November 24, 2024

พันธกานต์ ปทุมวัน เกษตรกรไทยยุค Smart Farming

เกษตรกรรม ถือเป็นรากฐานของประเทศไทย ซึ่งการพัฒนาเกษตรกรให้มีศักยภาพสูงขึ้น จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน และหนึ่งในการพัฒนาเกษตรกรในยุค 4.0 คือการยกระดับสู่ Smart Farming โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ ให้สูงขึ้น

หนึ่งในตัวอย่างของเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จกับการเป็นเกษตรกรยุคดิจิทัลคือคุณพันธกานต์ ปทุมวัน ประธานกลุ่มเพาะเห็ดเศรษฐกิจตำบลศาลาลอย อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

“เดิมทีผมประกอบธุรกิจเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งธุรกิจก็ไปได้ด้วยดี แต่จุดพลิกผันก็เกิดขึ้นเมื่อประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงานจนทำให้สูญเสียการมองเห็นของดวงตาข้างหนึ่งไป จนต้องกลับมาย้อนคิดถึงการใช้ชีวิตวิถีเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศไทย” คุณพันธกานต์กล่าว “ในระยะแรกผมเริ่มจากการปลูกผักส่งโรงงานแปรรูป แต่ด้วยรูปแบบธุรกิจที่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ไม่มีรายได้เป็นชิ้นเป็นอันมากนัก จึงเริ่มต้นศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดเป็นอาชีพหลักในปี 2550 และเริ่มทดลองทำอย่างจริงจังในปี 2551 แต่ในระยะแรกก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากความรู้ด้านเห็ดยังมีไม่มากพอ ด้วยเหตุนี้จึงไปเรียนทฤษฏีเกี่ยวกับการเพาะเห็ดจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเพาะเชื้อจนถึงการเพาะเพื่อจำหน่าย และเริ่มทำเป็นอาชีพอย่างจริงจังเรื่อยมา โดยตั้งฟาร์มเห็ดอยู่ที่ ตำบลศาลาลอย อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”

 

จากนั้นในปี 2556 คุณพันธกานต์จึงมีแนวคิดในการรวมกลุ่มกับชาวบ้าน เพื่อจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนภายใต้ชื่อ กลุ่มเพาะเห็ดเศรษฐกิจตำบลศาลาลอย หลังจากสั่งสมความรู้และประสบการณ์มาระยะหนึ่ง ทำให้หลายๆ ภาคส่วนก็เริ่มเห็นความตั้งใจจริงของกลุ่ม หน่วยงานภาครัฐจึงเริ่มเข้ามาให้การสนับสนุน โดยให้เงินทุนในการสร้างโรงเพาะเห็ด โดยเริ่มจากโรงเพาะที่มุงด้วยแฝก จากนั้นจึงพัฒนาเป็นโรงเพาะระบบ EVAP ที่มีการติดตั้งพัดลมและการพ่นละอองน้ำ เพื่อควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นภายในโรงเพาะ สำหรับให้เห็ดมีดอกที่สมบูรณ์ และมีผลผลิตดีขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มจำนวนโรงเพาะมากขึ้น

ก้าวแรกของการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

แม้โรงเพาะเห็ดระบบ EVAP ช่วยให้ผลผลิตดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่คุณพันธกานต์ก็ไม่หยุดหาความรู้และเทคนิคใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ จึงเข้าร่วมอบรมโครงการเกษตรสตาร์ตอัปของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้ได้พบกับทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและ IoT มาใช้ในการเกษตร จึงเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นก้าวแรกกับ Smart Farming ของคุณพันธกานต์

 

“หลังจากได้แลกเปลี่ยนความรู้และเล่าถึงปัญหาที่พบในโรงเพาะเห็ดระบบ EVAP ซึ่งไม่สามารถควบคุมความชื้น และอุณหภูมิให้เหมาะสมกับสภาพอากาศได้ตามต้องการ เพราะใช้แค่ระบบตั้งเวลาเปิดปิดน้ำ ทำให้ผลผลิตดอกเห็ดออกมาไม่สมบูรณ์ กำลังการผลิตไม่สม่ำเสมอ คาดการณ์ลำบาก”

 

เมื่อทราบถึงปัญหาทีมอาจารย์จึงได้เริ่มเข้ามาศึกษากระบวนการเพาะเห็ดของกลุ่ม ว่ามีขั้นตอนและรูปแบบแนวทางการดูแลอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงเริ่มนำเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ เข้ามาทดลองใช้งานในโรงเพาะ

 

