November 24, 2024

โรงงานผลิตพืช…ก้าวที่ท้าทายของเกษตรกรยุค Smart Farming

จากปัญหาการทำการเกษตรในปัจจุบันที่ต้องเผชิญข้อจำกัดต่างๆ ทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน พื้นที่ทางการเกษตรที่มีจำกัด ตลอดจนปัญหาแรงงานในภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง ล้วนส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรที่ยากต่อการควบคุม ดังนั้น เทคโนโลยีการผลิตพืชสมัยใหม่ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจอย่างมากคือ โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) จึงเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นการผลิตพืชในรูปแบบใหม่ที่เป็นระบบปิด ซึ่งสามารถควบคุมการปลูกพืชได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งสภาพแสง ความชื้น อุณหภูมิ แร่ธาตุ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่พืชใช้ในการเจริญเติบโต รวมถึงสามารถกระตุ้นให้พืชหลั่งสารสำคัญ/สารออกฤทธิ์บางอย่างที่ต้องการ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตให้เป็นไปตามที่ต้องการได้และมีความสม่ำเสมอ มีมาตรฐานสูง ด้วยการใช้แสงไฟ LED เป็นแหล่งกำเนิดของแสง เนื่องจากให้ความร้อนน้อยกว่าและประหยัดไฟได้มากกว่าหลอดฟลูออเรสเซนส์ และยังสามารถเลือกสีของแสงได้ตามความต้องการของพืช ทำให้พืชมีสารที่ตอบสนองต่อความต้องการใช้งานได้ดี นับเป็นเทรนด์การปลูกพืชรูปแบบใหม่ของโลกที่น่าสนใจในการที่ไทยจะนำมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับภาคเกษตรของไทยในอนาคต


โรงงานผลิตพืช เป็นเทรนด์ของโลกด้านการเกษตรสมัยใหม่ที่หลายประเทศให้ความสนใจมากขึ้น จากการควบคุมการผลิตได้ด้วยเทคโนโลยี อีกทั้งเป็นการปลูกพืชในระบบปิด ทำให้ปราศจากโรคและแมลง ปลอดสารเคมี ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้โรงงานผลิตพืชเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ตามแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่หันมารักสุขภาพด้วยการบริโภคผักที่ปลอดภัยจากสารเคมี ผู้ป่วยที่ต้องการควบคุมสารอาหารต่างๆ เช่น ผักกาดขาวโพแทสเซียมต่ำ สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง เป็นต้น ตลอดจนสังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้คาดว่าโรงงานผลิตพืชจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จากในปี 2561 มูลค่ายอดขายของตลาดโรงงานผลิตพืชของโลกอยู่ที่ราว 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 11.0 ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีจำนวนโรงงานผลิตพืชทั่วโลกราว 400 แห่ง โดยมีญี่ปุ่น เป็นผู้นำของเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช ด้วยการครองตลาดในสัดส่วนเป็นอันดับ 1 กว่าร้อยละ 20.0 ของมูลค่าตลาดโรงงานผลิตพืชทั่วโลก ซึ่งญี่ปุ่นมีโรงงานผลิตพืช 200 แห่ง ตามมาด้วยไต้หวัน 100 แห่ง จีน 50 แห่ง สหรัฐอเมริกา 25 แห่ง เกาหลี 10 แห่ง และสิงคโปร์ 2 แห่ง

 

