สจล. หนุนนวัตกรรมไทยสู่ระดับโลก เตรียมจัดงาน KMITL INNOVATION EXPO 2023 วันที่ 27-29 เมย.นี้ โชว์พลังสิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทย 1,111 ชิ้น เผยโฉม ‘แบตเตอรี่กราฟีน’ ครั้งแรกในประเทศไทย
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำโดย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการอธิการบดี ผนึกความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และพันธมิตรนานาชาติ แถลงเตรียมจัดงาน “KMITL Innovation EXPO 2023” ในวันที่ 27 – 29 เม.ย. 2566 ที่ สจล.
ซึ่งเป็นการแสดงนวัตกรรมและผลงานวิจัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 1,111 ชิ้นเผยตัวอย่าง 4 นวัตกรรมสุดว้าว แบตเตอรี่กราฟีนสำหรับยานยนต์ EV ในอนาคต ผ้าไหมไทยย้อมกราฟีนแบบใส่ในเมืองร้อนและเมืองหนาว เม็ดพลาสติกกราฟีน และระบบตรวจจับ Plasma Bubble ในชั้นบรรยากาศ ชูพลังทุกภาคส่วนจัดทัพใหญ่ยกระดับนวัตกรรมไทยสู่ระดับโลก พร้อมทั้งเปิดเวทีเสวนา หัวข้อ “รวมพลังสร้างอนาคต เปลี่ยนไทย…เปลี่ยนโลกด้วยนวัตกรรม” ณ ศูนย์ KMITL Creator Space ชั้น 6 อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ก้าวสู่ปีที่ 63 สจล.มุ่งมั่นเป็นพลังร่วมพัฒนาประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ งานวิจัย และนวัตกรรมสู่สังคมโลกอย่างไม่หยุดนิ่ง ด้วยวิสัยทัศน์ The World’s Master of Innovation ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก ประเทศไทยจะเติบโตและเข้มแข็งอย่างยั่งยืนก้าวหน้าไปกับประชาคมโลกด้วยกัน จำเป็นต้องยกระดับนวัตกรรมสู่เวทีโลก มีพื้นที่ให้ “คน” ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการสร้างนวัตกรรม ได้เรียนรู้ พบปะกัน ลับคมจากไอเดียและต่อยอดสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์และใช้ประโยชน์ได้จริง เข้าถึงแหล่งทุน เทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญา จึงเป็นที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน “KMITL Innovation EXPO 2023” ภายใต้ธีม World Towards Sustainability Together กำหนดจัดวันที่ 27 – 29 เม.ย. 2566 ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ซึ่งเป็นที่จัดแสดงหลัก และอีก 2 แห่งที่จัดแสดงรอง คือ หอประชุมวิศวะลาดกระบัง และศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิต สจล. (KLLC) นับเป็นงานแสดงสีสันนวัตกรรมและงานวิจัยที่ตื่นตาตื่นใจและยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จำนวน 1,111 ผลงาน จากเมคเกอร์นักศึกษา นวัตกร นักวิจัย สจล. ได้มาพบปะกับนักลงทุน นักธุรกิจอุตสาหกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและผู้นำเทคโนโลยีในตลาดโลก ได้แก่ เมสเซ ฟรังเฟิร์ต (Messe Frankfurt), อะเมซอน เว็บเซอร์วิสเซส (AWS) และเฟสโต ไดแดคติก (Festo Didactic) โดยพื้นที่จัดแสดงในงาน แบ่งเป็นนวัตกรรม 6 คลัสเตอร์ ที่ขับเคลื่อนอนาคตไทยและภูมิภาคโลก ได้แก่ นวัตกรรม BCG, Industry 4.0, Healthcare & Wellness, Digital Technology, Smart City และ Creative Economy
อัพเดทกับสีสันนวัตกรรมและกิจกรรมไฮไลท์ในงาน “KMITL Innovation EXPO 2023” ได้แก่ โชว์เคสนวัตกรรมเด่น (Innovation Showcase) ผลงานวิจัยและนวัตกรรม, งานประกวดนวัตกรรม 2023 (Innovation Contest / Startup Pitching), Hackathons, การจับคู่ธุรกิจการลงทุน (Business Matching), การถ่ายทอดทรัพย์สินทางปัญญา (IP Market), ฟอรั่มและเวิร์คช็อปด้านเทคโนโลยี, สาระความรู้จาก 11 คณะ 5 วิทยาลัยใน สจล. และพันธมิตร อาทิ การแข่งขันหุ่นยนต์ พร้อมด้วยกิจกรรม Playground สำหรับเยาวชนนักเรียนและผู้ปกครอง Open House เปิดบ้าน สจล. โชว์ผลงานจากนักศึกษาคนรุ่นใหม่ แนะนำหลักสูตรสร้างอนาคตสดใส ก้าวไปกับโลกยุคใหม่
