November 24, 2024

ไรอัน ติง ผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ย ขึ้นกล่าวคำปราศรัยสำคัญเพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่ดีกว่าเดิม

ในงานหัวเว่ย เดย์ซีโร่ ฟอรัม (Huawei Day0 Forum) ซึ่งจัดขึ้นหนึ่งวันก่อนถึงวันเปิดมหกรรมโมบาย เวิลด์ คองเกรส ประจำปี 2565 ที่บาร์เซโลนา คุณไรอัน ติง (Ryan Ding) กรรมการบริหารของหัวเว่ยและประธานกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคม ได้ขึ้นกล่าวคำปราศรัยสำคัญในหัวข้อ “Lighting up the Future” (จุดประกายอนาคต) โดยคุณไรอัน ติง เปิดเผยว่า เหล่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมนั้นร่วมมือกันได้ใน 3 ปัจจัยด้วยกัน

ได้แก่ ความหนาแน่นในการเชื่อมต่อ ความหลากหลายของการประมวลผล และความเข้มข้นในการลดคาร์บอน พร้อมเชิญชวนให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมร่วมเดินไปกับหัวเว่ยในแผนแม่บทธุรกิจ “GUIDE” เพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่ดีกว่าไปด้วยกัน

เศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลกกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และในปี 2565 กว่า 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั้งโลกจะอยู่ในโลกดิจิทัล หลาย ๆ ประเทศและดินแดน เช่น จีน เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ได้ประกาศแผนลงทุนมูลค่ามหาศาลรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลไว้อยู่แล้ว โดยผู้ให้บริการโทรคมนาคมนั้นจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานไอซีที ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเป็นผู้นำการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

เครื่องมือสำคัญ 3 ประการที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัล


ระหว่างกล่าวคำปราศรัยสำคัญนั้น คุณไรอัน ติง อธิบายว่า พลวัตของเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่วัดได้ใน 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ ความหนาแน่นในการเชื่อมต่อ ความหลากหลายของการประมวลผล และความเข้มข้นในการลดคาร์บอน โดยปัจจัยเหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมนำไปใช้กำหนดอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัลได้

การเพิ่มความหนาแน่นในการเชื่อมต่อเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมผลักดันฐานผู้ใช้เครือข่าย 5G ให้เติบโตและขยับขยายขอบเขตธุรกิจได้ ส่วนการเพิ่มความหลากหลายของทรัพยากรในการประมวลผลนั้น เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมผสานรวมการเชื่อมต่อเข้ากับระบบไอทีได้ เพื่อยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กรเพื่อก่อให้เกิดการเติบโตใหม่ ๆ และสำหรับการลดคาร์บอนนั้น โซลูชันไอซีทีใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น โซลูชันของหัวเว่ย จะเพิ่มความสามารถของเครือข่ายและลดการใช้พลังงานต่อบิตเพื่อให้พัฒนาในลักษณะที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เครือข่าย 5G พัฒนาก้าวไกลไปมาก


เครือข่าย 5G เริ่มมีการใช้งานในเชิงพาณิชย์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และนับตั้งแต่นั้น จำนวนเครือข่าย ผู้ใช้งาน และอุปกรณ์ 5G ก็ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยภายในปลายปี 2564 ผู้ให้บริการโทรคมนาคมกว่า 200 ราย ได้วางเครือข่าย 5G ในเชิงพาณิชย์ โดยให้บริการผู้ใช้เครือข่าย 5G กว่า 700 ล้านคน ปัจจุบัน มีการใช้อุปกรณ์ 5G เชิงพาณิชย์รวมกันกว่า 1,200 ตัว ฐานผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นนี้กำลังนำผลตอบแทนในเชิงการค้ามาสู่บรรดาผู้ให้บริการโทรคมนาคม ในขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนการเปิดให้บริการเครือข่ายในพื้นที่ใหม่ ๆ ด้วย

ในงานดังกล่าว คุณไรอัน ติง ได้แบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จในการให้บริการเครือข่าย 5G จากผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายต่าง ๆ พร้อมนำเสนอคุณสมบัติของเทคโนโลยี 5G ในการใช้งานรูปแบบใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (AR) เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (VR) และการรับชมวิดีโอ เพื่อมอบประสบการณ์อันสดใหม่ให้ผู้ใช้งาน นอกจากนี้ โมเดลการกำหนดราคาการใช้เครือข่าย 5G ที่มีความยืดหยุ่นก็เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ใช้งานและผู้ให้บริการเครือข่ายด้วย พร้อมผลักดันฐานผู้ใช้งาน 5G ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว

