วิศวะมหิดล อว. ดีอีเอส WHA ร่วมเปิดศึกแข่งขันลีกหุ่นยนต์ เวิลด์ โรโบคัพ 2022 เพิ่มแรงหนุนโรบอทรับเศรษฐกิจยุคดิสรัปต์
มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือ อว. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส พร้อมด้วย สหพันธ์โรโบคัพ และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดฉากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกในรายการ World RoboCup 2022 โดยมี 45 ชาติ ร่วมนำหุ่นยนต์ในหลากหลายโซลูชันข้าร่วมการแข่งขัน
และอวดโฉมความอัจฉริยะพร้อมกันนี้ ยังได้มีการเผยถึงมาตรการส่งเสริมหุ่นยนต์ในประเทศไทยเพื่อตอบโจทย์กับภาคการลงทุน ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเมืองอัจฉริยะ อาทิ การยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี การส่งเสริมหลักสูตรทางด้านสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยี การผลักดันผู้ที่มีความสามารถและบุคลากรสมรรถนะสูงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกในรายการ World RoboCup 2022 ประกอบด้วยการแข่งขันทั้งหมด 2 ประเภทหลัก คือ หมวด Major League 4 ประเภท ได้แก่ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย การประกวดหุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการส่วนบุคคล และการจัดประกวดหุ่นยนต์และแขนกลเพื่องานอุตสาหกรรม และ หมวด Junior League (RCJ) สำหรับเยาวชนอายุ 14 – 19 ปี รวมถึงเวทีการแสดงผลงานสินค้าสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ 13 – 17 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา Hall EH98-100
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ครั้งที่ 25 กล่าวว่า การจัดแข่งขัน “World RoboCup 2022 มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้น แลกเปลี่ยน และต่อยอดงานวิจัยในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพื่อสร้างบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในด้าน AI และหุ่นยนต์ กระตุ้นการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศ ผู้ประกอบการ นักประดิษฐ์ นักวิจัย นิสิตนักศึกษาให้เป็นวิศวกรพันธุ์ใหม่ ที่สนใจแก้ไขปัญหา ทำงานร่วมกันเป็นทีม รู้จักแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีในระดับสากล โดยมีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา (Hall EH98-100) โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 RoboCup Leagues หมวด Major League สำหรับผู้เข้าแข่งขันในกลุ่มอายุ 19 ปี ขึ้นไป โดยจะมีการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 13 – 16 กรกฎาคม 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 130 รอบการแข่งขัน ประกอบด้วยการแข่งขันทั้งหมด 4 ประเภท คือ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCupSoccer) การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCupRescue) การประกวดหุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการส่วนบุคคล (RoboCup@Home) และการจัดประกวดหุ่นยนต์และแขนกลเพื่องานอุตสาหกรรม (RoboCupIndustrial) และ หมวด Junior League (RCJ) สำหรับเยาวชนอายุ 14 – 19 ปี จำนวน 16 รอบการแข่งขัน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มด้านการศึกษาที่เน้นการสนับสนุนกิจกรรมหุ่นยนต์ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ตลอดจนถึงระดับนานาชาติสำหรับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา รวมถึงนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
ส่วนที่ 2 Robotics & AI Exhibitions หนึ่งในเวทีการแสดงผลงานสินค้าในกลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติ โดยภายในงานจะมีบูธสินค้าเทคโนโลยีโรโบติกส์ที่น่าสนใจมาจัดแสดง อาทิ หุ่นยนต์ส่งยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล หุ่นยนต์ช่วยเหลือการเดิน-ลุก-นั่งสำหรับผู้สูงอายุ เก้าอี้รถเข็นไฟฟ้าขึ้นบันได นวัตกรรมการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อจำแนกชนิดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) ด้วยวิธีวิเคราะห์ High-resolution Melt แบบอัตโนมัติ และสาธิตเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ทางไกลของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งข้อมูลด้านนวัตกรรมสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิตอลแพลตฟอร์มการให้ข้อมูลเรื่องกลยุทธ์นวัตกรรมของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมถึงการนำเทคโนโลยี 360 องศา เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้เยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ได้จากภายในงาน นอกจากนี้ยังมีการให้ข้อมูลผ่านเทคโนโลยี AI เสมือนจริงอีกด้วย พร้อมกันนี้ยังพบกับระบบเทคโนโลยีสุดพิเศษจากมูลนิธิเอสซีจี บริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) และ ชุดทดสอบสารเคมีกำจัดแมลงตกค้างในผักและผลไม้ ชุดตรวจสิ่งปนเปื้อนบนวัสดุการแพทย์ รวมถึงนวัตกรรมทางการแพทย์อีกมากมายจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนที่ 3 Robotics Startup & Pitching ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่าย ภาคเอกชน นักลงทุน และมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั้งในและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และส่วนสุดท้ายคือ RoboCup Symposium เวทีการประชุมวิชาการที่เปิดโอกาสให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มนักวิชาการระดับโลกได้แลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ ๆ ทางด้านเทคโนโลยีโรโบติกส์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่กระทรวงฯ มุ่งขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกิดขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายสร้างพื้นที่และเมืองที่ทันสมัย ตอบโจทย์กับความก้าวล้ำของโลกยุคใหม่ที่เน้นการพึ่งพาดิจิทัลและเทคโนโลยี