัล  (2) รางวัลสาขา Character โดยสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) รวม 3 รางวัล (3) รางวัลสาขา e-Learning โดยสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-LAT) รวม 4 รางวัล      (4)รางวัลสาขา Animation and Visual Effect โดยสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) รวม 6 รางวัล  (5) รางวัลสาขา Game & Interactive โดยสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) รวม 6 รางวัล  พร้อมปิดท้ายด้วยกิจกรรมสัมมนาแบบ Hybrid กับ 2 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อ Design and Deliver Exceptional Digital Experiences โดยมีวิทยากร : Rajesh Patil (Head – Territory & Channel Sales, Adobe และหัวข้อ Building Creator Profile for International Market การจัดเตรียม Profile เพื่อรับงานต่างประเทศและสำหรับ Outsourcing วิทยากร : นายเอมสินธุ รามสูต (Head of Content Development, The Monk Studios) นายธวัชชัย ชุนหชัย (Co-Founder, Plastiek Studio) และนางสาวพรวจนะ ทิมกาญจนะ (Digital Artist) เป็นต้น

      นอกจากนี้มีรายละเอียดกิจกรรมใน BIDC 2023 ดังนี้

Ø ในวันที่ 7-9 กรกฏาคมจะมีการจัดสัมมนาในรูปแบบออนไลน์โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและต่างชาติ          มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์  

Ø ในวันที่ 16 กรกฏาคมจะเป็นงาน Networking Reception เพื่อสร้างเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการไทยและต่างชาติที่จะร่วมเจรจาการค้ากัน

Ø ในวันที่ 17-18 กรกฏาคม ซึ่งกิจกรรมเจรจาการค้าเป็นไฮไลท์สำคัญที่สร้างมูลค่าให้อุตสาหกรรมดิจิทัล     คอนเทนต์ต่อเนื่องทุกปี 

       สำหรับผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ สตาร์ทอัพ นักศึกษาและผู้สนใจ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ค แฟนเพจ www.facebook.com/bidc.fest    

      ทั้งนี้การจัดงาน BIDC ต่อเนื่องมาสู่ปีที่ 10 ได้รับการตอบรับอย่างมากจากผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ทั้งในและต่างประเทศโดยจากจำนวนผู้เข้าร่วมงานในทุกปีมากกว่า 80 บริษัท คาดการณ์ว่าจะสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศจากอุตสาหกรรมฯ ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท พร้อมเชื่อมั่นในศักยภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยจะเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยความร่วมมือและการส่งเสริมจากทุกภาคส่วน