สำหรับความสำเร็จโรงงานผลิตพืชของผู้เล่นหลักอย่างญี่ปุ่น น่าจะมาจากประชากรญี่ปุ่นนิยมบริโภคพืชผัก ผลไม้ ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมีน้อย เนื่องจากสภาพพื้นที่ของประเทศมีจำกัด อีกทั้งการขยายตัวของเมือง รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง ทำให้การขนส่งพืชผักผลไม้จากนอกเมืองเพื่อมาในเมืองมีโอกาสปนเปื้อนมลพิษต่างๆ ญี่ปุ่นจึงหันมาปลูกผักในเมืองมากขึ้น โดยพืชที่นิยมปลูกคือ ผักกาดหอม ผักโขมญี่ปุ่น มินต์ ใบโหระพา มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ และดอกไม้ต่างๆ ซึ่งโรงงานผลิตพืชจะใช้แสงไฟเทียม และที่สำคัญคือกว่าร้อยละ 25 ของโรงงานผลิตพืชนี้มีกำไรสูงถึงร้อยละ 50 เพราะการใช้หลอดไฟ LED ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานค่อนข้างมาก
แม้โรงงานผลิตพืชจะเป็นเทคโนโลยีการผลิตพืชรูปแบบใหม่ที่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จนได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตตามความต้องการ อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย ด้วยพื้นที่ทางการเกษตรที่มีมากกว่า 138 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 43.0 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ทำให้โรงงานผลิตพืชเพิ่งได้รับความสนใจในไทยไม่นานนักและยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เนื่องจากต้นทุนยังสูงอยู่ที่ราว 3.0 ล้านบาท[1] ผนวกกับความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ยังจำกัดในเฉพาะกลุ่มอย่างสถาบันการศึกษาและ หน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ จึงยังไม่ได้ดำเนินการในลักษณะการค้าเชิงพาณิชย์ แต่จะเป็นการผลิต เพื่อรองรับการใช้ในหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก เช่น การผลิตสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรเพื่อใช้ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ โรงงานผลิตพืชของไทยอาจไม่เหมาะกับการปลูกพืชเกษตรทั่วไป เนื่องจากไทยผลิตได้จำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้น โรงงานผลิตพืชของไทยในที่นี้จึงต้องเน้นไปที่กลุ่มพืชมูลค่าสูง ที่สามารถนำมาสกัดได้สารสำคัญเป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้ (High-end Product) อย่างกลุ่มพืชสมุนไพร และกลุ่มพืชที่สามารถนำมาสกัดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะสอดรับกับการสนับสนุนของนโยบายรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งมีความเชื่อมโยงอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐให้การสนับสนุนมากถึง 5 อุตสาหกรรมคือ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวสุขภาพ

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub of ASEAN)[2] ภายในปี 2570 โดยใช้เขตพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC โดยมี Biopolis ใน EECi เป็นแพลตฟอร์มหรือโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุน และทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างฐานรายได้ใหม่และความยั่งยืนให้กับประเทศ โดย Biopolis เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย จะทำการศึกษาและวิจัยเพื่อให้ได้สารประกอบที่นให้ผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค/อาหารเสริมและเวชสำอาง (Functional Ingredient/Nutraceutical) รวมถึงชีวการแพทย์/ชีวเภสัชภัณฑ์ (Biomedical/Biopharma) เช่น อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์สปา เป็นต้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พืชที่ควรนำมาปลูกในโรงงานผลิตพืชจะต้องเป็นพืชที่สามารถนำมาสกัดได้สารสำคัญเป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้ ดังนี้

 

