ทำไมสถาบันการเงินจึงต้องกำกับดูแลการใช้งาน AI ให้รัดกุม
บริการทางการเงินเป็นภาคธุรกิจที่มีความท้าทายสูงมากจากการที่ผู้ทำธุรกิจด้านนี้ต่างแสวงหาความได้เปรียบทางการแข่งขันด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และแนวทางในการทำธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงการนำวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่ามาใช้ร่วมกัน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้สถาบันการเงินปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานต่าง ๆ ให้เป็นแบบอัตโนมัติ เพิ่มความแม่นยำในการทำนายและคาดการณ์ และให้บริการแก่ลูกค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ดีสถาบันการเงินจำเป็นต้องกำหนดกรอบการกำกับดูแลการใช้ AI ที่รัดกุมเพื่อขับเคลื่อนการใช้งาน AI ในทุกแง่มุมให้เป็นไปอย่างปลอดภัยและคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพ
บทบาทของการกำกับดูแลการใช้ AI
การกำกับดูแล AI ประกอบด้วยกฎเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติ และกระบวนการที่ใช้ในการกำกับดูแลและควบคุมการใช้งาน การกำกับดูแลการใช้ AI มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้องค์กรต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเต็มศักยภาพ ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่าย และลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากภาคธุรกิจการเงินมีกฎระเบียบที่เข้มงวด ดังนั้นสถาบันการเงินจึงต้องใช้กรอบการกำกับดูแลการใช้ AI ที่รัดกุม เพื่อให้สามารถกำกับดูแลกลยุทธ์ด้าน AI ได้ดียิ่งขึ้น กรอบการทำงานดังกล่าวควรประกอบด้วยกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการใช้ AI และมีคู่มือหรือแนวนโยบายเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมและการจัดการข้อมูล นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องระบุและป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ เพื่อคุ้มครองข้อมูลอย่างเข้มงวด และเพื่อให้สอดคล้องตามข้อกำหนดทางกฎหมาย
คุณประโยชน์สำคัญที่ได้จากการลงทุนด้านกรอบการกำกับดูแลการใช้ AI ได้อย่างเหมาะสม มีดังนี้
- เพิ่มความสามารถในการตัดสินใจ — เข้าถึงข้อมูลได้ดีขึ้น และคาดการณ์ได้แม่นยำมากขึ้น
- เพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย — งานประจำ และกระบวนการด้านต่าง ๆ ทำได้แบบอัตโนมัติ
- บริการลูกค้าได้ดีขึ้นและลูกค้ามีส่วนร่วมมากขึ้น — แชทบ็อท หรือเครื่องมืออื่น ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า
การลงทุนเพื่อให้ได้รับประโยชน์เหล่านี้อาจหมายรวมถึงการว่าจ้างบุคลากรที่มีหน้าที่กำกับดูแลกรอบการทำงาน กำหนดแนวทางและมาตรการที่ชัดเจน และจัดหาเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล
กรอบการกำกับดูแลการใช้ AI ต้องเกิดจากความต้องการที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคต
ปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถสูงมาก แต่ขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ ๆ ที่สถาบันการเงินจะต้องจัดการดูแลในสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีระบบควบคุมที่จะช่วยตรวจวัด และจัดการเป้าหมายของโมเดลต่าง ๆ รวมถึงความต้องการข้อมูลระดับประสิทธิภาพที่ต้องการ และความน่าเชื่อถือโดยสอดรับกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ขององค์กร
การปรับเปลี่ยนตามแนวทางของกรอบการกำกับดูแลที่กำหนดรูปแบบอย่างชัดเจน รอบด้าน และครบถ้วนสมบูรณ์ จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถพัฒนาและควบคุมวิธีการต่าง ๆ ในการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโมเดล AI ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น และท้ายที่สุดแล้วก็จะสามารถปกป้ององค์กร และลูกค้าให้ปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างประโยชน์ในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้นให้กับลูกค้า
ปัจจัยสำคัญที่สถาบันการเงินจะต้องคำนึงถึงในการดำเนินแนวทางปฏิบัติตามกรอบการกำกับดูแลการใช้ AI ที่รัดกุมและชัดเจน ได้แก่ ความน่าเชื่อถือ ความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและความปลอดภัย รวมถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
- ความน่าเชื่อถือ — เป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมและองค์ประกอบทางจริยธรรมของโมเดล AI เพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาดอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อคนบางกลุ่ม ความรับผิดชอบและความโปร่งใสจะช่วยรับรองยืนยันการใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม รวมถึงผลกระทบต่อกระบวนการตัดสินใจที่นำไปสู่ผลลัพธ์ และเปิดโอกาสให้มีช่องทางสำหรับการสอบถามหรือตั้งคำถามในกรณีที่จำเป็น
- ความยืดหยุ่น — โมเดล AI จะต้องได้รับการปรับปรุงและทบทวนแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความเสี่ยงใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ และความท้าทายอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความสอดคล้องกัน กรอบการกำกับดูแลที่รัดกุมจะช่วยให้สถาบันการเงินบรรลุเป้าหมายในการประเมิน ตรวจสอบ และตอบสนองต่อความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโมเดล AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ความปลอดภัย — โมเดล AI อาจเผยให้สถาบันการเงินเห็นความเสี่ยงด้านการดำเนินงานและกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก เช่น ระบบไอทีล่ม ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (เช่น การโจมตีแบบ Data Poisoning) และปัญหาเรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
ความท้าทายในการปรับใช้กรอบการกำกับดูแลการใช้ AI
องค์กรจำเป็นต้องจัดการกับความท้าทายสำคัญ ๆ ต่อไปนี้ เพื่อให้กรอบการกำกับดูแลการใช้ AI เป็นประโยชน์ในระยะยาว
- การดำเนินการเก็บรวบรวม ทำความสะอาดข้อมูลให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ เชื่อถือได้ และสอดคล้องกันมากขึ้น รวมถึงความเที่ยงตรงของฟังก์ชั่นการป้อนข้อมูล
- การจัดการปัญหาเรื่องอคติในโมเดล AI ที่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นธรรมและมีการเลือกปฏิบัติ
- การยึดมั่นในความรับผิดชอบและความโปร่งใสในระบบ AI ช่วยให้ผู้ดูแลด้านการใช้ AI ในองค์กร เข้าใจว่าองค์กรใช้ข้อมูลในการตัดสินใจในลักษณะใดบ้าง ทั้งยังเอื้อให้มีการทบทวนหรือปรับเปลี่ยนการตัดสินใจในกรณีที่จำเป็น
- การปฏิบัติตามกฎระเบียบ นโยบายองค์กร มาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่เหมาะสมของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงข้อบังคับภายนอกและภายในองค์กร เป็นความท้าทายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดเช่นภาคการเงิน เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับ บทลงโทษ และความเสียหายต่อชื่อเสียง
- การจัดการและตรวจติดตามการทำงานของระบบ AI เชิงรุก ด้วยการระบุและวินิจฉัยปัญหา และอนุญาตให้มีการดำเนินการแก้ไข
บทความโดยฟาดซี อูเชโวคุนซ์, สถาปนิกด้านบริการทางการเงิน, เร้ดแฮท