“อว. – มหิดล” ผนึกเครือข่ายรัฐ – เอกชน เตรียมเปิดฉากแข่งขันหุ่นยนต์โลกดึง 45 ประเทศร่วมอวดความล้ำโรบอท พร้อมดันหุ่นยนต์ไทยทรานส์ฟอร์มอุตฯ – ศก.ดิจิทัล
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมเปิดศึกการแข่งขันครั้งยิ่งใหญ่ในกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ครั้งที่ 25 ในงานมหกรรม “World RoboCub 2022”
พร้อมพบกับสีสันนวัตกรรมโรโบติกส์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตอื่น ๆ อีกมากมายภายในงาน ระหว่างวันที่ 13 – 17 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา (Hall EH98-100) โดยผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://2022.robocup.org/index.php หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/egmahidol
ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ และแผนพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงฯ จึงได้ให้การสนับสนุน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการอุดมศึกษาในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ครั้งที่ 25 หรือ “World RoboCub 2022” ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยบนเวทีโลก และสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติในช่วงที่เริ่มมีการเปิดประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นแนวทางที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการยกระดับสินค้า และบริการด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ผ่านการเฟ้นหาผู้ที่มีความสามารถที่เข้าร่วมในกิจกรรม เช่น นักศึกษา สตาร์ทอัพ หรือผู้ดำเนินธุรกิจนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม การจัดงานในปีนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้ามาร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ในลีกต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย จาก 45 ประเทศ ผู้เข้าชมไม่น้อยกว่า 15,000 คน และสิ่งที่สำคัญที่สุดเชื่อมั่นว่าจะทำให้ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐมีความสนใจอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นตามบริบทสังคมและเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมด้วยเช่นกัน
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ RoboCup 2022 กล่าวว่า สำหรับการแข่งขันดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 17 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา (Hall EH98-100) ประกอบด้วยการแข่งขันทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCupSoccer) หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCupRescue) หุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการส่วนบุคคล (RoboCup@Home) หุ่นยนต์และแขนกลเพื่องานอุตสาหกรรม (RoboCupIndustrial) และโครงการริเริ่มด้านการศึกษาที่มุ่งเน้นการสนับสนุนกิจกรรมหุ่นยนต์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติสําหรับเด็กนักเรียนรุ่นเยาว์ (RoboCupJunior) ที่เปิดโอกาสให้เด็กไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้งานหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เพื่อฝึกฝนสมาธิ ทักษะการคิดวิเคราะห์และคำนวน รวมถึงการเรียนรู้จากการทำงานเป็นทีม พร้อมกันนี้ ภายในงานจะมีการสาธิตความสามารถของหุ่นยนต์อัจฉริยะโดยทีมนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทีมเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ MUT RMRC RoboCup “หุ่นยนต์พิชิตภารกิจสำรวจและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ” ที่จัดแข่งขันขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และการจัดแสดงเทคโนโลยีด้านการเกษตรโดย บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด
“เพื่อให้การดำเนินงานในด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น ในปีนี้จึงได้มีการจัดตั้งสมาคมหุ่นยนต์โรโบคัพประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นในฐานะองค์กรอิสระ และมีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้และผลิตกำลังคนด้านหุ่นยนต์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึง World RoboCub 2022 ที่จะถูกจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ การเป็นองค์กรกลางในการเชื่อมประสานให้ข้อเสนอหรือให้คำปรึกษาด้านหุ่นยนต์ พร้อมยกระดับมาตรฐานและความสามารถของหุ่นยนต์ของประเทศไทยให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมุ่งสนับสนุนความร่วมมือทางด้านวิชาการกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนจากภายในและต่างประเทศ ตลอดจนวางนโยบายในการผลิตกำลังคนด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายความต้องการของประเทศและสังคม”
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ได้ลงนามความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 17 สถาบัน ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทางภาคเอกชนอย่าง บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มูลนิธิเอสซีจี และบริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นสักขีพยาน รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวทิ้งท้าย