ผสานภูมิปัญญาการเพาะเห็ดเข้ากับเทคโนโลยี IoT

หลังจากได้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และเรียนรู้เทคนิคการเพาะเห็ดอย่างถ่องแท้ ทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีปทุมจึงได้ทำการปรับปรุงโรงเพาะเห็ดใหม่ ในแง่ของเทคนิคการเพาะ มีการปรับตำแหน่งของชั้นวางก้อนเห็ด เพื่อให้การหมุนเวียนของอากาศและความชื้นกระจายทั่วถึงก้อนเห็ดได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้สามารถวางก้อนเห็ดได้มากขึ้น จากเดิมวางได้ 12,000 ก้อน เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 20,000 ก้อน

ในมุมของเทคโนโลยี มีการนำอุปกรณ์ต่างๆ มาติดตั้งภายในโรงเพาะ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นมาติดตั้งในจุดต่างๆ ของโรงเพาะ ติดตั้งระบบควบคุมแสงสว่าง ระบบการพ่นน้ำ และระบบควบคุมพัดลมดูดอากาศ ชุดอุปกรณ์ควบคุม ที่ช่วยให้สามารถติดตามดูค่าอุณหภูมิภายในโรงเพาะ อุณหภูมิภายนอก และค่าความชื้นได้อย่างง่ายดายผ่านแอปพลิเคชัน Line ในสมาร์ตโฟนที่เกษตรกรส่วนใหญ่คุ้นเคยอยู่แล้ว ทำให้คุณพันธกานต์สามารถดูแลฟาร์มเห็ดได้สะดวกยิ่งขึ้น แม้อยู่นอกสถานที่ก็ยังสามารถติดตามและดูแลโรงเพาะได้

 

เหตุผลที่เลือกใช้แอปพลิเคชัน Line แทนการพัฒนาแอปพลิเคชันเฉพาะให้มีฟังก์ชันการควบคุมและแสดงผลที่อลังการและสวยงาม เพราะจากการได้คลุกคลีกับเกษตรกร ทำให้มองเห็นว่า การเลือกที่จะใช้แอปพลิเคชัน Line เป็นสื่อกลางในการดูแลฟาร์มเห็ดด้วยเทคโนโลยี IoT เป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า

 

แม้การปรับปรุงโรงเพาะและนำระบบ IoT เข้ามาประยุกต์ใช้งานดังกล่าวจะช่วยให้ผลผลิตเห็ดของคุณพันธกานต์ดีขึ้นมาก แต่ปัญหาหนึ่งของการใช้งานระบบก็คือ การใช้ระบบ Wi-Fi ในการรับส่งข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ขึ้นสู่ระบบประมวลผลหลักที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต มีข้อจำกัด ไม่สามารถกระจายสัญญาณได้ไกล หากต้องขยายระบบไปยังโรงเรือนหลังอื่นๆ อาจต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ขยายสัญญาณเพิ่มขึ้น หรือต้องตั้งจุดกระจายสัญญาณ Wi-Fi หลายจุดเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การใช้งาน ทำให้เกิดความยุ่งยาก และต้องลงทุนสูงขึ้น

 

ทีมงานจึงต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อมาทดแทน Wi-Fi จนมาพบกับบริการ LoRa IoT by CAT ซึ่งใช้เทคโนโลยี LoRaWAN เป็นตัวกลางในการรับส่งข้อมูล CAT ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่เทคนิคและอุปกรณ์

ตอบโจทย์ด้วยเทคโนโลยี LoRaWAN

“LoRa IoT by CAT สร้างประโยชน์มากมาย เพราะติดตั้งจุดใช้งานเพียงจุดเดียวก็สามารถครอบคลุมโรงเรือนทั้งหมดในฟาร์มเพาะเห็ดพื้นที่ 6 ไร่ได้เลย ต้องขอบคุณทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม และ CAT ที่นำเทคโนโลยีดีๆ มาให้เกษตรกรได้ทดลองใช้งาน” คุณพันธกานต์เล่าถึงความประทับใจ

 

ข้อคิดดีๆ ถึงเกษตรกรยุคดิจิทัล

คุณพันธกานต์ ฝากข้อคิดถึงเกษตรกรที่สนใจนำเทคโนโลยีมาใช้ว่า “เมื่อนำมาใช้ถูกทาง เทคโนโลยีก็จะมอบสิ่งดีๆ ให้เรามากมาย ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรไทยได้ ยิ่งนำมาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วของเกษตรกรไทย และได้ทำงานร่วมกับทีมงานที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้อย่างจริงจัง ก็จะช่วยเกษตรกรไทยพัฒนาศักยภาพของตนเองไปได้อีกมาก”

 

คุณพันธกานต์และกลุ่มเพาะเห็ดเศรษฐกิจตำบลศาลาลอย อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของเกษตรกรที่ใฝ่รู้ ซึ่งประสบความสำเร็จจากการก้าวสู่เกษตรกรยุค Smart Farming ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า หากเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ขวนขวายใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับตนเองอีกมากมาย

 

ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จากนิตยสาร

CAT MAGAZINE

Banner-CATMAG54