SUT Hackathon : From Farm to Factory บ่มเพาะไอเดียคนรุ่นใหม่ติดปีกแนวคิด ‘นวัตกรรมการเกษตร’
กว่า 45% ของพื้นที่ในประเทศไทยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการทำการเกษตร ในขณะที่ประชากรจำนวน 32% ของประเทศ หรือประมาณ 12 ล้านคนที่เป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม สามารถสร้างผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้เพียง 10% เมื่อเทียบกับภาคบริการที่สร้าง GDP ได้สูงถึง 50% แสดงถึงความไม่สมดุลระหว่างแรงงานและประสิทธิภาพทางการผลิตในภาคการเกษตร สิ่งเหล่านี้กำลังบอกเราว่าภาคเกษตรเองก็ต้องการพลังจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ เข้ามาช่วยสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนให้กับการทำเกษตรเช่นกัน โดยคนรุ่นใหม่เหล่านี้ หากได้รับการบ่มเพาะแนวคิดและการสร้างทักษะที่เหมาะสม ก็จะสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในอนาคต
กิจกรรม “SUT Hackathon ครั้งที่ 4 : From Farm to Factory” ซึ่งจัดโดยโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับโครงการจัดตั้งสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสุรนารี (Student Entrepreneurship Development Academy: SEDA) ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มมิตรผล และโครงการ Startup Thailand Academy กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งบ่มเพาะและขับเคลื่อนคลื่นลูกใหม่ให้กับภาคการเกษตร ด้วยการสนับสนุนให้นักศึกษาได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ตลอดจนพัฒนาการทำเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถเริ่มต้นธุรกิจด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการท้าทายด้วยโจทย์การพัฒนาประสิทธิภาพในการปลูกและแปรรูปพืชเกษตร เช่น มันสำปะหลัง และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ของไทย
โดยหนึ่งในองค์กรสำคัญที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ได้แก่ กลุ่มมิตรผล คือผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย “กลุ่มมิตรผล ตระหนักถึงความสำคัญของพลังคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สำคัญในอนาคต จึงได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรม ‘SUT Hackathon ครั้งที่ 4 : From Farm to Factory’ พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมได้ลงพื้นที่จริงที่โรงงานและไร่มันสำปะหลังในเครือโรงงานมิตรผล เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง และสนับสนุนเงินรางวัลเพื่อนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมให้กับภาคเกษตรไทยต่อไป” นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล กล่าว
ตลอดระยะเวลา 4 วันของการดำเนินกิจกรรม “SUT Hackathon” นักศึกษาได้เรียนรู้รอบด้านผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย เริ่มด้วยการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ณ โรงแป้ง บริษัท ราชสีมา กรีน เอ็นเนอร์ยี จำกัด ในเครือกลุ่มมิตรผล และไร่มันสำปะหลังบริเวณโดยรอบ และการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา หลังจากนั้น นักศึกษาแต่ละทีมได้ร่วมกันระดมสมองค้นหาไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อพิชิตโจทย์การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลัง ด้วยนวัตกรรมในแบบ “From Farm to Factory” โดยมีคณะอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นที่ปรึกษา ก่อนที่แต่ละทีมจะนำเสนอผลงานแก่คณะกรรมการ
ผลงานการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากทุกทีมล้วนสร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการ ทั้งยังแสดงถึงทักษะความรู้ของทีมเจ้าของผลงานได้เป็นอย่างดี โดยผลงานที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษและได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “PaperPest” ผลิตภัณฑ์สำหรับตรวจวัดสารกำจัดศัตรูพืช (Paper-based pesticide indicator) ที่ช่วยให้เกษตรกรและผู้บริโภคที่รักสุขภาพ สามารถตรวจสอบปริมาณสารเคมีที่แฝงอยู่ในพื้นที่การทำเกษตรหรือผลิตภัณฑ์การเกษตรได้อย่างง่ายๆ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงในการรับสารเคมีในชีวิตประจำวัน
นางสาวจิราพร ชุมพล นักศึกษาระดับปริญญาเอก และนางสาวรติมา จันธิมา นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาชีววิทยาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตัวแทนทีมเจ้าของผลงาน PaperPest ภายใต้การสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษา รองศาสตราจารย์ ดร. สินีนาฏ ศิริ กล่าวว่า “ผลงานดังกล่าวเกิดจากความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการใช้สารเคมีในการทำเกษตร โดยต้องการสร้างความตระหนักถึงอันตรายของสารเคมีให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การหลีกเลี่ยงหรือเลิกใช้สารเคมีในการทำเกษตร และต่อยอดไปสู่แนวทางการทำเกษตรที่ยั่งยืน รวมถึงเพื่อสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มผู้บริโภค ให้สามารถหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์การเกษตรที่มีปริมาณสารเคมีเจือปนมากเกินไป โดยนำแป้งมันที่มีโครงสร้างเหมาะสมกับการพัฒนาเป็นไบโอเซ็นเซอร์มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม”
“กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้เราได้นำผลงานการวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในภาคอุตสาหกรรมได้จริงเป็นครั้งแรก จึงรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกิจกรรมและได้รับรางวัล และอยากให้มีการจัดกิจกรรมดีๆ เช่นนี้อีก เพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาจริงต่อไป”
นางสาวจิราพร กล่าว
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ ผลงาน “CAScloud” แอพพลิเคชั่นเพื่อให้คำปรึกษาเกษตรกรตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนช่วยวางแผนการทำเกษตรและบันทึกรายรับรายจ่าย ส่วนรางวัลรองวัลชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัล Special Award ได้แก่ ผลงาน “Castech” ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบปริมาณแป้งของหัวมันสำปะหลังในเบื้องต้นได้ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรในการขายผลผลิต
“กิจกรรม ‘SUT Hackathon ครั้งที่ 4 : From Farm to Factory’ เพื่อจุดประกาย บ่มเพาะ และติดปีกความเป็นผู้ประกอบการให้กับคนรุ่นใหม่ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี นักศึกษาทุกทีมได้แสดงออกซึ่งทักษะและความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ของตนในการแก้ปัญหา อันเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญของผู้ประกอบการที่จะต้องรู้จักปรับใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างถูกจุดและต่อเนื่อง จะกลายเป็นแรงกระเพื่อมและฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยต่อไปในอนาคต” รองศาสตราจารย์ ดร. อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวทิ้งท้าย