เอชเค แมเนจเมนท์ แอนด์ เซอร์วิส กรุ๊ป ผนึกกำลัง ม.ธรรมศาสตร์ เปิดตัวนวัตกรรมฝีมือคนไทย “Smart handy” อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ รับมือชีวิตวิถีใหม่
เอชเค แมเนจเมนท์ แอนด์ เซอร์วิส กรุ๊ป เปิดสุดยอดนวัตกรรมฝีมือคนไทย “Smart handy” อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสี UVC ผลงานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน คณะวิศวกรรมศาสตร์และสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชูดีไซน์การออกแบบที่ทันสมัยทลายกำแพงข้อจำกัดนวัตกรรมไทยหวังแจ้งเกิดทั้งในและต่างประเทศ ยกระดับมาตรฐานการคัดกรองเชื้อโรค ด้วย Smart Handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ได้ถึง 99 % ในระยะเวลาเพียง 18 วินาที
ลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาด และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ช่วยให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัย ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของประเทศให้เร็วยิ่งขึ้น นำร่องผุดโมเดลจับตลาดเชิงพาณิชย์ องค์กรขนาดใหญ่ ท่าอากาศยาน หน่วยงานราชการ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงเรียนและสถาบันการศึกษา ฯลฯ และเตรียมพัฒนาเพิ่มอีกหลายโมเดลครอบคลุม ธุรกิจองค์กรขาดเล็ก บ้านที่พักอาศัย พร้อมตั้งเป้าผลักดันนวัตกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเตรียมแผนออกปักธงตลาดโลกภายใน 2 ปี หวังโกยรายได้ 250 ล้านบาท ภายในปี 2566 หวังเป็นจิ๊กซอว์ผลักดันประเทศก้าวสู่ประเทศแห่งนวัตกรรมก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศมีรายได้สูง
น.ส.จิรัฏฐ์ณิชชา กิติยาณัณท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอชเค แมเนจเมนท์ แอนด์ เซอร์วิส กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่าการผลักดันประเทศไทยให้เป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมจะช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ นำไปสู่การก้าวข้ามการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา ประกอบกับสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดจากโรคโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดและมีการขยายสายพันธุ์ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในประเทศ “Smart handy” อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยผลักดันขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และสังคมให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว พร้อมรับมือชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ด้วยความมั่นใจ
เอชเค แมเนจเมนท์ แอนด์ เซอร์วิส กรุ๊ป ตระหนักถึงความสำคัญของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนานวัตกรรม จึงได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยี และคณะสหเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา ในการพัฒนานวัตกรรม Smart handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ ด้วยรังสี UVC สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้สูงถึง 99 % ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความวิตกกังวล และเพิ่มความมั่นใจ ให้กับประชาชนในการออกมาใช้ชีวิตประจำวัน ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจและสังคมได้อย่างต่อเนื่อง สามารถฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจและสังคมในเชิงมหภาพได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภาคการศึกษา เยาวชนสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติ ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิชาการ ไม่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของเยาวชน ที่ต้องการการเรียนรู้และการปฏิสัมพันธ์จากสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทุนมนุษย์
โดยนวัตกรรม “Smart handy” อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ พร้อมนำร่องจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ โดยบริการให้คำปรึกษา ติดตั้งและวางระบบ ตลอดจนบริการหลังการขาย โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ท่าอากาศยาน หน่วยงานราชการ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงเรียนและสถาบันการศึกษา ฯลฯ ที่ต้องการระบบคัดกรองที่มีประสิทธิภาพเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้มาใช้บริการ
โดยปัจจุบันได้ทำการติดตั้ง Smart handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ เพื่อทดลองใช้งาน ณ อาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT และในอนาคต เอชเค แมเนจเมนท์ แอนด์ เซอร์วิส กรุ๊ป ตั้งเป้าพัฒนา”Smart handy” อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ โมเดลสำหรับที่อยู่อาศัย เจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไป ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ 250 ล้านบาทภายใน 2 ปี และตั้งเป้าจัดจำหน่าย Smart handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นโอกาสจากความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองเชื้อโรค ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาด และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
ผศ.ดร. ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ความสำเร็จของนวัตกรรม “Smart handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของนวัตกรรมไทยภายใต้ความร่วมมือของภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ภายใต้แนวคิด “คนไทยคิด คนไทยทำ เพื่อสุขภาพคนไทย” เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพจุดคัดกรองให้มีความสะอาดปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต
โดยการระดมความรู้ในการออกแบบและวิจัย “Smart handy” อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ โดยทีมวิศวกรรมผู้เชี่ยวชาญ โดยทดลองใช้รังสี UVC ความยาวคลื่น 253.7 นาโนเมตร จากการวิจัยและทดสอบผลพบว่า รังสี UVC สามารถเข้าไปทำลาย DNA และ RNA ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ทำให้ไม่สามารถแพร่พันธุ์ และก่อให้เกิดโรคได้อีก ซึ่งเท่ากับมีศักยภาพสูงในการทำลาย DNA และ RNA ของเชื้อโรคและฆ่าเชื้อโรคได้ ที่สำคัญความเข้มข้นของรังสียูวีซี สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย จากนั้นได้คัดเลือกอุปกรณ์คุณภาพสูงจากบริษัทผู้ผลิตชั้นนำ ที่ไม่ก่อให้เกิดสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนของโลก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์โลกร้อน
Smart handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ ได้ขึ้นทะเบียนจดสิทธิบัตร จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว โดยเน้นการออกแบบดีไซน์ตัวเครื่องให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้นวัตกรรมและสร้างจุดขายที่สำคัญทำให้นวัตกรรมไทยเติบโตและเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมไม่แพ้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยที่ผ่านมานวัตกรรมไทยประสบปัญหาหลักที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การออกแบบดีไซน์ให้มีความทันสมัย และการร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความสามารถในการผลักดันนวัตกรรมออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญในการผลักดันประเทศก้าวสู่ประเทศแห่งนวัตกรรม
รศ.ดร.วรดา สโมสรสุข คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า นวัตกรรม “Smart handy” อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา จากการวิจัยและทดสอบผลร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าสามารถฆ่าเชื้อ บาซิลลัส อะโทรเฟียส (Bacillus atrophaeus) เป็นเชื้อที่สร้างสปอร์ได้ นั่นหมายถึงสามารถใช้ฆ่าเชื้อไวรัส และแบคทีเรียได้เช่นกัน และมีประสิทธิภาพในการหยุดเชื้อได้ถึง 10,000 เซลล์ และได้ทดสอบด้วยการหยอดเชื้อบาซิลลัส อะโทรเฟียส ลงบนพื้นผิวหลายชนิด เช่น กระเป๋าหนัง กระเป๋าเดินทาง วัสดุที่เป็นพลาสติก กล่องพัสดุไปรษณีย์ ฯลฯ และนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วย Smart handy อุโมงค์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติ พบว่าภายในระยะเวลา 15 วินาที สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 95% หากเพิ่มเวลาในกระบวนการฆ่าเชื้อโรคเป็น 18 วินาที พบว่าสามารถฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับวัตถุได้สูงถึง 99 % นวัตกรรมนี้นับเป็นความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองเชื้อโรค ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนให้มั่นใจในการออกไปใช้ชีวิตในยุคที่เชื้อโรคต่างๆ มีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างรวดเร็วทั้งของเชื้อโรคต่างรวมไปถึงโรคอุบัติใหม่