1. กลุ่มพืชสมุนไพร

นับว่าเป็นกลุ่มพืชศักยภาพที่มีแนวโน้มการเติบโตของตลาดที่ดี โดยคาดว่า มูลค่าตลาดสมุนไพรโลกในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท จาก 3.2 ล้านล้านบาทในปี 2559 และจากการที่ไทยเป็นแหล่งผลิตพืชสมุนไพรกว่า 11,625 ชนิด แต่นำมาใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพรได้เพียง 1,800 ชนิด หรือคิดเป็นร้อยละ 15.5 เท่านั้น เพื่อรองรับตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยถ้าดูในห่วงโซ่การผลิตสมุนไพรของไทย เริ่มจากอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีมูลค่าตลาดวัตถุดิบสมุนไพรรวมราว 18,600 ล้านบาท[3] แต่สามารถสร้างมูลค่าจากการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรในส่วนของอุตสาหกรรมกลางน้ำได้ถึง 260,000 ล้านบาท หรือ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 14 เท่า สะท้อนถึงความสำคัญในการแปรรูปและมูลค่าของตลาดผู้บริโภคที่มีมูลค่าสูง ดังนั้น นับเป็นโอกาสของไทยในการนำโรงงานผลิตพืชมาใช้เพื่อผลิตพืชสมุนไพรให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีรองรับในผลิตภัณฑ์สมุนไพร เนื่องจากไทยมีพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรเพียงร้อยละ 0.02 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ อันจะเป็นการผลิตวัตถุดิบสมุนไพรเพื่อเป็นการทดแทนการนำเข้าในปัจจุบันที่มีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านบาทต่อปี และในระยะข้างหน้าจะยังเป็นการขยายตลาดส่งออกของผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี หรือมากกว่าร้อยละ 40 เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกที่มีรองรับจำนวนมาก จากกระแสรักสุขภาพ รวมถึงการที่สมุนไพรไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น และได้รับการส่งเสริมจากแผนพัฒนาสมุนไพรของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำ คงต้องเน้นไปที่การกระจายสินค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปในช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ทั้งในธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก โรงพยาบาล ร้านขายยา ฟาร์มเอาท์เลตสโตร์ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ พรีเมี่ยมซุปเปอร์มาร์เก็ต/โมเดิร์นเทรด ร้านเพื่อสุขภาพและความงาม ร้านสปา และการขายแบบออนไลน์ (E-commerce) ซึ่งเป็นช่องทางในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่มีความสะดวกสบายและรวดเร็วตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ดังนั้น ไทยจึงมีความจำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพร ด้วยการนำเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชมาช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณการผลิตพืชสมุนไพรให้เพียงพอ เพื่อรองรับความต้องการที่มีทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศที่ขยายตัวในทุกอุตสาหกรรมหลัก และยัง นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่จะปรับใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรม หรือการร่วมมือกับทางผู้เล่นอื่นในห่วงโซ่การผลิต เช่น สถาบันวิจัยสมุนไพร โรงพยาบาล เพื่อการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสมุนไพรหรือสารสกัดจากธรรมชาติได้อีกมาก และยังเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว

ทั้งนี้ พืชสมุนไพรที่เป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนตามการส่งเสริมของภาครัฐจากแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยเรื่องการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับที่ 1 (ปี 2560-2564) คือ กระชายดำ ไพล บัวบก ขมิ้นชัน (ก.พบ.ข) ที่เป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงเพื่อเป็นเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากมีคุณสมบัติทางยาเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังมีพืชสมุนไพรอื่นอีกที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตในโรงงานผลิตพืช คือ ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ พริกไทย กฤษณา ตะไคร้หอม พลู เป็นต้น เนื่องจากพืชสมุนไพรเหล่านี้มีการผลิตสารสำคัญทางยาอย่างน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) หรือแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่สามารถนำไปใช้ได้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้หลายประเภท

 

2.กลุ่มพืชอื่นที่สามารถนำมาสกัดเป็นสารตั้งต้นได้

เช่น ดอกไม้ ผัก เป็นต้น (กุหลาบ มะกรูด มะนาว มะเขือเทศ ดอกอัญชัน ผักชี) หรือพืชกินใบ เช่น ผักไฮโดรโปนิกส์ นับว่าเป็นกลุ่มพืชที่มีมูลค่าสูงเพื่อใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรมใกล้เคียงกับพืชสมุนไพร โดยเฉพาะในธุรกิจบริการอย่างสปา ที่ใช้สารสกัดที่ได้เป็นหัวน้ำหอม หรือใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ใช้สารสกัดใส่ในเครื่องดื่มให้มีความหอมเป็นกลิ่นธรรมชาติที่ผู้บริโภครักสุขภาพหันมาให้ความสนใจมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในแง่ของการลงทุนในโรงงานผลิตพืช ควรต้องเน้นไปที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี และควรทำในขนาดธุรกิจที่เล็กไปก่อนในระยะเริ่มต้น (3 ปีแรก) เพราะต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงและยังอยู่ในช่วงระยะเวลารอการคืนทุน จึงเหมาะกับผู้ประกอบที่มีความพร้อมทั้งในแง่เงินทุนและความรู้ด้านเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชในระดับหนึ่ง ขณะที่ผู้ประกอบการเดิมที่มีโรงเรือนอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มเติมเทคโนโลยีให้เป็นโรงงานผลิตพืช ก็อาจมีการลงทุนในเทคโนโลยี เช่น เซ็นเซอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมอุณหภูมิและแสงภายในโรงเรือน ซึ่งอาจใช้เงินลงทุนไม่มากเท่าผู้ประกอบการหน้าใหม่ นอกจากนี้ จากความช่วยเหลือของภาครัฐตลอดช่วง 3 ปีแรก ทั้งด้านเงินทุนและความรู้ เช่น การสนับสนุนเงินทุน/สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือการที่ภาครัฐช่วยพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสร้างความเข้าใจทางด้านเทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในการยอมรับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามา การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่สนใจในธุรกิจโรงงานผลิตพืชในช่วงระยะเริ่มต้นนี้เข้ามาทำธุรกิจนี้ได้ง่ายและสะดวกขึ้น