และนำโซลูชั่นที่ทันสมัยไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คลาวด์ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือแม้แต่กระทั่งหุ่นยนต์เข้ามาช่วยพัฒนาเรื่องการเดินทาง การขนส่ง ความปลอดภัย การจ้างงาน ตลอดจนคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมหุ่นยนต์ ที่นับเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยทั้งในแง่ของการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพที่จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มหาศาลให้กับประเทศ การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม ต่อเนื่องไปถึงการสร้างแรงจูงใจเพื่อรับการลงทุนจากทั่วโลก โดยขณะนี้ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในด้านหุ่นยนต์ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต และจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เติบโตมากกว่าในด้านการแข่งขันหรือเพียงต้นแบบที่พัฒนากันในปัจจุบัน
“รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ด้วยการยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทย รวมถึงในด้านหุ่นยนต์ เพิ่มขีดความสามารถการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น โดยสภาดิจิทัลฯ คาดการณ์ว่ามาตรการ Capital Gains Tax จะทำให้ไทยมีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพภายในปี 2569 เพิ่มขึ้น 320,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานทั้งทางตรง และทางอ้อมเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 แสนตำแหน่ง รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจประเทศคิดเป็นมูลค่า 790,000 ล้านบาท”
ด้าน ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าในฐานะเจ้าภาพการจัดกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ครั้งที่ 25 “World RoboCup 2022” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เล็งเห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยที่มีทักษะความรู้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องต่อการดำเนินงานตามแผนพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการใช้หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยวางเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Innovative Economy ตามโมเดล Thailand 4.0 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างยั่งยืน
“โดยในปัจจุบันนี้ ทิศทางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีมูลค่ารวมกว่า 350,400 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเติบโตในตลาดโลกในอีก 5 ปีข้างหน้าในมูลค่ามากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ควรส่งเสริมภาคสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะในหลักสูตรทางด้านสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยี รวมถึงกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสทางด้านอาชีพให้กับบรรดานักวิศวกรคุณภาพ ที่จะร่วมผลักดันประเทศชาติต่อไปได้ในอนาคต”
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มีเป้าหมายในการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคใหม่ในอุตสาหกรรมอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า การบิน พลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัลเพื่อสุขภาพ หุ่นยนต์และโรโบติกส์ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย ดังนั้นการแข่งขันครั้งนี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของภูมิภาค และการเติบโตของระบบนิเวศไอซีทีให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนมากขึ้น
“ในฐานะผู้สนับสนุนนโยบายด้านการเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และผู้นำในด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมครบวงจร รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567 ด้วยการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ในดำเนินงานของทุกกลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพและเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยินดีที่ได้มีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ครั้งนี้ เพราะมั่นใจว่านวัตกรรมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นจากศักยภาพและความสามารถของผู้เข้าแข่งขันหุ่นยนต์จากประเทศไทย รวมถึงอีก 44 ประเทศ จะช่วยให้ทุกภาคส่วนรวมถึงภาคอุตสาหกรรมมีความก้าวหน้ารวมถึงทำให้ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ให้ความสนใจอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นตามบริบทสังคมและเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม”
ศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ สโตน ประธานสหพันธ์โรโบคัพ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกในรายการ World RoboCup จัดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของสหพันธ์โรโบคัพนานาชาติ (International RoboCup Federation) ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลักดันการวิจัยและพัฒนาวงการหุ่นยนต์ระดับโลก โดยเริ่มมีการจัดการแข่งขันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งยิ่งใหญ่ที่ยังคงดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ มีผู้ร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 3,000 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน และไทย เป็นต้น โดยผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลพร้อมประกาศนียบัตรเพื่อเป็นเกียรติคุณ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าแข่งขันสู่การเข้าถึงโอกาสทางวิชาชีพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้ในระดับสากล สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://2022.robocup.org/index.php หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/RoboCup2022