November 24, 2024

ชมรมนักข่าวไอที ดึงผู้เกี่ยวข้องกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ร่วมเสวนาจิบน้ำชา “ไขข้อข้องใจ PDPA ในทุกมิติ”

ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนาจิบน้ำชา “ไขข้อข้องใจ PDPA ในทุกมิติ” เพื่อสร้างความกระจ่างชัดให้กับสังคมที่กำลังสับสน โดยดึงองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแล ตบเท้าเข้าร่วมกันสร้างความเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย พร้อมแบ่งปันประสบการณ์แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายแบบครบทุกมิติ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงานเสวนาจิบน้ำชา “ไขข้อข้องใจ PDPA ในทุกมิติ” ซึ่งจัดโดยชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่าปัจจุบันคนไทยใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์เฉลี่ยวันละกว่า 8 ชั่วโมง และทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านโลกออนไลน์ เช่น การซื้อของออนไลน์ สั่งดิลิเวอรี่ ที่ต้องมีการแจ้งชื่อ เบอร์โทร ข้อมูลการติดต่อ ทำให้มีข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานที่ไปจัดเก็บอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบสื่อสารจำนวนมาก โดยที่ตัวเจ้าของข้อมูลอาจไม่รู้ตัว

บริบทข้างต้นสะท้อนให้เห็นโอกาสของการพลั้งเผลอที่อาจจะปล่อยข้อมูลส่วนตัว เข้าสู่ระบบเครือข่ายเทคโนโลยี จนกลายเป็นอันตรายต่อตนเองอย่างไม่ตั้งใจ จึงทำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญในการออก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA มาบังคับใช้ หลักการสำคัญคือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน  และไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของข้อมูลจากการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนกับบริษัทร้านค้าต่างๆ รวมถึงข้อมูลที่ให้ไว้กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งองค์กรทั้งรัฐและเอกชนต่างๆ ก็ต้องมีการปรับตัวในการลงทุนทำระบบป้องกัน โดยมองว่า ระบบแรกที่ต้องดำเนินการ ก็คือ การบริหารจัดการภายในเกี่ยวกับบุคลากร มีการให้ความรู้ และมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ในการไม่ปล่อยให้ข้อมูลรั่วไหล

กรณีที่ประชาชนพบข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลหรือถูกละเมิด สามารถร้องเรียนไปที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และหน่วยงานนั้นๆ ที่ทำให้ข้อมูลรั่วไหล ขณะเดียวกัน ย้ำเพิ่มเติมว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ รัฐและเอกชน ต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้แล้วเกิดประโยชน์ คุ้มครองสิทธิของประชาชนได้จริง นี่คือเป้าหมายสูงสุด และต้องไม่เป็นภาระต่อประชาชน หรือผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ มากเกินไป

“เจตนาของข้อกฎหมายก็เพื่อคุ้มครองการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ให้เกิดความโปร่งใส ผู้ที่ถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ก็สามารถตรวจสอบได้ ขอยกเลิกได้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของโลกดิจิทัลให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐเอง ก็จะได้ปรับตัวเข้าสู่การจัดระเบียบข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยยกระดับมาตรฐานการเชื่อมต่อด้านข้อมูลให้นานาประเทศยอมรับมากขึ้น ดังเช่นการหารือของผมกับผู้นำสิงคโปร์ก่อนหน้านี้ ที่ยืนยันว่าการเริ่มบังคับใช้ PDPA ของเราเป็นเรื่องดีที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทยเข้าสู่มาตรฐานอีกระดับของโลกยุคดิจิทัลต่อไป” นายชัยวุฒิกล่าว

ด้านนายเธียรชัย  ณ นคร ประธานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระบุว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายก็เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับภาคธุรกกิจและองค์กร ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ได้ปฏิบัติตามได้อย่างปลอดภัย ซึ่งไม่ควรตระหนกกับการบังคับใช้ แต่ควรศึกษาหาข้อมูลการวางขั้นตอนการเก็บ รักษา ตลอดจนการนำไปใช้ ข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด สอดคล้องกับการอนุญาตให้ใช้ข้อมูลภายใใต้บริบทนั้นๆ อย่างตรงไปตรงมา

ในขณะที่ภาคประชาชนที่ยังสับสน สามารถติดตามข้อมูลและทำความเข้าใจสิทธิของข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ผ่านอินโฟกราฟิกที่ดูเข้าใจง่าย

