หัวเว่ยแนะใช้แนวทางต่อเนื่องแบบ ‘นอนสต็อป’ เพื่อพัฒนาระบบธนาคารในแอฟริกาเป็นดิจิทัล
ธนาคารแบบดั้งเดิมจะต้องเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจโดยมุ่งเน้นดิจิทัลเป็นหลัก (digital first) หากต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขันเมื่อเผชิญกับธนาคารยุคใหม่และบรรดาธุรกิจฟินเทคที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง และการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ธนาคารแบบดั้งเดิมต้องทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ธนาคารมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม นี่คือใจความสำคัญที่ได้จากวิทยากรผู้บรรยายในกิจกรรมเสวนาสื่อที่งานประชุม หัวเว่ย อินเทลลิเจนท์ ไฟแนนซ์ ซัมมิท ฟอร์ แอฟริกา ประจำปี 2566 (Huawei Intelligent Finance Summit for Africa 2023) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อไม่นานมานี้
คุณเจสัน เฉา (Jason Cao) ซีอีโอของหัวเว่ย โกลบอล ดิจิทัล ไฟแนนซ์ (Huawei Global Digital Finance) กล่าวว่า ธนาคารในแอฟริกามีโอกาสที่จะได้อานิสงส์จากอัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือของทวีปและความต้องการทางการเงินที่เพิ่มขึ้น “มือถือเป็นแกนหลักของทุกสิ่ง” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าการชำระเงินผ่านมือถือในจีนและในแอฟริกามีความคล้ายคลึงกัน ด้านคุณเบรตต์ คิง (Brett King) นักอนาคตศาสตร์และนักเขียน แสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า การให้บริการโดยมุ่งเน้นมือถือเป็นหลักนั้นมีความสำคัญทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในแอฟริกา
ขณะที่คุณอีริก มูริอูกิ เอ็นจากี (Eric Muriuki Njagi) ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจดิจิทัลของเอ็นซีบีเอ กรุ๊ป (NCBA Group) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทบริการทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการใช้แนวทางดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นดิจิทัลเป็นหลักเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า ได้ร่วมเสวนาด้วย
โดยเขาชี้ให้เห็นว่า สำหรับธนาคารแล้ว การเลือกที่จะเป็นผู้นำด้วยเทคโนโลยีเป็นเรื่องของการใช้ “เงินเพื่อเร่งสร้างความไว้วางใจ” เขากล่าวว่า “ปัจจุบัน เรามีบริการชำระเงินด่วนหรือในไม่กี่วินาที” พร้อมกับเสริมว่า บริการดังกล่าวได้ขยายไปสู่ธุรกิจสินเชื่อแล้ว “เราเริ่มดำเนินการอนุมัติสินเชื่อประมาณ 6 ล้านรายการต่อวัน โดยใช้เวลาเฉลี่ย 2 วินาทีในการอนุมัติแต่ละครั้ง”
อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการเอ็นซีบีเอระบุด้วยว่า การเร่งให้บริการดังกล่าวจะไร้ความหมายหากปราศจากความไว้วางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของเงินเฟียต (fiat) ซึ่งประกอบด้วยเงินสดเพียง 5% ส่วนที่เหลือเป็นอัลกอริทึม
“เราจะเชื่อถืออัลกอริทึมได้อย่างไร” เขาถาม
คำตอบสะท้อนอยู่ในแนวคิดที่หัวเว่ยเรียกว่า “การธนาคารต่อเนื่องแบบนอนสต็อป” หรือ “Non -Stop Banking”
คุณลีโอ เฉิน (Leo Chen) ประธานหัวเว่ยประจำภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา เปิดตัวโครงการริเริ่ม ‘นอนสต็อปแบงกิง’ ที่งานหัวเว่ย อินเทลลิเจนท์ ไฟแนนซ์ ซัมมิท ฟอร์ แอฟริกา ประจำปี 2566 โครงการดังกล่าวเรียกร้องให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และอุตสาหกรรมธนาคารร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการบริการ การพัฒนา และการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ต่อเนื่องแบบ ‘นอนสต็อป’
จุดเริ่มต้นที่ดีคือความเสถียร แต่คุณเจิ้นเทา เฉิน (Zhentao Chen) ซีทีโอหัวเว่ย ดิจิทัลไฟแนนซ์ ประจำภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ชี้ให้เห็นว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่ธนาคารในแอฟริกาจะทำได้เสมอไป ซึ่งในเรื่องนี้ การย้ายระบบแบ็กเอนด์ไปยังคลาวด์มีความสำคัญอย่างยิ่ง “ระบบคลาวด์สามารถช่วยให้ธนาคารให้บริการทางการเงินโดยที่ไม่เกิดดาวน์ไทม์” คุณเฉากล่าว
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว หากธนาคารแบบดั้งเดิมต้องแข่งขันกับธุรกิจฟินเทค ธนาคารไม่เพียงต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ แต่จะต้องรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นดิจิทัลเป็นหลัก
คุณเฉาสะท้อนประเด็นดังกล่าว โดยกล่าวสรุปว่า หัวเว่ย “มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับลูกค้าในแอฟริกาเพื่อมุ่งเน้นไปที่ความท้าทายและเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล”