‘ดิสรัปเตอร์’ ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมหลักในภูมิภาคอาเซียน
ซิสโก้และจังเกิล เวนเจอร์ส (Jungle Ventures) ร่วมจัดทำรายงานในหัวข้อ “การเกิดขึ้นของดิสรัปเตอร์ (Disruptors) จากการแพร่ระบาดของโควิด-19” (Emerging Disruptors from the Global Pandemic) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจที่สำคัญ ๆ ในภูมิภาคอาเซียนช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกับตัวอย่างโมเดลธุรกิจของดิสรัปเตอร์ที่ประสบความสำเร็จ
รายงานดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงแผนปฏิบัติการด้านดิจิทัล (Digitalization) ของหลายๆ ประเทศในอาเซียนที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่องค์กรต่างๆ ได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจและทำงานจากระยะไกล (remote operation and working) ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยเหตุนี้ ภูมิภาคอาเซียนจึงเป็นหนึ่งในภูมิภาคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย Mobile-First ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มแบบดิจิทัลเนทีฟ (Digital Native) ที่ครอบคลุมภาคธุรกิจสำคัญต่างๆ
นายนาวีน เมนอน ประธานภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้ กล่าวว่า “สถานการณ์โควิด-19 เผยให้เห็นถึงศักยภาพของมนุษย์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต และการทำธุรกิจภายในเวลาอันรวดเร็วเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบที่รุนแรง เช่น ภาคการศึกษา สาธารณสุข และโลจิสติกส์ซัพพลายเชน จำเป็นต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ ดำเนินกลยุทธ์ที่แปลกใหม่ และมีทัศนคติและวิธีคิดที่ยืดหยุ่นแบบผู้ประกอบการ ตอนนี้เรามองเห็นคลื่นนวัตกรรมลูกใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในโลกวิถีใหม่”
รายงานฉบับนี้ยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจทั่วโลกซึ่งเปิดโอกาสให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพแจ้งเกิดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจของอาเซียนโดยมากแล้วยังคงมีลักษณะออฟไลน์ ดังนั้นจึงมีโอกาสอย่างมากที่ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีจะประสบความสำเร็จในตลาด ข้อมูลล่าสุดจาก STATION F หนึ่งในแคมปัสสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระบุว่า 18% ของสตาร์ทอัพทั่วโลกมุ่งเน้นการทำตลาดใหม่ตั้งแต่การแพร่ระบาดเริ่มต้น และอีก 13% มีแผนที่จะดำเนินการดังกล่าวในอีก 6 เดือนข้างหน้า
นายอามิท อนันต์ พาร์ทเนอร์ผู้ร่วมก่อตั้งของจังเกิล เวนเจอร์ส กล่าวว่า“การหยุดชะงักหรือดิสรัปชั่น (Disruption) ของธุรกิจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม และธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวนมากในอาเซียนดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อรองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในบริษัท Venture Capital รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับผู้ก่อตั้งบริษัทหลายรายที่กำลังมองหาหนทางในการแก้ไขปัญหาท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และสร้างธุรกิจชั้นนำที่มีความมั่นคงในระยะยาว”
รายงานดังกล่าวได้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางของธุรกิจ 3 เซ็กเตอร์ที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข และซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ ในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและสร้างสรรค์ เพื่อลดปัญหาการหยุดชะงักของธุรกิจและการให้บริการ
ลดช่องว่างด้านการศึกษา
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สถานศึกษาต้องปิดการดำเนินงานชั่วคราว และส่งผลกระทบต่อนักเรียนนักศึกษาหลายพันล้านคนทั่วโลก รวมถึงนักเรียนนักศึกษา 160 ล้านคนในอาเซียน จากข้อมูลของยูเนสโก (UNESCO) การเรียนการสอนต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบออนไลน์ โดยไม่มีการทดสอบการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ล่วงหน้า ทำให้ครูและอาจารย์ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 350 ล้านคน แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการเรียนทางไกล กลับไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ในภูมิภาคอาเซียน
รายงานฉบับนี้ระบุว่า บริษัทจำนวนมากยังไม่ได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อรองรับการเรียนรู้แบบผสมผสานและการเรียนรู้แบบเสมือนจริง (virtual learning) แต่มีดิสรัปเตอร์ (Disruptor) บางรายที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและมีแนวโน้มที่จะขยายตลาดของตัวเองไปยังประเทศอื่น ๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ Jarimatika Foundation ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับทักษะให้กับแม่บ้าน เพื่อเสริมสร้างแนวคิดและทักษะของคนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซีย
โลกวิถีใหม่ในด้านสาธารณสุข
รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัลโดยเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับสถานพยาบาลที่พร้อมจะลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล และปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน ความคล่องตัวและนวัตกรรมคือข้อได้เปรียบที่สำคัญสำหรับดิสรัปเตอร์ในการก้าวเข้าสู่ตลาดธุรกิจเฮลธ์แคร์
ดิสรัปเตอร์ชั้นนำในธุรกิจนี้ได้แก่ Homage บริษัทสตาร์ทอัพของสิงคโปร์ที่ใช้ประโยชน์จากความต้องการดูแลสุภาพและป้องกันโรคที่เพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยในสิงคโปร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทดังกล่าวนำเสนอบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ มีการปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย และมีค่าบริการที่ถูกกว่า
ผลการศึกษาดังกล่าวพบว่าบุคลากรทางการแพทย์และองค์กรต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยุติลง ทั้งนี้ สถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ขณะที่รัฐบาลควรบังคับใช้นโยบายที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดโลกวิถีใหม่ในบริการด้านสาธารณสุข โดยรูปแบบการให้บริการผ่านเทคโนโลยีขั้นต้น (technology-enabled primary) และการป้องกันโรคแบบส่งตรงถึงบ้าน (Preventative care delivery model) จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในระยะยาว
พลิกโฉมการจัดการซัพพลายเชนและโลจิสติกส์
การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ และบริษัททั่วโลกประสบปัญหาอย่างมากกับการพึ่งพาและการกระจุกตัวของซัพพลายเชนในบางพื้นที่ สถานการณ์โควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ต่อเศรษฐกิจโลก และตอกย้ำถึงความสำคัญของซัพพลายเชน และการเชื่อมโยงเครือข่าย
รายงานผลการศึกษาแนะนำว่าควรจะมีการสร้างเวิร์กโฟลว์ธุรกิจและกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดการซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ บริษัทเทคโนโลยีรายสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตลาดโลจิสติกส์นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลสำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีการผสานรวมซอฟต์แวร์และบริการเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม Moglix แพลตฟอร์มการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบดิจิทัลของสิงคโปร์ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการโรงงานและซัพพลายเออร์ในการปรับเปลี่ยนเวิร์กโฟลว์การจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดให้เป็นรูปแบบดิจิทัล ขณะที่ยังไม่สามารถสร้างระบบอัตโนมัติในการควบคุมเหตุการณ์วิกฤตได้อย่างสมบูรณ์ แต่ระบบซัพพลายเชนแบบครบวงจร พร้อมการจัดหาข้อมูลที่แม่นยำแบบเรียลไทม์ จะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จในอนาคต
เร่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจทั่วโลกและการเกิดขึ้นของดิสรัปเตอร์ส่งผลให้บริษัทสตาร์ทอัพจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโต นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังแนะนำว่ารัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายในอาเซียนจำเป็นที่จะต้องมองหาโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของประเทศให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น องค์กรต่างๆ ในอาเซียนที่ต้องการส่งเสริมและใช้ประโยชน์จาก Digital Disruption จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับพันธมิตรในอีโคซิสเต็มเพื่อปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอสินค้าและบริการอย่างเหมาะสม
นายราจีฟ เมนอน หัวหน้าฝ่ายลงทุนและ M&A ของซิสโก้สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น กล่าวว่า “มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับใช้แนวทางที่ครอบคลุมหลากหลายแง่มุม โดยอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ในอีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพในภูมิภาคอาเซียน เราเชื่อมั่นในคุณค่าของอีโคซิสเต็มด้านนวัตกรรม และเรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและยกระดับธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพทั่วภูมิภาคอาเซียน”