พล.ต.ต.ปภัชเดช  เกตุพันธ์ กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี (บก.สสท.) ชี้ว่าภาคประชาชนเองควรตระหนักรู้ว่า เราคือเจ้าของข้อมูล แม้ว่าความต้องการรักษาสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวที่ไม่เท่ากันก็จะมีความแตกต่างกันของการหวงแหนข้อมูล ซึ่งไม่จำเป็นที่เราจะต้องเรียกร้องสิทธิ์จนเกินกว่าเหตุ หากการใช้ข้อมูลเหล่านั้นของบุคคลที่สามก็เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง ควรศึกษาการนำข้อมูลไปใช้หรือหากมีข้อสงสัยก็สอบถามโดยตรง และเมื่อเกิดความไม่ต้องการให้มีการนำไปใช้ก็สามารถแจ้งให้กลุ่ม บุคคล หรือองค์กรเหล่านั้น ลบข้อมูลที่ไม่อนุญาติออกจากระบบ แต่บางอย่างก็ต้องแลกมาด้วยการระงับใช้บริการไปเลย

สำหรับองค์กรธุรกิจเองก็จะต้องมีความชัดเจนในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลให้เกิดความรอบครอบ หากมีการส่งต่อข้อมูลแล้วถูกนำไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญ การตรวจสอบย้อนกลับเพื่อหาที่มาของข้อมูลและการอนุญาตว่ามีความถูกต้องหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ผู้ประกอบการจะต้องระมัดระวังการใช้ข้อมูลเช่นนี้ให้ดี ซึ่งหากขั้นตอนการเก็บรักษาข้อมูลมีความโปร่งใส ก็จะเป็นการแสดงเจตนาของความพยายามรักษาข้อมูลให้ดีที่สุดได้แล้ว

ด้านภาคธุรกิจ 3 ค่ายมือถือ เอไอเอส ดีแทค ทรู ประกาศความพร้อม เปิดแผนกรับมือการปกป้องและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้ากันอย่างเต็มที่ เน้นย้ำขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นสากล ด้วยประสบการณ์ของการเข้าร่วม GDPR ก่อนหน้า โดยตลอดทั้งเส้นทางของข้อมูลลูกค้านับตั้งแต่การเข้าใช้บริการจะถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี พร้อมสร้างการตระหนักรู้ให้กับพนักงาน เพื่อลดความเสี่ยงของการรั่วไหลจากภายในองค์กรเอง

ยืนยันการยึดแนวทางการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าด้วยความโปร่งใส การใช้ข้อมูลที่ถูกต้องตามกฎหมาย และรับผิดต่อการใช้ข้อมูลนั้นๆ ซึ่งการนำข้อมูลไปใช้ทุกครั้งจะมีการตรวจสอบสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล ความจำเป็น ตลอดจนวัตถุประสงค์ของการใช้ข้อมูลที่จะต้องตรงตามการขออนุญาติ ภายใต้ความตระหนักรู้ของบุคคลที่เกี่ยวข้องของทั้งองค์กร

นอกจากนี้ยังมีการประกาศขอใช้ข้อมูลส่วนบุคคลให้ลูกค้ารับทราบอย่างชัดเจนผ่านช่องทางของบริษัท พร้อมทั้งกำกับดูแลผู้รับจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมยกระดับการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความปลอดภัยสูงสุด

ในภาคผู้ผลิตคอนเทนต์ เน้นย้ำการใช้สิทธิ์ที่พอเพียง เรียนรู้ข้อจำกัดของ PDPA ที่ถูกต้อง แล้วเผยแพร่ต่ออย่างถูกต้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ไม่นำเรื่องของ PDPA ไปล้อเลียนต่อจนเกิดความสับสนหรือสร้างความตะหนกตกใจให้กับภาคประชาชน ควรเป็นแบบอย่างของผู้เผยแพร่ที่ดีโดยไม่เป็นการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น ขณะที่การอ้างสิทธิ์ข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองก็ต้องไม่ควรป่าวประกาศข้อมูลนั้นๆ ออกสู่สาธารณะเสียเอง

ด้าน...ณัฐพันธ์  เศรษฐบุตร  ผกก.กลุ่มงานตรวจสอบฯ (บก.สสท.) ชี้ว่าเรามีห้วงเวลาของการเรียนรู้และปรับตัว เฉกเช่นเดียวกับตอนการบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยที่เชื่อว่านับตั้งแต่วันแรกที่บังคับใช้จวบจนวันนี้ มีผู้ปฏิบัติตามแล้วเกือบ 100% กฎหมาย PDPA ก็เช่นเดียวกัน ขอเพียงวันนี้เราอย่าตื่นตะหนกกับการเริ่มต้นบังคับใช้สิ่งใหม่ๆ อย่าเรียกหาสิทธิ์พึงมีจนเกินกว่าเหตุ จนทำให้การดำเนินชีวิตมีความปั่นป่วน ควรพิจารณาเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น เมื่อเกิดความผิดพลาดของการละเมิดแล้วผู้เสียหายได้แจ้งหรือร้องขอกับเราโดยตรง ก็ทำการแก้ไข เพียงเท่านี้ก็แสดงเจตนาของการเคารพสิทธิ์ของกันและกันตามวัตถุประสงค์ของข้อกฎหมายนี้อย่างสมบูรณ์แล้ว

ทั้งนี้สามารถติดตามการเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook : ITPC (Information Technology Press Club)  https://www.facebook.com/itpc.page