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในพิธี กล่าวว่า นับเป็นความยินดีอย่างยิ่งของประเทศไทย ที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ระดับนานาชาติ ที่จะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาอาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาให้มีองค์ความรู้และทักษะ ในด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และหุ่นยนต์ รวมทั้งการร่วมมือในการดำเนินงาน พร้อมทั้งสนับสนุนด้านคำปรึกษาด้านวิชาการหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 ซึ่งการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการจัดการแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ระดับนานาชาติ ที่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม ผลักดันการวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติของประเทศ สร้างกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือในการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในวิชาการด้านหุ่นยนต์ระหว่างสถาบันการศึกษาทุกระดับชั้น รวมถึงหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ทั่วโลก และที่สำคัญจะเป็นงานใหญ่ของประเทศ หลังจากการปลดล็อคเปิดประเทศ และยังจะส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้อีกด้วย
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ผู้นำอันดับหนึ่งในการให้บริการโซลูชั่นครบวงจรด้านโลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรมของไทย เปิดเผยว่า หุ่นยนต์และโรโบติกส์มีบทบาทและทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยและการแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นเวทีที่ยอดเยี่ยมในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของภูมิภาค ตลอดจนการเติบโตของระบบนิเวศไอซีทีที่แข็งแกร่งและยั่งยืน ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในฐานะผู้สนับสนุนนโยบายด้านการเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นผู้นำในด้านโลจิสติกส์ครบวงจรและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอุตสาหกรรม จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกในครั้งนี้
“ทั้งนี้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็น Tech Company ในอีกสามปีข้างหน้า เราได้นำเทคโนโลยีอันล้ำสมัยมาใช้ในธุรกิจของเราอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (SMART ECO Industrial Estates) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการผลิตและเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของลูกค้าของเราให้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังให้การสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอีกหลายแห่งและมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า นวัตกรรมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นเหล่านี้ จะช่วยให้ทุกภาคส่วนรวมถึงภาคอุตสาหกรรม มีความก้าวหน้าและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเราต่อไปในอนาคต”
สำหรับงานนิทรรศการภายในงานประกอบด้วย การจัดแสดงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ รวมทั้งหุ่นยนต์ที่เตรียมลงแข่งขันแต่ละลีกในงาน RoboCup 2022 อาทิ หุ่นยนต์กู้ภัย (Rescue Robot) ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ช่วยในภารกิจกู้ภัย มีความสามารถในการค้นหาผู้รอดชีวิตหรือผู้เสียชีวิตที่ตกค้างอยู่ในซากปรักหักพังต่าง ๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึง ออกแบบหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่เข้าไปยังพื้นผิวที่ยากลำบาก เช่น พื้นลาดเอียง หลากหลายระดับ ทางขรุขระ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการส่วนบุคคล (RoboCup@Home) ที่มีความาสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้งานในส่วนบุคคล รวมทั้งหุ่นยนต์ที่จะลงแข่งขันเตะฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCupSoccer) ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ และเซ็นเซอร์รับรู้ต่าง ๆ มีกล้องและการประมวลผลทั้งหมดเกิดขึ้นบนตัวหุ่น การสื่อสารระหว่างหุ่นสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์นอกสนามมาช่วย
พร้อมกันนี้ พบกับสินค้านวัตกรรมจากคนไทย อาทิ ไทเกอร์โดรน อากาศยานไร้คนขับสู่เกษตรวิถีใหม่นวัตกรรมโดรนอัจฉริยะที่มาพร้อมกับสมรรถนะทรงพลังในบทบาทของเทคโนโลยีการเกษตร ที่สามารถช่วยลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตร การจัดแสดงระบบพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หุ่นยนต์อุตสาหกรรม หุ่นยนต์โลจิสติกส์ หุ่นยนต์ทางการแพทย์และเภสัชกรรม หุ่นยนต์ก่อสร้างและตรวจสอบและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ ICT นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีกล้องและการประมวลผลภาพโดยการใช้หุ่นยนต์ และ อื่น ๆ อีกมากมาย โดยผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://2022.robocup.org/index.php หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/RoboCup2022