ในประเทศจีนนั้น หลาย ๆ อุตสาหกรรมได้มีการวางเครือข่ายส่วนตัวแบบ 5GtoB ขึ้น โดยนับจนถึงปลายปี 2564 หัวเว่ยได้เซ็นสัญญา 5GtoB ในเชิงพาณิชย์มาแล้วกว่า 3,000 ฉบับร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายและพันธมิตรในจีน จนสั่งสมประสบการณ์จากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย ตัวอย่างที่โดดเด่นในเรื่องนี้มาจากเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน โดยเหมืองถ่านหินแห่งหนึ่งนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ควบคุมเครื่องตัดเฉือนจากทางไกล ส่งผลให้ผู้ทำงานในเหมืองถ่านหินแห่งนี้ทำงานได้ปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น

ผสานรวมการเชื่อมต่อเข้ากับระบบไอทีเพื่อสร้างการเติบโตใหม่ ๆ


คุณไรอัน ติง เปิดเผยว่า เมื่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หัวเว่ยได้ผสานรวมเทคโนโลยีไอทีและซีที คลาวด์และเอดจ์ รวมถึงคลาวด์และเครือข่ายเข้าด้วยกัน โดยหวังช่วยเหล่าผู้ให้บริการเครือข่ายในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมอัจฉริยะไปใช้ พร้อมส่งเสริมให้รายได้เติบโตกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่นในเอเชียแปซิฟิก โซลูชันวันสตอเรจ (OneStorage) ของหัวเว่ยได้ช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายรายหนึ่งลดต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของ (TCO) ได้ถึง 30%

ไอซีทีสีเขียว: บิตมากขึ้น วัตต์น้อยลง


เทคโนโลยีไอซีทีสีเขียว (Green ICT) คือกุญแจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในเศรษฐกิจดิจิทัล โดยอุตสาหกรรมไอซีทีกำลังให้บริการเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งสัดส่วนที่ลดลงนี้คาดว่าจะมากกว่าฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมไอซีทีเองถึง 10 เท่า ซึ่งในการประชุมนี้ คุณไรอัน ติง ยังได้เปิดเผยกลยุทธ์สีเขียวของหัวเว่ยด้วย ซึ่งก็คือ “บิตมากขึ้น วัตต์น้อยลง” (More Bits, Less Watts) โดยมีโซลูชันสีเขียวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไซต์สีเขียว เครือข่ายสีเขียว และการดำเนินงานสีเขียว หัวเว่ยหวังใช้โซลูชันเหล่านี้เพื่อช่วยเหล่าผู้ให้บริการเครือข่ายในการเพิ่มความสามารถของเครือข่าย และลดการใช้พลังงานต่อบิต นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้นำเสนอดัชนีความเข้มข้นของคาร์บอนในเครือข่าย (Network Carbon Intensity) เพื่อวัดระดับการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมไอซีที และช่วยเหล่าผู้ให้บริการเครือข่ายในการทำให้กลยุทธ์สีเขียวเกิดขึ้นจริง

คุณไรอัน ติง ได้ปิดท้ายการกล่าวคำปราศรัยสำคัญ ด้วยการนำเสนอแผนแม่บททางธุรกิจของหัวเว่ยในชื่อ “GUIDE” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหล่าผู้ให้บริการเครือข่ายในการพัฒนาขีดความสามารถสำคัญ 5 ประการเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ นั่นคือ การขยายบริการ การคิดค้นนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ นำทรัพยากรไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างมูลค่าเพื่อใช้แข่งขัน และคืนกำไรให้สังคม

ทั้งนี้ มหกรรมโมบาย เวิลด์ คองเกรส ประจำปี 2565 ที่บาร์เซโลนา หรือ MWC22 Barcelona จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 3 มีนาคม ในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยหัวเว่ยจะนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยขึ้นโชว์ที่บูธหมายเลข 1H50 ณ ศูนย์การประชุมฟิร่า กรัน เวีย (Fira Gran Via) ฮอลล์ 1 ซึ่งหัวเว่ยและเหล่าผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญในวงการ และผู้นำทางความคิดทั่วโลก จะเจาะลึกในประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มในอุตสาหกรรม แผนแม่บท GUIDE เพื่อนำทางสู่อนาคต และการพัฒนาอย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อวาดภาพเครือข่ายดิจิทัลแห่งอนาคตไปด้วยกัน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://carrier.huawei.com/en/events/mwc2022