แม้ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชของไทยจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่คาดว่า ในอนาคตราคาโรงงานผลิตพืชจะถูกลงเรื่อยๆ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตโรงงานผลิตพืชมีการแข่งขันกันหลายบริษัท[1] ผนวกกับองค์ความรู้ในเรื่องโรงงานผลิตพืชของผู้ประกอบการที่มีมากขึ้นเพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช รวมทั้งเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มักจะมีราคาลดลงอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในอีก 3-8 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) ไทยจะมีการนำโรงงานผลิตพืชเข้ามาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรแพร่หลายเพิ่มขึ้น และสามารถทำในลักษณะการค้าเชิงพาณิชย์ได้ ตามแนวทางรูปแบบของภาครัฐและเอกชนที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ผนวกกับการที่ภาครัฐมีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยและสนับสนุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่น่าจะมีความสำเร็จที่ชัดเจนขึ้น ตลอดจนกลุ่มทุนมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นและมีราคาถูกลง ทำให้คาดว่า โรงงานผลิตพืชจะเริ่มอยู่ในช่วงแพร่หลาย ตั้งแต่ปี 2565-2569 โดยต้นทุนโรงงานผลิตพืชอาจลดลงราวร้อยละ 20 ต่อปี ไปอยู่ที่ 1.0-2.4 ล้านบาท จากต้นทุนในช่วงระยะเริ่มต้นที่ราว 3 ล้านบาท อันจะทำให้ผู้ที่สนใจในธุรกิจโรงงานผลิตพืชเข้าสู่ธุรกิจได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับการคำนวณในรูปเปรียบเทียบการทำงานของโรงงานผลิตพืชและโรงเรือนทั่วไปในปี 2562 (ระยะเริ่มต้น) และปี 2567 (ระยะแพร่หลาย) แสดงให้เห็นว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ในแง่ของผลผลิตและประสิทธิภาพของแรงงานต่อพื้นที่อาจไม่เปลี่ยนแปลงคือ โรงงานผลิตพืชจะมีผลผลิตและประสิทธิภาพของแรงงานต่อพื้นที่มากกว่าโรงเรือนทั่วไปถึง 10 และ 16 เท่า ตามลำดับ ขณะที่ในด้านต้นทุนการผลิตต่อหน่วย พบว่า อีก 5 ปีข้างหน้า โรงงานผลิตพืชจะมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ลดลง คือ ในปี 2567 โรงงานผลิตพืชจะมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงกว่าโรงเรือนทั่วไปราว 8.9 เท่า จาก 18.4 เท่าในปี 2562 ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของโรงเรือนทั่วไปจะเพิ่มขึ้นจากต้นทุนแรงงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

สรุป

โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจในฐานะเครื่องมือทางการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งขณะนี้นับว่าไทยยังมีเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชที่อยู่ในระยะเริ่มต้นในช่วง 3 ปีนี้ (ปี 2562-2564) โดยพืชที่ปลูกคงต้องเน้นไปที่พืชที่สามารถนำมาสกัดได้สารสำคัญเป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง (High-end Product) และคงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐในระยะแรก โดยเฉพาะด้านเงินทุนและองค์ความรู้ โดยมองต่อไปในระยะ 3-8 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) น่าจะเห็นภาพที่ไทยมีการนำเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชเข้ามาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตรได้แพร่หลายมากขึ้น จากการที่กลุ่มทุนมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นและมีราคาถูกลงเรื่อยๆ จะทำให้ผู้ที่สนใจในธุรกิจโรงงานผลิตพืชเข้าสู่ธุรกิจได้ง่ายขึ้น