สกสว.เร่งเดินหน้าพัฒนาโชว์รูมระบบข้อมูล ววน. เพิ่มประสิทธิภาพด้วยระบบธุรกิจอัจฉริยะและเอไอ
ศ. ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 4/2566 โดยมีวาระสำคัญคือ การรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของหน่วยข้อมูล (Intelligence Unit) เพื่อสร้างระบบวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลอัตโนมัติที่มีความถูกต้อง ใช้ข้อมูลทำงานได้อย่างชาญฉลาดและเต็มความสามารถตามความเชี่ยวชาญของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และระบบข้อมูล
เพื่อตอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มเป้าหมายทั้งภายในและภายนอก ที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน สกสว. เป็นองค์กรสมรรถนะสูงที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ภายใน 3 ปี
รศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง หน่วยข้อมูลและสำนักงานผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า ทีมงานได้ออกแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฐานข้อมูล รวมถึงการใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Science and Data Analytic) ที่เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติพันธกิจของสำนักและกลุ่มภารกิจของ สกสว. และเพิ่มการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยนำร่องสาธิตการใช้ธุรกิจอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และมุ่งขยายผลให้หน่วยงานในระบบ ววน. เกินครึ่งได้ประโยชน์จากการจัดการและประมวลผลข้อมูลของ สกสว.ที่มีสมรรถนะสูงขึ้น ซึ่งหลังจากมีระบบที่สมบูรณ์แล้วจะช่วยลดระยะเวลาในการทำงานของบุคลากร สกสว.ได้มาก และเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนและการพัฒนาประเทศด้วยข้อมูลจากระบบ ววน. อย่างเต็มศักยภาพอีกด้วย นอกจากนี้จะทำฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลภายนอกระบบ ววน. และทำระบบเพื่อรับฟังข้อมูลประเด็นที่สาธารณชนสนใจ โดย สกสว.จะพัฒนาบุคลากรให้มีวิศวกรข้อมูลและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลประจำหน่วยงานเพื่อให้ระบบดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน
สิ่งที่หน่วยข้อมูลได้ดำเนินการไปแล้วและกำลังจะสำเร็จในอนาคตอันใกล้ คือ การจัดทำแบบพิมพ์เขียวแดชบอร์ดและเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติพันธกิจของหน่วยงานใน สกสว. สาธิตการใช้งานการประมวลผลข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์ 5 กรณ๊นำร่องตามพันธกิจและปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ระบบรายงานข้อมูลผลงานเด่นเพื่อจัดทำเอกสารชี้แจงงบประมาณ เว็บไซต์ใหม่ของ สกสว. และแก้ปัญหาจุดบอดด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการวิเคราะห์ข้อมูล
ประธานกรรมการอำนวยการระบุว่า ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นขุมทรัพย์ของกองทุนส่งเสริม ววน. ที่จะตอบคำถามกลุ่มเป้าหมาย และจะต้องเชื่อมโยงกับการทำงานภายใน สกสว. เช่น การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคมต่อไปด้วย ขณะที่ รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เผยว่า บทบาทที่ สกสว.ต้องทำต่อไป คือ การสังเคราะห์ข้อมูลที่มีคุณภาพเพื่อส่งมอบผลลัพธ์และผลกระทบ รวมถึงการคืนข้อมูลให้กับหน่วยรับงบประมาณและหน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อให้เห็นภาพรวมและทิศทางการทำงานข้างหน้า
สำหรับข้อเสนอแนะอื่น ๆ จากที่ประชุม ได้แก่ การจัดการงานวิจัย การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยของประชาชน รวมถึงมีวิธีรวบรวมผลงานวิจัยให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้เห็นและนำข้อมูลไปใช้ เปรียบเสมือนโชว์รูมสินค้าที่มีคุณค่า ซึ่งการทำระบบข้อมูลถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ สกสว.มีข้อมูลที่รวบรวมและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ที่อาจรวมถึงการวางนโยบายของรัฐบาลเพื่อผลักดันนโยบาย ตลอดจนภาคอุตสาหกรรม แต่ขอให้เพิ่มเติมส่วนสำคัญที่ยังขาดไป นั่นคือ การสื่อสารให้สาธารณชนทั้งประเทศรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้ข้อเสนอแนะเรื่องความร่วมมือกับธนาคารโลกในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของการลงทุน โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรของประเทศด้านการประเมินของบุคลากร สกสว. ให้มีความรอบรู้ทัดเทียมกับธนาคารโลกทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อจะได้เป็นทรัพยากรบุคคลให้กับประเทศต่อไป รวมถึงการหาโปรแกรมสนับสนุนให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำวิจัย และมีวิธีการประเมินในคณะเศรษฐศาสตร์หรือคณะที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบติดตามประเมินผลกว้างขึ้น ซึ่งผู้อำนวยการ สกสว. แจ้งว่าจะนำสิ่งที่ธนาคารโลกศึกษามาทบทวนเรียนรู้ และพิจารณาตั้งค่าเป้าหมายในการติดตามประเมินผล รวมถึงการทำงานร่วมกับ สสส. ด้านสังคมศาสตร์ด้วย