November 24, 2024

ฟูจิตสึ ร่วมลงนามความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดโอกาสนักศึกษา พัฒนาความรู้ สู่ปฏิบัติงานจริง

บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากร เปิดโอกาสให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย เข้ารับการฝึกงานที่ ฟูจิตสึ  ซึ่งมีกระบวนการทำงานระดับโลก เพื่อเตรียมความพร้อม และพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การทํางานจริง ในสายงานภาคธุรกิจเทคโนโลยีและการสื่อสาร

ให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ สอดรับต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลของประเทศ โดย ฟูจิตสึ เผยว่า การร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในครั้งนี้ เป็นโครงการนำร่องเพื่อต่อยอด ในการพัฒนานักศึกษาในสถาบันอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

นางสาวกนกกมล เลาหบูรณะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เรามุ่งเน้นช่วยตลาดแรงงานของประเทศไทยโดยรวม ในด้านการพัฒนาทรัพยากร ด้วยการเร่งกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เข้ารับการฝึกงาน ได้เรียนรู้ ด้านเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากทั่วโลก เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การทำงานจริง ทั้งยังช่วยส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าให้นักศึกษาไทยได้อย่างยั่งยืน (Sustainability Transformation หรือ SX) และเป็นประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้างในอนาคตอีกด้วย โดยโครงการนี้จะจัดทำอย่างต่อเนื่อง เริ่มนำร่องด้วยการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จํากัด กับคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อสนับสนุนการจัดการการศึกษากับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ด้วยการรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เข้าร่วมฝึกงาน

ทางด้าน รศ. ดร. สุรพันธ์ ยิ้มมั่น คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิต การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ส่งเสริม และเป็นหน่วยงานในการให้บริการทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิชาการชั้นสูงที่เกี่ยวข้องแก่กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มอาชีพ และผู้สนใจทั่วไป นอกจากนี้ยังมีนโยบายหลักที่จะเป็นคณะชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มีความมุ่งมั่นที่จะให้นักศึกษาได้ปฏิบัติงานจริง ตามแนวทางจัดการศึกษาภายใต้กรอบแนวคิด “วิชาการดีเด่น จากการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ (Academic Excellence with Hands-on Experience)” โดยมุ่งเน้นการศึกษาที่ผลลัพธ์ของผู้เรียน ผลิตบัณฑิตและทรัพยากร ให้มีคุณภาพ ความคิดสร้างสรรค์สามารถลงมือปฏิบัติงานจริงได้ ด้วยการผสมผสานภาคทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงจากทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการ (Cooperative Education) ทำให้นักศึกษา สามารถเข้าใจมุมมองของผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี นำประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกงาน ไปต่อยอด พัฒนา และเรียนรู้ต่อไปได้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และคงไว้ซึ่งคุณธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และสังคมในปัจจุบันอีกด้วย