มาดู 4 นวัตกรรมเด่น ส่วนหนึ่งของนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ จากจำนวน 1,111 ผลงาน ที่จะแสดงในงาน “KMITL Innovation EXPO 2023” วันที่ 27 – 29 เม.ย. 2566
1. นวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีน ซึ่งทีมวิจัยนำโดย รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สำหรับ กราฟีน (Graphene) เป็นสิ่งที่นานาประเทศเชื่อมั่นว่าเป็นวัสดุแห่งอนาคต โดยเป็นชั้นอะตอมของคาร์บอนที่เรียงตัวต่อกันเป็นโครงสร้าง 6 เหลี่ยม (Hexagonal) ซึ่งโดดเด่นด้วยคุณสมบัติสุดพิเศษหลายด้าน คือ บางที่สุดในโลก แข็งแกร่งกว่าเพชรและเหล็กกล้าถึง 200 เท่า นำไฟฟ้าได้ดี น้ำหนักเบาแต่พื้นผิวมาก กราฟีน 1 กรัม จะมีพื้นผิวเท่ากับ 10 สนามเทนนิส ทีมวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ สจล.ได้คิดค้น 3 นวัตกรรมที่ใช้กราฟีน เพื่อคนไทยและมนุษยชาติ ได้แก่ 1) “แบตเตอรี่กราฟีน” ซึ่งคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติปี 2566 สำหรับใช้กับยานยนต์ปัจจุบัน สจล.เป็นแห่งเดียวในไทยที่สามารถผลิตวัสดุ “กราฟีน” ได้เองจากโรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนใน สจล. ด้วยกำลังผลิตเดือนละ 15 กก. ทดแทนการนำเข้าซึ่งมีราคากก.ละกว่า 10 ล้านบาท เมดอินไทยแลนด์ นับเป็นความสำเร็จในเฟสที่1 และวันนี้เป็นความสำเร็จในเฟสที่2 ทีมวิจัยคิดค้นพัฒนา“แบตเตอรี่กราฟีน” ครั้งแรกในประเทศไทยโดยใช้ รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ ร่วมกับคาร์บอนจากวัสดุการเกษตรธรรมชาติ เช่น ถ่านเปลือกทุเรียน ถ่านกัญชง ถ่านหินลิกไนต์ และคาร์บอนทั่วไป มาประดิษฐ์ขั้วไฟฟ้า นอกจากนี้ ทีมวิจัย สจล.ยังได้พัฒนาวัสดุใหม่คือ วัสดุคอมโพสิตยางพารา ผสม นาโนกราฟีนออกไซด์ เพื่อป้องกันการคายประจุจากไฟฟ้าสถิต ทั้งเป็นตัวดูดซับสารอิเล็กโทรไลต์ให้มีสภาพเปียกได้สูง มีพื้นที่ผิวจำเพาะสูง ช่วยให้การเคลื่อนที่ของไอออนไหลผ่านได้ดีขึ้นจากรูพรุนที่เหมาะสม ส่งผลให้ยางพารามีประสิทธิภาพในการเป็นตัวแยกขั้วไฟฟ้าที่ดี ไม่มีความร้อนสะสมภายใน ทนต่อความร้อนและปฏิกิริยาเคมีจากกราฟีนออกไซด์ จุดเด่นของ “แบตเตอรี่กราฟีน” คือ กักเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น และมีอัตราการอัดประจุได้ที่รวดเร็วขึ้นจากแบตเตอรี่แบบเดิม ราคาถูก ไม่ระเบิด จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัสดุการเกษตรเหลือใช้ภายในประเทศ สนับสนุนแนวเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ลดปริมาณขยะสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้า มีประสิทธิภาพสูง แต่ราคาถูกกว่าลิเธียมไอออนมาก ในอนาคตเป็นการพัฒนาเฟสที่3 และ4 สามารถใช้ได้กับยานยนต์ไฟฟ้า EV มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สามล้อไฟฟ้า เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ก้าวเป็นฮับ EV และสังคมที่ยั่งยืน
2. ผ้าไหมไทยย้อมกราฟีน โดยทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ สจล. นำโดย รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ ได้เพิ่มมูลค่าให้ผ้าไหมไทยซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยคิดค้นพัฒนาเส้นด้ายไหมและผลิตผ้าไหมด้วยวัสดุอนุพันธ์กราฟีน ที่มีสมบัติพิเศษทางความร้อนที่แตกต่างกัน ด้วยกรรมวิธีอัจฉริยะที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และปลอดสารเคมีที่เป็นอันตราย นับเป็นการยกระดับผ้าไหมไทยไปสู่ตลาดที่กว้างยิ่งขึ้น เพิ่มรายได้แก่เศรษฐกิจชุมชนและประเทศ นำนวัตกรรมขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น รวมทั้งผ้าอุตสาหกรรมของไทยสู่ตลาดโลกได้หลากหลาย การย้อมกราฟีนทำให้ได้เส้นด้ายหรือผ้านั้นๆ มีคุณภาพดี มีความเหนียวขึ้น แข็งแรงคงทน ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ มีความทนทานและแห้งได้เร็ว โดยผ้าไหมไทยย้อมกราฟีน มี 2 แบบ คือ1) ผ้าไหมไทยย้อม “นาโนกราฟีนออกไซด์” เป็นผ้าที่ช่วย “สร้างความร้อน” แก่ผู้สวมใส่ กักเก็บความร้อนได้ดี ให้ความอบอุ่นเหมาะสำหรับผู้สวมใส่ในที่อุณหภูมิต่ำ ห้องเย็น หรือประเทศเมืองหนาวจากการทดสอบสมบัติการกระจายความร้อนผ้าไหมพบว่ามีค่าความร้อนที่ถูกกักเก็บเท่ากับ 70% เมื่อเทียบกับผ้าไหมในท้องตลาด 2) ผ้าไหมไทยย้อม “นาโนรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์” เป็นผ้าที่ช่วย “ระบายความร้อน” แก่ผู้สวมใส่ ไม่กักความร้อน จึงให้ความสบายตัวสำหรับผู้สวมใส่ในพื้นที่ซึ่งมีอุณหภูมิสูง หรืออยู่ในกลางแดด จากการทดสอบพบว่ามีค่าความร้อนที่ถ่ายเท เท่ากับ 96.81% เมื่อเทียบกับผ้าไหมทั่วไป
3. เม็ดพลาสติกกราฟีน ทีมวิจัย สจล.ได้คิดค้นนำพอลิเมอร์ที่คัดสรรมาผ่านกระบวนการผสมวัสดุกราฟีน เพื่อเพิ่มคุณสมบัติความเหนี่ยว คงทนแข็งแกร่ง แต่ให้น้ำหนักเบา สามารถนำมาดึงเป็นเส้น “ฟีลาเมนต์” สำหรับการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) มีประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้ในการผลิตอุปกรณ์โดรนการเกษตร อุปกรณ์ด้านการทหารและอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศสำหรับใช้ในประเทศหรือส่งออก เช่น พิมพ์ขึ้นรูปโดรนการทหาร แผ่นเกราะกันกระสุน หมวกกันกระสุน เป็นต้น
4. ระบบตรวจจับพลาสมาบับเบิ้ล (Plasma Bubble) เพื่อคาดการณ์ภัยพิบัติ นำร่องอากาศยาน และใช้ GPS ได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย ผลงานทีมวิจัยนำโดย ศ.ดร.พรชัย ทรัพย์นิธิ หัวหน้าทีมวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า สจล.ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ หรือ NICT ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ พลาสมาบับเบิ้ล (Plasma Bubble) เป็นความผิดปกติที่เกิดในชั้นบรรยากาศซึ่งรบกวนสัญญาณดาวเทียม ส่งผลกระทบต่อระบบการสื่อสาร การระบุตำแหน่ง การนำร่องอากาศยาน สัญญาณ GPS แม่นยำลดลง ซึ่งจะนำไปสู่อุบัติเหตุและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยและทั่วโลก สจล.ได้สร้าง “สถานีเรดาห์ตรวจสภาพอวกาศ” ที่วิทยาเขตสจล.จังหวัดชุมพร เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเรดาร์ VHF ร่วมกับเซนเซอร์ในการตรวจพลาสมาบับเบิ้ล ความผิดปกติที่เกิดในชั้นบรรยากาศด้วยประสิทธิภาพในการมอนิเตอร์ การแจ้งเตือนถึงความผิดปกติแก่ผู้ใช้งานทันที โดยแจ้งเตือนไปยังสถานีต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงเครื่องรับสัญญาณ GNSS ที่ใช้งานในขณะนั้นได้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมการรับมือและลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น สจล.กำลังวิจัยพัฒนาระบบนำร่องในการลงจอดอัตโนมัติ (Auto Landing) ซึ่งจะพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย อีกทั้งยกระดับการทำงานด้วยระบบดาวเทียมซึ่งมีบทบาทสูงในวิถีชีวิตของประชาชน
ชมงานKMITL Innovation EXPO 2023 ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย…. ผู้สนใจลงทะเบียนที่ลิ้งค์ https://expo.kmitl.ac.th/ และในงานได้จัดเตรียมรถบัสไฟฟ้า สกูตเตอร์ไฟฟ้า BEAM ไว้คอยบริการรับส่งผู้มาเยี่ยมชมด้วย